ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯ มูลนิธิศูนย์นมแม่ ชี้ที่่ผ่านมาบริษัทนมผงทำการตลาดผ่านแม่ หมอ และพยาบาล มากเกินไปเพื่อโน้มน้าวให้กินนมผง ยันร่าง พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ ไม่กระทบต่อบริษัทนมเพราะช่วยลดต้นทุนด้านการโฆษณาลง

พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร

พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่ และอดีตผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ (Code milk) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นกฎหมายที่จำเป็นและไม่มีใครคัดค้าน เพราะองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าเด็กควรกินนมแม่อย่างน้อย 2 ปี แต่ในช่วง 6 เดือนแรกต้องกินนมแม่ล้วน จากนั้น 6 เดือนถึง 2 ปี ก็ให้กินนมแม่บวกกับอาหารเสริมอื่น 

ทั้งนี้ ปัญหาที่ผ่านมาบริษัทนมผงได้ใช้เทคนิคทางการตลาด เพราะแม้จะมีกฎหมายห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 จนถึงอายุ 3 ปี แต่บริษัทนมผงก็ยังมีการโฆษณาเอานมสูตรอื่น เช่น นมสูตร 3 ที่ไม่ได้ห้ามมาโฆษณาแทน ฉะนั้นการที่มันคร่อมอายุกันอย่างนี้ จึงทำให้กลุ่มสนับสนุนนมแม่ต้องการปกป้องเพราะไม่สามารถเรียกร้องให้บริษัทเลิกผลิตสูตรนมผงเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวอาจไม่สำคัญเท่ากับการปรับความคิดของทุกคนว่า การที่บริษัทนมผงทำการตลาดกับบุคลากรสาธารณสุข หรือ กับแม่ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและต้องหยุดได้แล้ว เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นกับจำนวนปีที่มาจะคุม ไม่ว่า 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี 3 ปี เพราะแท้จริงแล้วมันไม่ต่างกัน สิ่งสำคัญคือ การตลาดมันทำให้เรามีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนแล้วทำให้เกิดผลเสียที่หมอและพยาบาลไปให้การสนับสนุนนมผงโดยไม่รู้ตัว

“ประเด็นต้องแยกให้ชัด 1.ไม่มีใครคัดค้านร่างกฎหมายตัวนี้ แต่ตอนนี้ขัดแย้งเรื่อง 1 ปี กับ 3 ปี ซึ่งมันมีที่มาที่ไป แต่ก็น่าจะมีการต่อรอง ถ้าจะเอาจริงกันต้องสั่งห้ามทันที และให้แก้กฎหมายว่า ถ้านมผงหลัง 2 ปี ต้องเขียนว่า ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป อย่ามายุ่งกว่าต่ำกว่า 2 ปี ดิฉันอยากให้มีการคุยกันใหม่และมาต่อรองเรื่องจำนวนปี แต่อันนี้มันไม่ได้แก้ปัญหาได้ในระยะยาว สิ่งสำคัญ คือ เราต้องให้การศึกษาทั้งแม่และบุคลากรสาธารณสุข อย่าตกเป็นเหยื่อทางการตลาด” พญ.ศิราภรณ์ กล่าว 

พญ.ศิราภรณ์ กล่าวว่า กล้าพูดในเต็มปากเต็มคำว่า ที่ผ่านมาหมอเด็กทั้งหลาย หรือในการประชุมหลายครั้ง บริษัทนมผงเข้ามามีส่วนสนับสนุนเยอะมากโดยเฉพาะในด้านการตลาด เช่น ให้มีโลโก้ของบริษัทติด มีกาารลดแลกแจกแถมต่างๆ มีการโปรโมทของขวัญ หรือมีสปอนเซอร์ ทั้งหมดเป็นเรื่องจริง ซึ่งมันผ่านไปแล้ว ก็ไม่อยากวิจารณ์กันมาก มันจะไม่จบ และยิ่งจะทำให้คนในแวดวงสาธารณสุขขัดแย้งกันเอง 

