ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ทีดีอาร์ไอ” เปิดผลวิจัย ค่าใช้จ่ายผู้สูงอายุอีก 20 ปี พุ่งเฉียด 2 แสนล้านบาท เสนอทางรอดตั้งกองทุนสมทบเงินดูแลผู้ป่วยระยะยาว เก็บจากประชาชนอายุ 40-65 ปี คนละ 414 บาท ต่อปี ชง สปสช.พิจารณา

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานแถลงผลการวิจัยเรื่อง “พร้อมรับสังคมสูงวัย วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว กับทางเลือกระยะสุดท้ายของชีวิต” ซึ่งจัดโดยทีดีอาร์ไอเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2559 ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุกว่า 11 ล้านคน และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็นกว่า 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ติดบ้านหรือนอนติดเตียงในปี 2560 ว่ามีประมาณ 3.7 แสนคน และจะเพิ่มเป็น 8.3 แสนคน ในปี 2580 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าเช่นกัน

สำหรับค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุ อาทิ ค่าจ้างผู้ดูแล ค่าอุปกรณ์ของใช้ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุปี 2560 จะสูงถึง 5.9 หมื่นล้านบาท และภายในปี 2580 จะสูงเกือบ 2 แสนล้านบาท ฉะนั้นมองว่าเรื่องค่าใช้จ่ายเหล่านี้ที่เป็นหน้าที่รัฐบาลในการดูแล สังคม ประชาชน ท้องถิ่นควรช่วยเหลือด้วยในสัดส่วนที่เท่ากัน

ดร.วรวรรณ กล่าวว่า รัฐควรทำหน้าที่สนับสนุนด้านระบบสาธารณสุข รวมถึงควรส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยติดตามดูแลอยู่เสมอ ส่วนประชาชนที่มีอายุ 40-65 ปี ควรร่วมกันรับผิดชอบ โดยตั้งกองทุนสมทบเงินดูแลผู้ป่วยระยะยาวขึ้นมา จากนั้นให้ภาคประชาชนที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ส่งเงินเข้ากองทุนปีละ 414 บาท รวมถึงให้ท้องถิ่นสมทบเงินเพิ่มเติมในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งตรงนี้จะเป็นหลักประกันการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยในอนาคตได้ดี

ดร.วรวรรณ กล่าวอีกว่า ขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับและควบคุมคุณภาพสถานบริการดูแลผู้สูงอายุขึ้นมาเป็นกลไกในการตรวจสอบ โดยเลือกผู้แทนจากหลายฝ่าย อาทิ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมอนามัย กรมการขนส่งทางบก องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนผู้ที่ส่งเงินสมทบเข้ามาเป็นคณะกรรมการ เพื่อดูแลตรวจสอบกลไกดังกล่าวให้มีคุณภาพ

ดร.วรวรรณ กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุถ้าให้รัฐบาลรับผิดชอบทั้งหมด ระบบจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นภาคประชาชนและสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมที่จะเป็นตัวสนับสนุนทำให้ระบบนี้เกิดขึ้นได้ เบื้องต้นมองว่ามี 2 รูปแบบ คือ ต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ระบบนี้อยู่ภายใต้องค์กรเดิมที่มีหน้าที่รับผิดชอบ หรือเสนอกฎหมายให้มีการตั้งหน่วยงานหลักขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งจะนำเสนอให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)นำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว ควรเพิ่มเติมองค์ความรู้ทางด้านนี้ให้แก่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชนให้มีความรู้ ความเข้าใจอย่างละเอียดรอบคอบ เช่น สถานพยาบาลต่างจังหวัดควรมีการติดตามดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีประชากรหนาแน่น ควรทำให้ผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน สามารถเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลได้อย่างใกล้ชิดเป็นระบบ

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านมีความจำเป็นและควรต้องทำให้มีระบบเชื่อมโยงที่ดีได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้สูงอายุและครอบครัว ซึ่งเชื่อว่าการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยในปัจจุบัน ควรมีวางระบบให้ดีโดยที่รัฐควรสนับสนุนเรื่องของกฎหมายให้มีมาตรฐาน