ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายสุขภาพ อ.ละงู ทำโครงการเชิงรุก "หมอน้อย" อบรมชาวบ้านให้ช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล เผยสมเด็จพระเทพฯ พระราชทุนมาช่วยผลิต ขณะเดียวกัน ยังทำธนาคารการแพทย์เปิดให้ยืมอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยตามบ้าน 

นพ.ปวิตร วณิชชานันท์

นพ.ปวิตร วณิชชานันท์ ผอ.โรงพยาบาลละงู จ.สตูล กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการส่งเสริมสุขภาพระดับอำเภอว่า ทางโรงพยาบาลได้ดำเนินโครงการนี้มาแล้ว 2 ปี และได้ผลักดันไปหลายเรื่อง เช่น กิจกรรมชุมชนน่าอยู่ หรือ ละงูสุขภาวะ การสร้างเครือข่ายในกิจกรรมสำนึกรักษ์บ้านเกิด พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ไปดูงานตามสถานที่ต้นแบบต่างๆ เช่น ขอนแก่น กาฬสินธุ์ โดยเน้นการดูแลผู้ป่วยตามบ้าน หรือ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อให้ได้แรงบันดาลใจกลับมาทำในพื้นที่ จ.สตูล  

ขณะเดียวกัน ยังได้นำนักเรียนจากเกาะบริเวณใกล้เคียงของจังหวัด มาอบรมที่โรงพยาบาล 1 ปีเพื่อให้เขากลับไปเป็น "หมอน้อย" ที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ที่เป็นเกาะในเขตทุรกันดารห่างไกล ซึ่งก็ทำไปแล้วรุ่นที่ 1 ที่สำคัญ สมเด็จพระเทพรัตนสุดาสยามบรมราชกุมารีทรงเห็นความสำคัญ จึงได้พระราชทานทุนมาให้อีก 2 ทุนเพื่อผลิต "หมอน้อย" หรือผู้ช่วยดูแลสุขภาพ อีก 2 คน ปัจจุบัน สามารถผลิตหมอน้อยให้ลงไปอยู่ที่เกาะแล้ว 3 คน

"โครงการหมอน้อย เราได้แบ่งสอนเป็นห้องๆ เช่น ห้องฉุกเฉิน สอนเรื่องการทำแผล การดูคนไข้ฉุกเฉินเป็นอย่างไร ห้องคลอดเราก็พาส่งไปเรื่องทำคลอด เรื่องผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก เราก็สอนเขาว่า แต่ละรายจะมาด้วยปัญหาอะไร เวลาตรวจร่างกาย เจออย่างนี้แล้วคิดถึงโรคอะไร ต้องรักษาด้วยยาอะไร หมอน้อยจะกลับไปทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่พี่น้อง รักษาโรคเบื้องต้น เช่น เย็บแผล โดยเรามีเครื่องมือ ยาให้เขาใช้ กระทั่งช่วยทำคลอดอย่างที่บอก" นพ.ปวิตร กล่าว 

นอกจากนั้น เรายังให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ เพื่อให้นำไปช่วยผู้ป่วยที่อยู่ในบ้าน เช่น อุปกรณ์ออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ เตียงนอน คล้ายๆ กับธนาคารการแพทย์ที่ให้เขายืมได้ 

นพ.ปวิตร กล่าวว่า โครงการที่ทำได้ขยายไปทั้งจังหวัดสตูล โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดตั้งงบกองทุนฟื้นฟูผู้พิการและผู้สูงอายุเพื่อให้เขาซื้อเตียงลม อุปกรณ์ดูดเสมหะให้กับอนามัยทั้ง 61 แห่งทั้งจังหวัด ตรงนี้ก็ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ 

นอกจากนี้ยังทำเรื่องจัดหาอาชีพให้ผู้ป่วยเพื่อช่วยให้อยู่ดีมีสุข เป็นโรคน้อยลง ไม่ว่า โรคเครียดหรือโรคเกี่ยวกับการกิน  หรือเด็กวัยรุ่นที่ติดยาเสพติดเราก็ไปทำธนาคารปู รวมถึงการเลี้ยงปูดำในกล่อง ทำให้เกิดกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มเลี้ยงปูนิ่ม กลุ่มปลูกผัก ก่อนจะเปิดให้ครบวงจรเป็นร้านคล้ายๆ กับเป็นตลาดละงูสุขภาวะ สรุปคือ หลายเรื่องที่ทำ ได้ขับเคลื่อนไปทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่าย อสม. สำนักงานสุขภาพอำเภอละงู รวมถึงชาวบ้านที่รวมกลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเชิงอนุรักษ์ 

นพ.ปวิตร กล่าวว่า สิ่งที่ทำใหม่ในปีนี้คือ ให้คณะกรรมการสุขภาพชีวิตและพัฒนาระบบเครือข่ายสุขภาพอำเภอ จัดเรียงลำดับโรคที่สำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น ไข้เลือดออก ที่เป็นต่อเนื่องกันหลายปี และผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ความดัน ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ก็ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการควบคุมโดยให้ข้อมูลกับชาวบ้านมาตรฐานที่ดีอยู่ตรงไหน และยังทำโครงการลดอุบัติเหตุทางการจราจรด้วย 

ทั้งนี้ การให้ข้อมูลกับชาวบ้านถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหา และให้เกิดการแลกเปลี่ยน และให้มีแนวคิดร่วมกันว่าจะเดินไปทิศทางใด จากนั้นถึงคิดถึงกิจกรรมที่จะทำร่วมกันตามมา 

"เราต้องสร้างความเข้าใจกับเขา โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลที่เราต้องให้เขาว่า ปัญหาที่เจอคือ การห่างไกลจากมาตรฐานหรือสิ่งที่ควรจะเป็น คืออะไร และมันกระทบต่อเขาอย่างไรให้เข้าใจแล้วเขาก็โอเคว่า จะได้ช่วยกัน" นพ.ปวิตร กล่าว

สำหรับเป้าหมายในปีหน้า นพ.ปวิตร กล่าวว่า อยากให้ชุมชนดูแลตนเองได้เพื่อให้เกิดป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพตนเองได้ รู้ว่าอันไหนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตัวเอง และสิ่งไหนดีต่อสุขภาพก็ควรส่งเสริม เช่น การออกกำลังกาย ซึ่งควรให้เป็นกลุ่มกว้างขึ้น และให้ตระหนักเรื่องการกินอาหารไขมัน เยอะ ของหวาน การกินเค็ม ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง