ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“โรคติดเชื้อไวรัสซิกา” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้เหลือง

สาเหตุหลักของการติดเชื้อมาจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด และนอกจากนี้ยังอาจติดต่อได้ทางเลือดหรือแพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์ โรคนี้ได้ระบาดหนักในประเทศบราซิลช่วงปี 2558 และในที่สุดองค์การอนามัยโลก ก็ได้ประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศบราซิลเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

สำหรับประเทศไทยภายใต้มาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่เข้มข้นและต่อเนื่องตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข แม้จะมีกระแสข่าวพบผู้ป่วยนับร้อยราย แต่สามารถควบคุมโรคได้

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าตามที่มีข่าวบางกระแสระบุว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยเป็นจำนวนหลายร้อยรายนั้น ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าว ขอให้เชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังโรคของประเทศไทย และติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด หากไม่มั่นใจในข้อมูลที่ได้รับ ขอให้ติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 

สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (4-11 พ.ย. 2559) มีผู้ป่วยรายใหม่ 33 ราย กระจายใน 12 จังหวัด และพบในบางอำเภอเท่านั้น ที่สำคัญประเทศไทยยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อใหม่มี 2 จังหวัด คือ นครปฐมและเพชรบุรี ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแต่ละสัปดาห์มีความใกล้เคียงกันและสามารถควบคุมโรคได้ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อทั้ง 68 ราย จะมีการเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะคลอด ซึ่งขณะนี้คลอดแล้ว 21 ราย ทารกทุกรายมีอาการปกติ

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวย้ำว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาไม่ได้น่ากลัวหรืออันตรายถึงชีวิต โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ อาการไม่รุนแรงเหมือนโรคไข้เลือดออก สามารถหายเองได้ อาการของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด อาการจะทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พบแพทย์โดยเร็ว ทั้งนี้ไม่ต้องกลัวหรือรังเกียจผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสซิกายังไม่มีรายงานการติดต่อจากการสัมผัส และไม่สามารถติดต่อทางลมหายใจ ซึ่งประชาชนในพื้นที่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ขอความร่วมมือประชาชนให้ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อตัดวงจรของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค สามารถป้องกันทั้งไข้เลือดออกและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

“หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ในทุกพื้นที่ ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัดตลอดการตั้งครรภ์ ตรวจครรภ์ตามแพทย์นัด และหากมีอาการสงสัยป่วยให้รีบปรึกษาแพทย์” 

สำหรับผลิตภัณฑ์ไล่ยุงแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงชนิดสารธรรมชาติและที่มีการขึ้นทะเบียนรับรองไว้อย่างชัดเจน ชนิดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของข้อมูลด้านประสิทธิภาพ  ซึ่งหลักการใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ไม่เท่ากัน จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ถี่เกินไป รวมถึงไม่ควรใช้บริเวณผิวหนังส่วนที่มีเสื้อผ้าปกคลุมไว้แล้ว กรณีใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์กันแดดควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา อย่างเต็มที่สูงสุดและต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และได้มีการยกระดับการปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรมควบคุมโรค (EOC) และหน่วยงานในสังกัดทุกแห่งทั่วประเทศ จากระดับ 1 เป็นระดับ 2 มีการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ และปฏิบัติงานตามโครงสร้างของระบบบัญชาการเหตุการณ์ดังกล่าว ปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุและเพิ่มกำลังคนร้อยละ 10 ของแต่ละหน่วยงานเข้ามาในระบบบัญชาการเหตุการณ์ เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการต่างๆ ทั้งการป้องกัน การตรวจจับเร็ว วินิจฉัยเร็ว การเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง การรักษา/แยกผู้ป่วย รวมถึงจัดระบบปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน เพื่อค้นหาผู้สัมผัสโรคให้ได้ทุกรายโดยเร็ว

ซึ่งห้องปฏิบัติการ ของประเทศไทยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาได้หลายแห่ง และมีการตรวจที่แม่นยำ สามารถตรวจตัวอย่างได้มากขึ้น ทำให้การตรวจจับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ที่ยังไม่เคยพบผู้ป่วยด้วย

นอกจากนี้ยังได้มอบสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทุกแห่ง สนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งสนับสนุนข้อมูลสถานการณ์โรคจากยุงลายให้กับคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดได้รับทราบ

และได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมกันดำเนินมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 

1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 

2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  

3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

 “ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปี 2559 ถึงปัจจุบันพบผู้ป่วย 54,008 ราย เสียชีวิต 51 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ สงขลา ปัตตานี พัทลุง แม่ฮ่องสอน และนราธิวาส ตามลำดับ ล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่ 1,446 ราย สำหรับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย มีจำนวนผู้ป่วย 16 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต”อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว