ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลวังชิ้น บุกชุมชนค้นหาผู้ป่วย ‘ข้อสะโพกหัก’ เร่งรักษาแก้ปัญหาผู้ป่วยติดเตียง จัดเครือข่ายบริการร่วมกับโรงพยาบาลแพร่-อปท. สอดประสานนำส่ง บ้าน-รพ.ชุมชน-รพ.ทั่วไป วางระบบเยี่ยมหลังผ่าตัด สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ

นพ.วราวุทธ สมบูรณ์ (คนที่ 3) และ นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์ (คนที่ 1) หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ รพ.แพร่ ระหว่างการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย

นพ.วราวุทธ สมบูรณ์ แพทย์โรงพยาบาลวังชิ้น จ.แพร่ กล่าวถึงการจัดเครือข่ายบริการโรคกระดูกและข้อร่วมกับโรงพยาบาลแพร่ ว่า ความจำเป็นในการจัดเครือข่ายบริการร่วมกันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในส่วนของโรงพยาบาลวังชิ้น (โรงพยาบาลชุมชน) และโรงพยาบาลแพร่ (โรงพยาบาลทั่วไป) ขณะเดียวกันที่ผ่านมาโรงพยาบาลแพร่ก็มีโครงการมาช่วยตรวจผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อในโรงพยาบาลวังชิ้นอยู่แล้ว นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดบริการเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย

นพ.วราวุทธ กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลแพร่มีโครงการผ่าตัดเร็วเพื่อป้องกันการติดเตียงอยู่แล้ว การจัดเครือข่ายบริการจึงเน้นหนักในกลุ่มของผู้ป่วยข้อสะโพกหักเป็นลำดับแรก เนื่องจากข้อสะโพกหักเกี่ยวข้องกับการเดิน เมื่อผู้ป่วยเดินไม่ได้ก็มีโอกาสนอนติดเตียงสูง และเมื่อนอนติดเตียงก็จะมีภาวะแทรกซ้อนตามมาจำนวนมาก อาทิ การติดเชื้อ แผลกดทับ ซึ่งจะนำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลในอนาคต ฉะนั้นการได้รับรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยแก้ปัญหาการนอนติดเตียงและภาระงบประมาณในระยะยาวได้

สำหรับการดำเนินการของโรงพยาบาลวังชิ้น ส่วนตัวเป็นแพทย์โรงพยาบาลชุมชนซึ่งมีภารกิจเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงเป็นประจำอยู่แล้ว ทีมโรงพยาบาลวังชิ้นจึงทำหน้าที่เป็นผู้ค้นหาผู้ป่วยจากในชุมชนเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยจะทำการค้นหาผู้ป่วยกลุ่มข้อสะโพกหักซึ่งทั้งคนไข้และญาติพร้อมที่จะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

“โรงพยาบาลวังชิ้นเป็นโรงพยาบาลชุมชนจึงเน้นเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคในกลุ่มผู้สูงอายุอยู่แล้ว โดยเฉพาะการให้ความรู้กับผู้สูงอายุและญาติเพื่อดูแลตัวเองไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ดีหากส่งเสริมป้องกันอย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้ ทางโรงพยาบาลวังชิ้นก็จะทำหน้าที่ค้นหาผู้ป่วยในชุมชนเป็นลำดับแรก” นพ.วราวุทธ กล่าว

นพ.วราวุทธ กล่าวอีกว่า เวลาผู้สูงอายุล้มมักจะไม่มาโรงพยาบาล เพราะเขาคิดว่าไม่จำเป็นต้องมารักษา หรือบางรายก็ไม่มีหนทางที่จะมาโรงพยาบาล หน้าที่ของโรงพยาบาลวังชิ้นก็คือต้องค้นหาบุคคลเหล่านั้น โดยอาจให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้ช่วยเหลือและแจ้งข้อมูลมายังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) จากนั้น รพ.สต.ก็จะส่งข้อมูลมายังโรงพยาบาลวังชิ้น แล้วก็จะมีทีมเยี่ยมบ้านลงไปประเมินว่าผู้ป่วยมีอาการอย่างไร สามารถรักษาได้หรือไม่

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยและญาติพร้อมเข้ารับการผ่าตัด และหากแพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถผ่าตัดได้ ก็จะส่งต่อผู้ป่วยด้วยระบบนำส่ง โดยเริ่มจากนำส่งจากบ้านมายังโรงพยาบาลวังชิ้นด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากนั้นโรงพยาบาลวังชิ้นก็จะประสานกับโรงพยาบาลแพร่โดยมีรถพยาบาลนำส่งอีกทีหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลแพร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โรงพยาบาลแพร่ก็จะรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในระยะเบื้องต้น จากนั้นก็จะมีรถพยาบาลนำส่งตัวผู้ป่วยกลับบ้าน แล้วจึงจะเป็นหน้าที่ของทีมเยี่ยมบ้านโรงพยาบาลวังชิ้นในการดูแลต่อเนื่องจนผู้ป่วยบรรลุเป้าหมาย เช่น เดินได้โดยมีอุปกรณ์ช่วย เดินได้โดยไม่ใช้อุปกรณ์ช่วย

นพ.วราวุทธ กล่าวว่า ความสำเร็จของการดำเนินโครงการฉายภาพผ่านประชาชนในพื้นที่ในทุกระดับได้รับบริการอย่างเสมอภาคกันโดยไม่มีใครถูกละเลย เช่น ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็จะมีรถพยาบาลนำส่งเหมือนกัน ที่สำคัญคือการดำเนินงานไม่ใช่การตั้งรับอยู่แต่ในโรงพยาบาล แต่เป็นการให้บริการเชิงรุก คือไปให้บริการเขาถึงบ้าน ซึ่งนับเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ

นอกจากนี้ เครือข่ายการทำงานที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่เห็นว่าโรงพยาบาลเล็กได้ทำหน้าที่ในการส่งเสริมป้องกันอย่างเต็มที่แล้ว เมื่อถึงขีดจำกัดของการรักษาในบางเรื่อง โรงพยาบาลใหญ่ก็จะเข้าใจและลงมาช่วยเหลือ สามารถประสานงานและดำเนินงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น

“ปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินโครงการ จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับแผนของจังหวัดเป็นลำดับแรกว่าผู้บริหารของแต่ละจังหวัดเห็นความสำคัญในเรื่องใด ถ้าเขาเห็นความสำคัญกับสิ่งที่เราทำว่าเกิดประโยชน์กับคนไข้ คือในช่วงเริ่มแรกสิ่งที่ทำอาจเกิดประโยชน์กับคนไข้แค่ 6-7 คน แต่ถ้าเขาเข้าใจและเห็นความสำคัญ การดำเนินงานก็จะดำเนินไปได้ ขณะเดียวกันทั้งแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน และแพทย์เฉพาะทาง หากเห็นความสำคัญร่วมกันแล้ว ผมเชื่อว่าน่าจะไปได้”นพ.วราวุทธ กล่าว

นพ.วราวุทธ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับ อปท.ในฐานะกลไกในการช่วยค้นหาผู้ป่วย หรือแม้แต่ผู้นำชุมชนทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่จะทราบดีว่าลูกบ้านรายใดเจ็บป่วย ซึ่งนับเป็นด่านแรกในการช่วยค้นหาผู้ป่วย ฉะนั้นหากได้รับการสนับสนุนจากส่วนนี้ก็จะช่วยให้ดำเนินโครงการง่ายยิ่งขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง