ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มโรงเรียนแพทย์ เตือน กรมบัญชีกลาง โอนรักษา ขรก.ประกันเอกชน ทำระบบขาดความยั่งยืน ชำแหละข้อมูลนำเสนอสมาคมประกันเอกชน ขาดความชัดเจนทั้งแนวทางการบริหารและการจัดระบบ ทั้งที่งบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านต่อปี แถมหวั่นทำข้อมูลสุขภาพผู้มีสิทธิตกอยู่ในเอกชน หากใช้รัฐต้องขอก่อน กระทบสาธารณสุขประเทศ พร้อมระบุเงื่อนไขกรมบัญชีกลางกำหนด คงสิทธิประโยชน์เท่าเดิม งบประมาณไม่เพิ่ม เป็นไปได้ยาก เหตุมาตรฐานการรักษา และเทคโนโลยีขยับเพิ่ม ซ้ำจำนวน ขรก.สูงอายุเพิ่ม พร้อมระบุกรณีขอเวลาศึกษาระบบ 2 ปี ย้ำไม่อยากเป็นหนูทดลอง หากดำเนินการต้องมั่นใจทำสำเร็จ   

ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  กระทรวงการคลัง – ในเวทีระดมความเห็นเรื่อง “การนำระบบประกันสุขภาพมาใช้แทนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน” จัดโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ในช่วงการเปิดรับฟังความเห็นภายหลังจากที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ได้นำเสนอข้อมูลแนวทางการดำเนินการเพื่อบริหารจัดการกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภายใต้เงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนดให้บริษัทประกันเอกชน ทั้งการให้สิทธิประโยชน์รักษาข้าราชการคงเดิม และไม่เพิ่มงบประมาณ มองว่าไม่สามารถทำได้ด้วยความยั่งยืน เนื่องจากผู้มีสิทธิจะมีอายุเพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อค่าใช้จ่ายต่อคนต่อปีที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การคุมงบให้คงอยู่ภายใน 7 หมื่นล้าน แม้ว่าจะสามารถทำได้ด้วยการจ่ายเงินปลายปิด แต่จะส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการให้ประสบภาวะขาดทุน ซึ่งกรมบัญชีกลางอาจถูกฟ้องภายหลังว่าการกำหนดเงื่อนไขนี้เป็นการทำสัญญาที่เอื้อต่อเอกชนและทำให้โรงพยาบลขาดทุน ซึ่งจะแตกต่างจากระบบประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่าจะใช้ระบบปลายปิดเช่นกัน แต่เป็นการดำเนินการโดยรัฐ

ขณะที่การกำกับควบคุมการรักษา ปัญหาคืออัตราการใช้บริการรักษาในระบบสวัสดิการข้าราชการที่สูงถึง 29 ล้านครั้งต่อปี และที่ผ่านมายังไม่มีระบบบริหารจัดการอะไร เฉพาะแค่การจัดทำข้อมูลก็ทำได้ยาก แม้ว่าจะนำระบบไอทีมาใช้วิเคราะห์ได้ แต่ในแง่ตรวงสอบการรักษาและการใช้ยา กรณีที่เป็นเอกชนตรวจสอบมองว่าจะทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งที่รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ เพราะจะถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม

ประกอบกับทางการแพทย์มีทางเลือกของการรักษาที่มากและควบคุมได้ยาก นอกจากนี้แพทย์ที่ทำงานภาครัฐปัจจุบันเป็นการทำงานภายใต้สถานการณ์ประหยัด อย่างเช่นการรณรงค์การใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติที่ทำให้มีสัดส่วนสั่งจ่ายยาในบัญชีเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเอกชนมาบริหารระบบแทน ตรงนี้จะหายไป เพราะจะกลายเป็นการประหยัดเพื่อเอกชน นอกจากนี้หากระบบภายใต้เงื่อนไขนี้เดินหน้าไปแล้วจนกระเทือนธุรกิจ 2-3 ปี ธุรกิจเอกชนก็ยกเลิกได้ แต่หากเป็นระบบภาครัฐนั้นต้องอยู่ตลอด จึงอยากให้กรมบัญชีกลางพิจารณาให้ดี     

นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จากการนำเสนอของสมาคมประกันเอกชนสรุปได้ว่า 1.เป็นการของบประมาณ 7 หมื่นล้าน ต่อเนื่อง 2 ปี เพื่อศึกษาและจัดทำระบบบริหารจัดการ 2.บอกว่าระยะกลางอาจมีการเปลี่ยนแปลง และ 3.งบประมาณหลังจากนี้จะยืดหยุ่น หรือหมายถึงเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าที่ระบุว่าต้องคงสิทธิประโยชน์เดิม รวมทั้งงบประมาณกองทุนต้องไม่เพิ่มขึ้น เป็นเงื่อนไขที่ใช้เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น และหลังจากนั้นค่อยมาตกลงกันใหม่ นอกจากนี้เรื่องนี้ยังส่งผลต่อหน่วยบริการ เพราะหากเอกชนเข้ามาดำเนินการนั่นหมายถึงเราต้องปรับระบบกันใหม่ แต่หากไม่สำเร็จจะทำอย่างไร ต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบเดิม เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เพียงขอเวลาศึกษา แต่หากทำต้องมั่นใจว่าจะสำเร็จและเป็นระบบยั่งยืนได้ เพราะหน่วยบริการคงไม่อยากเป็นหนูทดลอง  

อย่างไรก็ตามในเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ก่อนอื่นต้องมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือผิดธรรมชาติ และที่เรากำลังควบคุมอยู่นี้มันเป็นธรรมชาติหรือไม่ เพราะหากการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลเป็นธรรมชาติก็คงหยุดไม่ได้ ถ้าจะหยุดนั่นหมายความว่าผิดธรรมชาติ

นพ.ประดิษฐ์ สมประกิจ รองคณบดีฝ่ายการคลัง มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการนำเสนอในวันนี้ยังไม่เห็นเอกสารหรือข้อมูลอะไรเกี่ยวกับระบบเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ทั้งที่รับโครงการมูลค่าขนาดนี้ ดังนั้นข้อมูลต่างๆ ควรมีความชัดเจนมากกว่านี้ ซึ่งปัจจุบันระบบสวัสดิการข้าราชการ หน่วยบริการจะได้ค่าใช้จ่ายในการรักษาประมาณ 30-50 วัน เอกชนจึงต้องระบุให้ชัดว่าจะจ่ายเงินคืนได้ภายในกี่วัน เท่าที่ทราบปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนในการรับรักษาพยาบาลจะได้เงินคืนจากบริษัทประกันประมาณ 3-6 เดือน และที่เบิกไม่ได้ก็มี เรื่องนี้จึงต้องชัดเจน

ขณะเดียวกันการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องสำคัญ ตรงนี้ต้องคุยกันว่าใครจะเป็นคนลงทุน เช่นเดียวกับข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลในระบบที่ถือว่าเป็นสมบัติของชาติ ที่ผ่านมาได้นำมาใช้เพื่อวางแผนในการป้องกันโรค การจัดการด้านยา การจัดระบบสาธารณสุขประเทศ ซึ่งหากตรงนี้ดำเนินการโดยเอกชนแล้วจะอย่างไร รัฐบาลต้องขอข้อมูลจากเอกชนก่อนหรือไม่ นอกจากนี้เรื่องนี้ยังมีความเสี่ยงในการจัดการ เพราะเมื่อเวลาจะรับดำเนินการสามารถสัญญาได้หมด แต่จะทำได้หรือไม่นั้นคงต้องรอพิสูจน์  

ด้าน รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเพิ่มเติม คือมาตรฐานค่ารักษาพยาบาลระบบสวัสดิการข้าราชปัจจุบันอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท และต่อไปจะให้จำกัดอยู่ที่เงินจำนวนนี้ ขณะที่มาตรฐานการรักษาพยาบาลได้ถูกขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ตามความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ตรงนี้จะทำอย่างไร ขณะเดียวกันประกันเอกชนขอเวลา 2 ปี แต่ภายในระยะเวลานี้ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพียงแต่ทราบว่าจะขอเวลาในการศึกษาเท่านั้น และหลังจาก 2 ปี ก็ไม่รู้อีกว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่กังวลหากเดินหน้าไปแล้วและเอกชนไม่สามารถจำกัดค่าใช้จ่ายที่ 7 หมื่นล้านบาทได้ ขณะที่มาตรฐานการรักษาขยับขึ้น ในที่สุดจะต้องมีการทำประกันเพิ่มเติมหรือไม่ เช่นเดียวกับประกันสุขภาพเอกชนขณะนี้ที่มีประกันระดับเอและเอพลัส เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการผลักภาระให้ข้าราชการในที่สุด จึงเป็นห่วงในเรื่องความยั่งยืนของระบบ