ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอเกรียง” ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ไม่เห็นด้วยให้อุปกรณ์รังสีทางการแพทย์อยู่ใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ หวั่นสร้างความแตกตื่นทำให้ประชาชนกลัวเครื่องเอ็กซเรย์  

นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ อนุกรรมการบริหารแพทยสภาและผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า หลังจากได้อ่านพ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และรับทราบประเด็นปัญหาของทันตแพทย์กับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้แล้ว มีความเห็นส่วนตัวว่า ไม่ควรให้เครื่องมือแพทย์อย่างเครื่องเอ็กซเรย์ เข้าไปอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะนอกจากกลุ่มทันตแพทย์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดแล้ว หมออื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

นพ.เกรียง ขยายความว่า ต้องแยกให้ชัดว่าเครื่องเอ็กซเรย์เป็นรังสีวินิจฉัย ไม่ใช่รังสีรักษา และหมอฟันจะโดนผลกระทบมาก เพราะกฎหมายสถานพยาบาลกำหนดให้คลินิกฟันทุกคลินิกต้องมีเครื่องเอ็กซเรย์ หากกฎหมายนี้ไม่ยกเว้นให้ หมายความว่าทุกคลินิกไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะต้องมีเจ้าพนักงานความปลอดภัยทางรังสีตลอดเวลา แม้ว่าทั้งเดือนจะเอ็กซเรย์แค่แผ่นเดียวก็ตาม

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ยกเว้นให้โรงพยาบาลรัฐ ดังนั้นโรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยรังสี ก็เปิดเอ็กซเรย์ไม่ได้

“ที่สำคัญที่สุด ที่ผมกังวลมากที่สุดคือกฎหมายนี้จะทำให้ประชาชนแตกตื่น สมมติผู้รับบริการเข้าไปทำฟัน เช่นรักษารากฟัน แล้วหมอให้ไปเอ็กซเรย์ทุกอาทิตย์ ถ้าประชาชนเข้าใจว่าเครื่องเอ็กซเรย์ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยควบคุม แปลว่ารังสีเอ็กซเรย์มีอันตรายสิ ให้ไปเอ็กซเรย์ทุกอาทิตย์ผมไม่เอาดีกว่า แบบนี้แหละที่ผมกลัว” นพ.เกรียง

นพ.เกรียง กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผลของความแตกตื่นยังอาจสร้างความปั่นป่วนอื่นๆ อีก เช่น หากประชาชนเกิดความระแวงอยู่แล้ว จากนั้นเมื่อผ่านการรักษาไปแล้วอยู่ๆ มีผมร่วงนิดๆ หน่อยๆ ก็อาจเข้าใจว่าผมร่วงเพราะเจอรังสี กลายเป็นปัญหาฟ้องร้องระหว่างคนไข้กับหมออีก เป็นต้น

“ผมคิดว่าไม่ควรให้เครื่องมือแพทย์อย่างเครื่องเอ็กซเรย์ เข้าไปอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะโดยสากลแล้ว อุปกรณ์กำเนิดรังสีที่ใช้ทางการแพทย์ จะให้ทางการแพทย์ควบคุมกันเอง ซึ่งในไทยก็คือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้ หากศึกษากฎหมายประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป ก็ให้ยกเว้นอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้แต่ IAEA (International Atomic Energy Agency) ก็บอกว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์รังสีไม่มากพอที่จะเป็นอันตราย แต่เมืองไทยกลับออกกฎที่ทำให้เกิดความปั่นป่วน  ผมไม่เห็นด้วย” นพ.เกรียง กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ สัตวแพทย์สภา และสภากายภาพบำบัด ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอ็กซเรย์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ 2559 โดยจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ในเร็วๆ นี้