ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.เขาสุกิม จันทบุรี หวั่น สธ.ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไม่ทัน กระทบแผนเดินหน้าบริการสุขภาพปฐมภูมิ ย้ำทิศทางระบบสุขภาพที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางสุขภาพเป็นมิติใหม่ที่ดี 

นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย

นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเขาสุกิม จ.จันทบุรี กล่าวถึงระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศว่า โรงพยาบาลเขาสุกิมยังไม่ได้เริ่มระบบดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากมีข้อจำกัดตามเกณฑ์ที่ สธ.กำหนด ที่ระบุว่าต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ซึ่งในพื้นที่โรงพยาบาลเขาสุกิมมีประชากร 2 หมื่นคน ซึ่งหมายความว่าต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 2 คน แต่ในโรงพยาบาลไม่มีแม้แต่คนเดียว

อย่างไรก็ตาม นพ.สฤษดิ์เดช กล่าวว่า ยังมีแพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน 1 คนปฏิบัติหน้าที่ตามชุมชนอยู่ ซึ่งแม้จะไม่ใช่แพทย์ที่ตรงตามเกณฑ์ของ สธ. แต่ก็ปฏิบัติหน้าที่ในด้านป้องกันและให้ความรู้กับประชาชนตามชุมชนในพื้นที่ได้ เพียงแต่ไม่ตรงกับนโยบายของ สธ.

“การวางแผนผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวตามระยะที่กระทรวงฯ กำหนดนั้น ก็ต้องปล่อยการดำเนินการไปตามแผน ซึ่งใน จ.จันทบุรีมีการโฟกัสเรื่องระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเช่นกัน แต่มุ่งเน้นไปที่ชุมชนเมืองมากกว่า ส่วนตามหน่วยแพทย์ชุมชนจะต้องพัฒนาบุคลากร ซึ่งคือส่งแพทย์ทั่วไปไปอบรมระยะสั้นในหลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ในชุมชน” นพ.สฤษดิ์เดช กล่าว

นพ.สฤษดิ์เดช กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าการหาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อราว 10 ปีก่อน แต่เดิมโรงพยาบาลพระปกเกล้าจะมีหลักสูตรอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แต่ไม่มีแพทย์มาเรียนแม้แต่คนเดียว ทำให้โครงการดังกล่าวก็ต้องปิดตัวลง กระทั่ง สธ.ต้องการฟื้นฟูระบบบริการสุขภาพที่ยึดประชาชนในชุมชนเป็นศูนย์กลางขึ้นมาอีกครั้ง หลักสูตรการอบรมจากโรงพยาบาลพระปกเกล้าจึงได้ถูกรื้อฟื้นตามมาอีก ซึ่งโรงพยาบาลเขาสุกิม มีสัญญาการส่งแพทย์ไปอบรมอยู่เช่นกัน ซึ่งก็จะได้ดำเนินการส่งแพทย์ไปในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรงพยาบาลเขาสุกิม จะยังไม่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำอยู่ แต่ขณะนี้ก็ได้ส่งพยาบาลในการที่จะดูแลเชิงเวชศาสตร์ครอบครัวไปก่อน

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเขาสุกิม กล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ สธ.กำลังเดินหน้าอยู่นั้น ถือเป็นระบบที่มีประโยชน์อย่างมาก หากว่ามีการผลักดันนโยบายให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้ตรงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้

“ประโยชน์ที่จะได้รับคือ ประชาชนจะได้แพทย์ที่มาดูแลสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง แต่เดิมจะเป็นลักษณะที่ว่าโรงพยาบาลชุมชนเป็นที่ตั้ง หมายถึงป่วยแล้วถึงไปโรงพยาบาล จากนั้นจึงเข้าสู่ระบบการติดตามอาการ แต่ระบบใหม่ จะมีแพทย์ 1 คนร่วมกับทีมงาน ที่เป็นเจ้าภาพในการดูแลสุขภาพของประชาชน 1 หมื่นคน ซึ่งในเชิงคุณภาพการให้บริการน่าจะดียิ่งขึ้นกว่าเดิม” นพ.สฤษดิ์เดช กล่าว

นพ.สฤษดิ์เดช กล่าวว่า หากต้องการให้มีผลสัมฤทธิ์ดั่งภาพที่ฝันไว้ จะต้องมีแพทย์ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณที่เพียบพร้อม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ หากปัจจัยไม่ครบหรือขาดไป โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็ยากขึ้น

นพ.สฤษดิ์เดช กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกเหนือจากระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของ สธ.แล้ว โรงพยาบาลเขาสุกิมยังได้เดินหน้าดูแลสุขภาพในชุมชนคู่กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต.ด้วย โดยใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบลที่ สปสช.ดำเนินการร่วมกับ อปท.ทั่วประเทศด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง