ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงถกหลักประกันสุขภาพระดับชาติ เสนอรัฐบาลเพิ่มงบ "บัตรทอง" ในอัตราปีละ 4.2% เพื่อความยั่งยืนทางการคลัง แนะควรแยกงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขออกจากรายหัว ส่วนเรื่องตัดเงินเดือนบุคลากรภาครัฐในงบเหมาจ่ายรายหัวยังไร้ข้อสรุป

ที่ประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ภายใต้การดำเนินการของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการคลังและระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นประธาน มีข้อสรุปในประเด็นความยั่งยืนทางการคลังว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับเพิ่มงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพอย่างน้อยในอัตรา 4.2% ต่อปี

นอกจากนี้ ควรจัดงบประมาณด้านการลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐานระบบบริการสาธารณสุข เพื่อไม่ให้ระบบบริการภาครัฐลดถอยลงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยควรจัดสรรงบประมาณด้านการลงทุนแยกไว้เป็นการเฉพาะ

สำหรับแหล่งการคลังที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ยังคงเป็นงบประมาณภาครัฐโดยอาศัยระบบภาษีเป็นหลัก ซึ่งจะไม่เป็นการสร้างภาระหรืออุปสรรคในการเข้าถึงบริการของประชาชน

นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ยังมีข้อสรุปเรื่องการยกระดับความเป็นธรรม โดยเสนอให้มีการจัดชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพเพื่อใช้กับระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบของประเทศในกรอบเดียวกัน ซึ่งแบ่งออกเป็นชุดสิทธิประโยชน์หลัก และชุดสิทธิประโยชน์เสริม

“ในส่วนของชุดสิทธิประโยชน์หลักนั้น ประกอบด้วยชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานด้านสุขภาพ และชุดสิทธิประโยชน์ขั้นครัวเรือนล้มละลาย โดยหลักเกณฑ์ที่ต้องนำมาพิจารณาคือต้องเป็นบริการที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีคุณภาพ คุ้มทุน ประเทศสามารถจ่ายได้” นพ.ภิรมย์ กล่าว

นพ.ภิรมย์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นการแยกงบประมาณเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีทางเลือกที่ดำเนินการได้ทั้ง 2 ทาง คือทั้งตัดและไม่ตัด ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหนจำเป็นต้องศึกษาและทบทวนการวางแผนกระจายทรัพยากรอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ข้อมูลปี 2557 พบว่าการจ้างและการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรของสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในส่วนของภาคบริการ มีการใช้งบประมาณเพียง 57% ขณะที่ข้อมูลปี 2559 ระบุว่ามีบุคลากรที่ไม่ใช่ข้าราชการอยู่ในระบบถึง 16% จึงต้องทบทวนและวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจนว่าหากมีการแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนออกมาแล้ว วงเงินงบประมาณโดยรวมที่จะนำมาใช้ในระบบบริการสาธารณสุขจะต้องไม่ลดลง

อย่างไรก็ตาม การตัดแยกงบประมาณดังกล่าวออกจากงบประมาณของระบบ สปสช.อาจไม่ใช่การแก้ไขต้นเหตุของปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาลสังกัด สธ.

อนึ่ง ข้อเสนอดังกล่าวจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ รมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน