ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนุน Value Based Healthcare “คุ้มค่า คุ้มราคา” ผลักดันเส้นทางระบบบริการสุขภาพคนไทย ช่วยสร้างหลักประกันสุขภาพยั่งยืน เป็นประโยชน์เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ด้าน สรพ.ชี้ผู้บริหารยุคใหม่ มองแค่ต้นทุนเป็นตัวตั้งไม่ได้ ต้องชูธงนำคุณภาพ เปิดมุมมองหลายมิติในการทำงานบริหารสร้างองค์กร

15 มีนาคม 2561 ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ในเวทีประชุมวิชาการประจำปี (HA National Forum) ครั้งที่ 19 ‘คุณค่า คุณภาพ คุณธรรม ‘จัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) หรือ สรพ. ในงานมีการสัมมนา หัวข้อ “Value Based Management กับเส้นทางระบบบริการสุขภาพ” โดย รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการ สรพ.

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า Value Based Healthcare นี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ Value Based หากจะสร้างความเข้าใจง่ายๆ คือ ความคุ้มค่า คุ้มราคา เหมือนเวลาซื้อของ เราใช้เงินเท่าเดิม แต่ได้ของดีขึ้น หรือได้ของเดิมด้วยต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งเปรียบเทียบกับการนำมาใช้กับหลักประกันสุขภาพในประเทศ ประชาชนก็จะเข้าได้ง่ายขึ้นกับเรื่องดังกล่าวนี้

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อว่า Value Based หรือความคุ้มค่า นำมาใช้กับระบบหลักประกันสุขภาพได้ ซึ่งการที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืนได้ ไม่ใช่การมองแค่ว่า จะได้เงินมากจากไหน แต่ต้องส่งเสิรมให้มีการใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่า ซึ่งนี่คือแนวคิดแบบ Value Based Healthcare ซี่งมีหลายวิธีการเพื่อให้ผลลัพธ์ดีขึ้น ในขณะที่ต้นทุนลดลง

“Value Based Healthcare เป็นแนวคิดที่เป็นประโยชน์เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เช่น การผ่าตัด หากมีการบริหารจัดการดีๆ ผลลัพธ์จะดีขึ้นภายใต้การบริหารทรัพยากรที่เท่าเดิมหรือลดลง หรือกรณีการจัดการโรคเรื้อรัง หากจัดการได้ดี คนไข้มีสุขภาพดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาและภาวะแทรกซ้อนในอนาคตก็จะลดลงด้วย ซึ่งบทบาทจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนระบบ และของภาคประชาชนที่จะต้องทำร่วมกัน” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อว่า สำหรับเมืองไทย หลายส่วนเริ่มขยับและมองเห็นความสำคัญในส่วนนี้ ซึ่งขณะนี้ สรพ.เองก็พยายามเคลื่อนหลายเรื่อง ภาพโดยรวมของกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.ก็พยายามขยับไปในทิศทางนี้

“ทิศทางที่เราพยายามเน้นเรื่องการดูแลระดับปฐมภูมิ First contract ของคนไข้ ซึ่งเป็นที่ที่คนไข้ไปหาก่อน เพื่อให้เกิดที่พึ่งการดูแลที่ต่อเนื่อง ก็จะช่วยไม่ให้ป่วยเยอะ ซึ่งจะทำให้การเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลลดลง ทั้งนี้อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการเห็นผล แต่ผมคิดว่าในระยะยาวน่าจะทำให้เกิดความคุ้มค่า และเกิดการประหยัดได้ในระดับหนึ่ง” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว

ขณะที่ นพ.กิตตินันท์ กล่าวว่า สำหรับการนำมาปรับใช้ในเมืองไทย โดยเฉพาะการมีสมดุลระหว่าง หมอ กับผู้บริหารโรงพยาบาล เพราะในส่วนของผู้บริหารเอง ก็ต้องคิดถึงเรื่องต้นทุน เพื่อให้โรงพยาบาลอยู่รอด ขณะหมอก็ต้องมองเรื่องการรักษาคนไข้ ซึ่งตรงนี้จะสมดุลในการจัดการอย่างไร

“สำหรับ Value Based Healthcare ในส่วนของผู้บริหาร สรพ.พยายามผลักดัน และมองว่า การทำงานคุณภาพจริงๆ ในยุคหน้า ผู้บริหารทุกคนจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของผู้บริหารที่ดี นั่นคือถ้าผู้บริหารดูเพียงแค่ต้นทุนในอนาคตคงไม่ได้ คงต้องดูหลากหลายมิติ ทั้งในมิติเชิงคุณภาพด้วย สรพ.พยามโน้มน้าวให้คนในสังคมและผู้บริหารเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้งานคุณภาพ อย่างกรณี จ.ลำปาง ผู้บริหารโรงพยาบาลไม่ได้มีแค่มุมมองตั้งต้นแค่ต้นทุนอย่างเดียว แต่ผู้บริหารจะมีวิธีการที่หลากหลาย ในการพัฒนาองค์กรอีกมาก” นพ.กิตตินันท์ ระบุ