ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อภ.แจง 5 คำถามคาใจ PD Nurse ย้ำเจอปัญหาให้แจ้งร้องเรียนผ่านระบบ DMIS หากแจ้งเคสเร่งด่วนแล้วยังไม่ได้รับน้ำยาล้างไต จะเร่งจัดส่งให้ใน 2 วัน

น.ส.รุ่งนภา ทองเนตร ตัวแทนองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวในงานประชุม “การพัฒนาเครือข่ายการบริหารจัดการระบบน้ำยาล้างไตทางช่องท้องแบบครบวงจร กรณีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพ ปีงบประมาณ 2560” ในหัวข้อ “การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ และการจัดส่งกรณีเร่งด่วน” ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต วันที่ 5 ม.ค. 2560 ว่า บทบาทของ อภ. มีหน้าที่จัดหาน้ำยาล้างไตให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วยในแต่ละปี ตามแผนงานที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งมา

ทั้งนี้ จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าพยาบาลวิชาชีพที่ให้การดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีคำถามหรือข้อสงสัยใน 5 ประเด็นใหญ่ๆ ประกอบด้วย

1.การแจ้งรับน้ำยาคืนจะต้องทำอย่างไร กรณีนี้ต้องแจ้งข้อมูลให้ชัดเจนเกี่ยวกับชนิดของน้ำยา จำนวนน้ำยาที่ยังเหลือที่บ้านของผู้ป่วย และสาเหตุในการแจ้งรับน้ำยาคืนว่าเป็นเพราะอะไร แจ้งรับน้ำยาคืนกรณีผู้ป่วยเสียชีวิต กรณี Shift Mode หรือ กรณีผู้ป่วยเปลี่ยนแผนการรักษา

2.แจ้งเข้ามาว่า คีย์ Initial stock ไม่ได้ หรือ adjust stock ไม่ได้ adjust ไปแล้วไม่ได้รับน้ำยา ซึ่งกรณีแบบนี้เกิดจากการคีย์ข้อมูลผิด ขอให้ติดต่อไปที่ IT Helpdesk ของ สปสช.

3.เบิกน้ำยาแล้ว ได้รับน้ำยาผิดชนิด กรณีนี้ให้ติดต่อมาที่ อภ. อภ.จะตามเรื่องต่อให้ โดยหากเป็นเคสที่เอาน้ำยาลงบ้านผู้ป่วยและผู้ป่วยตรวจเช็คน้ำยาทันที แล้วพบว่าน้ำยาไม่ตรงชนิด ให้แจ้งไปที่พยาบาล พยาบาลแจ้งต่อมาที่ อภ. ซึ่งแนวทางปฏิบัติคือรถคันดังกล่าวจะต้องกลับไปส่งน้ำยาให้ถูกต้องภายในวันนั้น เพราะรถยังอยู่ในพื้นที่ของผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี หากเลยเวลาจนรถออกไปนอกพื้นที่แล้ว อภ.จะแจ้งไปที่บริษัทไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น ซึ่งการจัดส่งที่เร็วที่สุดจะมี 2 วิธีคือ ฝากรถคันอื่นที่จัดส่งสินค้าไปจังหวัดนั้นๆ ให้วิ่งไปส่งให้ หรือส่ง EMS ไปให้คนไข้ คนไข้จะได้รับภายใน 3-5 วัน

“แต่ต้องรบกวนว่าเมื่อเจอเคสแบบนี้ให้แจ้งมาที่อภ. อภ.จะตามไปรษณีย์ฯ ให้ ที่ผ่านมาเจอว่าคนไข้โทรไปตามกับคนขับรถเอง หรือโทรไปหาพยาบาลแต่พยาบาลงานเยอะแล้วหลงลืมได้ ดังนั้นถ้าเจอเคสส่งผิด ให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ อภ. 1648 หรือโทรมาที่กองบริหารผลิตภัณฑ์ เราจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้ ส่วนน้ำยาที่ส่งผิด เป็นความรับผิดชอบของไปรษณีย์ฯ ที่ต้องไปรับน้ำยาคืน แต่เมื่อรับกลับมาจะไม่เอามารวมกับน้ำยาล็อตใหม่ ถึงแม้คนไข้จะไม่ได้ใช้ก็ตาม เราถือว่าเป็นน้ำยาที่ลงที่บ้านคนไข้แล้ว แต่ถ้าเป็นกรณีฝาจุกผิดยี่ห้อ ก็ให้รถขนส่งที่ไปส่งน้ำยาเดือนถัดไปรับฝาจุกกลับมาคืนที่คลังสินค้าไปรษณีย์ฯ” น.ส.รุ่งนภา กล่าว

4.เกิดความไม่แน่ใจในผลิตภัณฑ์ เช่น มีไอน้ำในถุงเยอะ ไม่แน่ใจว่าคนไข้ใช้แล้วจะปลอดภัยหรือไม่ กรณีนี้ก็สามารถแจ้ง อภ.ได้ แต่อยากให้เข้าไปคีย์ในหน้าจอระบบ DMIS ของ สปสช. ในหัวข้อการร้องเรียนปัญหาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรณีพนักงานไปรษณีย์ฯ ส่งน้ำยาแล้วแต่งตัวไม่เรียบร้อย พูดจาไม่สุภาพ ฯลฯ ก็สามารถทำเรื่องร้องเรียนผ่าน DMIS ได้เช่นกัน

5.ต้องการติดตามสถานการณ์จัดส่งน้ำยา กรณีนี้ก็สามารถเข้าไปติดตามที่หน้าจอ DMIS โดยคีย์ชื่อคนไข้เข้าไป ระบบจะบอกว่าน้ำยาที่เบิกไป มีสถานะการจัดส่งอย่างไร

นอกจากนี้ ในส่วนของกรณีเร่งด่วน (Urgent) ที่ผ่านมา อภ.เจอปัญหา urgent ไม่จริง จึงมีปัญหาจัดส่งล่าช้า เช่น โรงพยาบาลลืมคีย์เบิกน้ำยา ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยบริการเดิมๆ สุดท้ายก็กลายเป็น urgent

อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณี urgent จริง เช่น คนไข้ใหม่ คนไข้ย้ายที่อยู่ เปลี่ยนแผนการรักษา กรณี อภ.จะทำการบริหารจัดการโดยจัดส่งน้ำยาให้หน่วยบริการอย่างเร่งด่วน และจะพยายามติดตามผลทุกเคส

“แต่ถ้าเคสไหนที่หลุดไป ขอความกรุณาโทรมาที่ อภ.ว่าส่ง urgent มาแล้วทำไมไม่ได้สักที ถ้าเจอแบบนี้ อภ.จะจัดรถไปส่งให้ภายใน 1-2 วันถัดไป คนไข้จะได้รับน้ำยาแน่นอน” น.ส.รุ่งนภา กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง