ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานประเทศไทยเผย คนอายุงาน 2-5 ปี มีความสุขน้อยที่สุด ชี้เป็นช่วงอายุงานวิกฤตที่องค์กรต้องเข้าไปดูแล หากทำงานเกิน 5 ปีแล้วมักอยู่กันยาวๆ

ผศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยในการบรรยายเรื่อง “จากแนวคิดใหม่สู่การปฏิบัติ การบริหารจัดการองค์ความรู้สู่ความสุขในการทำงาน” ในงานประชุมระดับชาติ การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ (HR4H Forum 2017) เมื่อเร็วๆนี้ว่า จากฐานข้อมูล Happinomiter ซึ่งรวบรวมคะแนนความสุขของพนักงานในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้หญิงมีความสุขมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย โดยมีคะแนนรวม 62.7 จาก 100 คะแนน ขณะที่ผู้ชายมีคะแนนรวม 62 คะแนน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะมีความสุขกว่าผู้ชายทุกเรื่อง บางเรื่องชายมีความสุขกว่า ได้แก่ มิติด้านการผ่อนคลายดี สังคมดี ใฝ่รู้ดี การงานดี ส่วนผู้หญิงมีความสุขมากกว่าผู้ชายในมิติด้านสุขภาพดี น้ำใจดี จิตวิญญาณดี ครอบครัวดี สุขภาพเงินดี

"อันนี้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าหญิงสุขกว่าชาย ไม่ใช่ไปละเลยผู้หญิง แต่ให้รู้ว่าถ้าอยากสร้างความสุขให้ผู้หญิงควรทำเรื่องไหน สร้างสุขให้ชายควรเล่นเรื่องไหน" ผศ.เฉลิมพล กล่าว

ขณะเดียวกัน หากจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า อายุ 18-24 ปี มีคะแนนความสุข 62 คะแนน อายุ 25-34 ปี 60.3 คะแนน อายุ 35-44 ปี 62 คะแนน อายุ 45-54 ปี 64.6 คะแนน อายุ 55-60 ปี 64.8 คะแนน และอายุ 61 ปีขึ้นไป 70.7 คะแนน จะเห็นได้ว่าคนที่เพิ่งเข้าวัยทำงาน เริ่มแรกจะมีความสุขระดับหนึ่ง แต่พอเข้าสู่ช่วงอายุ 25-34 ปี พบว่ามีความสุขต่ำที่สุด เพราะอาจจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่งงานมีครอบครัว ซึ่งตัวเลขนี้พบทั้งในองค์กรรัฐและเอกชน แต่เมื่อผ่านอายุ 35 ปีขึ้นไป คะแนนความสุขจะมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ หากจำแนกตามอายุงานที่อยู่กับองค์กร พบว่า อายุงานไม่ถึง 1 ปี มีความสุข 61.9 คะแนน อายุงาน 1-2 ปี ความสุข 60.4 คะแนน อายุงาน 3-5 ปี ความสุข 60.4 คะแนน อายุงาน 6-9 ปี 60.7 คะแนน และอายุงาน 10 ปีขึ้นไป 63.8 คะแนน

“ถ้าดูตามระยะเวลาการทำงานในองค์กร พบว่าช่วงอายุงาน 2-5 ปี มีความสุขน้อยที่สุด แสดงว่าใครที่ทำงานอยู่รอดกับองค์กรไปได้ 5 ปี ก็จะอยู่ยาว ตรงนี้อาจเป็นช่วงวิกฤติที่องค์กรต้องลงไปดูคนงานอายุ 2-5 ปีให้มีความสุข จะได้อยู่กับองค์กรได้นานขึ้น” ผศ.ฉลิมพล กล่าว

ขณะเดียวกัน หากจำแนกความสุขตามลักษณะงาน พบว่ากลุ่มที่ทำงานสำนักงาน หรือ back office มีความสุขต่ำสุดคือ 61.4 คะแนน งานด้านการผลิต 62.4 คะแนน งานด้านบริการ 62.3 คะแนน งานด้านบริหารมีความสุขที่สุด 65.8 คะแนน และงานอื่นๆ 63.1 คะแนน

อย่างไรก็ตาม ผศ.เฉลิมพล ย้ำว่า ในการวัดระดับความสุขของบุคลากรในองค์กรควรมีการทำโฟกัสกรุ๊ปด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลออกมาแล้ว ฝ่ายบริหารสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างความสุขในการทำงานแก่พนักงานต่อไป

ด้าน รศ.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิตย์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การนำแนวคิดการสร้างความสุขของบุคลากร เมื่อเปลี่ยนแนวคิดมาสู่การปฏิบัติ จึงมีการสร้างเครื่องมือ Happinometer Happiness Package ขึ้นมา ซึ่งเครื่องมือนี้จะมี 2 ส่วนคือ 1.โปรแกรมวัดความสุข และ 2.โปรแกรมการบริหารความสุข

รศ.ศิรินันท์ กล่าวว่า ในส่วนของโปรแกรมการวัดความสุขจะมีแบบสอบถาม 56 ข้อที่ออกแบบ เพื่อเก็บข้อมูลในมิติต่างๆ 9 มิติ คือ Happy Body, HappyRelax, Happy Heart, Happy Soul, Happy Family, Happy Society, Happy Brain, Happy Money และ Happy work life ซึ่งการทำแบบสอบถามจะมีทั้ง paper base, online base และ Mobile base ซึ่งคะแนนรวมความสุขจะมี 100 คะแนน โดยวัดที่ 50 คะแนนขึ้นไปจึงจะถือว่ามีความสุข

ทั้งนี้ การนำเครื่องมือ Happinomiter ไปใช้ในองค์กรนั้น จะต้องมีการวัดผลความสุขครั้งแรก เพื่อเป็น Base line ในการออกแบบกิจกรรมและใช้เป็นฐานในการวัดผลครั้งต่อๆ ไป เมื่อวัดความสุขออกมาแล้ว จะมีโปรแกรมการบริหารความสุข ซึ่งก็คือการส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมนักสร้างสุข จากนั้นนักสร้างสุขที่ผ่านการอบรมแล้ว จะออกแบบปฏิบัติการณ์สร้างสุขโดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการทำแบบสอบถาม เพื่อดูว่ากลุ่มไหนที่ต้องเข้าไปสร้างสุข สร้างสุขในมิติไหน และมีกิจกรรมอะไรที่เหมาะสมกับมิตินั้นๆ แล้วเริ่ม Implement จากนั้นจึงวัดผลอีกครั้ง ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิด

“หลักสูตรนี้ เราอยากให้นักสร้างสุของค์กรที่มีศักยภาพ สามารถเอาตัวเลขมาประมวลผล ค้นหาปัญหาเป็น แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม และนำเสนอผู้บริหารได้ ที่ผ่านมา เราทำเรื่องนี้ มา 5 ปี ยิ่งทำคนยิ่งชอบ”รศ.ศิรินันท์ กล่าว