"หมอเอง สมัยก่อนที่ยังไม่รู้เรื่องนมแม่ อยู่โรงพยาบาลภาครัฐก็รับบริษัทนมสำหรับทารกแรกเกิดที่วอร์ด เราก็เอาเงินนี้มารวมๆ กันแล้วไปซื้อเครื่องช่วยหายใจให้เด็ก เราก็ดีใจกันเพราะรัฐบาลหาเครื่องมือให้เราไม่ได้ ใครให้เราก็เอา แต่ไม่รู้ว่า พอรับมาปุ๊บ เวลาแม่จะกลับบ้าน พยาบาลจะบอกกับแม่ที่เพิ่งคลอดว่า เดือนนี้เนอสเซอร์รี่ใช้นมยี่ห้อนี้นะ เรื่องนี้มันเกิดขึ้นทุกโรงพยาบาลทั้งประเทศ แต่มันเป็นอดีตแล้ว" พญ.ศิราภรณ์ กล่าว

เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่ กล่าวว่า เนื้อหาหลักของร่าง พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ คือ ห้ามบริษัทนมผงทำการตลาดในอาหารที่จะทำมาแทนที่นมแม่ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งนมแม่จะใช้คู่กับอาหารอื่นตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ไม่จำเป็นต้องเป็นนมผงเสมอไป แต่การโฆษณาของบริษัทนมผง ด้วยการลดแลกแจกแถมต่างๆ เพื่อโน้มน้าวว่า นมผงดีอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เกินจริงและไม่ใช่ 

ทั้งนี้ เนื่องจากเด็กสามารถกินอาหาร ข้าว ปลา ควบคู่กันนมแม่ได้ อย่าทำให้แม่รู้สึกว่า เมื่อเห็นโฆษณานมผงแล้วเกิดการเปลี่ยนใจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลจากที่บริษัทนมผงทำการตลาด โดยเฉพาะการที่แพทย์หรือพยาบาลมาร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือ มาถือแฟ้มมีโลโก้บริษัทนม มันก็สื่อได้ หรือบริษัทนมผงที่มาเป็นสปอนเซอร์พาไปประชุม ไปเที่ยวต่างประเทศ ถ้าจะทำให้พวกนี้โปร่งใสก็คือควรสปอนเซอร์ให้ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ แทน เขาก็จะเขียนจดหมายขอบคุณบริษัทนมผง หรือ บริษัทนมผงจะให้สปอนเซอร์กับแพทย์ไปดูงานเพื่อให้เห็นเทคโนโลยีของบริษัทนมก็ทำได้ แต่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้เช่นกันโดยต้องสามารถบอกได้ว่า ใครไปบ้าง ไม่ต้องอายกัน ถ้าอย่างนี้ถือว่า ไปเพื่อไปเรียนรู้จริงๆ แต่ถ้าบริษัทนมผงพาไปเที่ยวส่งเสริมต่างๆ มันก็ต้องเกิดเรื่องการตลาดขึ้น เรื่องนี้มันอ่อนไหว

อดีตผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ กล่าวว่า หากร่าง พ.รบ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะช่วยตัดการโฆษณานมผงที่จะเชื่อมไปโยงการตัดสินใจของแม่ แต่หมอยังสามารถบอกกับแม่ได้ว่า ถ้ากินนมแม่ไม่ได้ ก็ให้กินนมสูตรไหนถึงใช้ได้ แม่ก็ไปหาซื้อเองได้ แต่ไม่ได้ถูกชี้นำด้วยบริษัท หรือการโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทนมผง อย่างไรก็ตามเชื่อว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน บริษัทนมผงยังขายของได้ อย่างน้อยบริษัทก็มีต้นทุนการโฆษณาลดลง และก็ยังวางขายในโรงพยาบาลต่อได้แต่ไม่ต้องไม่โฆษณา สิ่งสำคัญเราต้องให้ความรู้สังคมทำให้เขารู้ว่า นมพวกนี้มันมีอะไรส่วนประกอบอะไรบ้างและแม่สามารถเลือกนมแบบไหนมาให้ลูกทาน