ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะแพทย์ ม.สยาม ออกแถลงการณ์ ยันไม่เกี่ยว ทีมแพทย์สหรัฐฯ 32 คนบินมาผ่าตัดปากแหว่งฟรีในไทย ด้านสมาคมความพิการปากแหว่งแถลงการณ์ไม่สนับสนุนผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ โดยแพทย์อาสาสมัครจากต่างประเทศ ชี้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยศัลยแพทย์ใน รพ.มหาวิทยาลัย และ รพ.ศูนย์ทั่วประเทศอยู่แล้ว อีกทั้งยังต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องโดยทีมสหวิชาชีพ การผ่าตัดโดยแพทย์ต่างประเทศแล้วกลับไปทิ้งให้ไทยดูแลต่อจะเป็นผลเสียต่อผู้ป่วยมากกว่า ยืนยัน ศัลยแพทย์ในไทยมีพอ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในระดับสากล

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ออกประกาศฉบับที่ 1/2560 โดย นพ.อมร ลีลารัศมี คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ระบุว่า ตามที่มีการส่งต่อจดหมายของผู้ช่วยคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ในสื่อสาธารณะเกี่ยวกับข่าวที่แจ้งว่า นพ.สมชาย กุลวัฒนาพร ได้นำแพทย์และพยาบาล จำนวน 32 คน มาทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ฯลฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นนั้น

เนื่องจากมีผู้สอบถามว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยามมีส่วนร่วมในกรณีดังกล่าวหรือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยามจึงขอเรียนชี้แจงว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการออกข่าวกิจกรรมดังกล่าส คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยามไม่ได้ร่วมมือในการผ่าตัดกับทีมคณะแพทย์และพยาบาลที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ก็ไม่ได้เป็นผู้ติดต่อหรือรู้จักกับทีมแพทย์และพยาบาลในคณะนี้ด้วย ผู้ที่ต้องการข้อมูลใดๆ กรุณาติดต่อสอบถาม นพ.สมชาย กุลวัฒนาพร โดยตรง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย โดย ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น นายกสมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 ระบุว่า สมาคมฯ ไม่สนับสนุนการผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ โดยแพทย์อาสาสมัครจากต่างประเทศ เนื่องจากผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ชาวไทย ได้รับการรักษาโดยศัลยแพทย์ใน รพ.ระดับมหาวิทยาลัย และ รพ.ศูนย์ทั่วประเทศอยู่แล้ว

ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดรักษาในประเทศไทยมีจำนวนเพียงพอ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในระดับสากล เนื่องจากเป็นโรคที่มีความชุกในประเทศไทยมากกว่าประเทศทางตะวันตก ซึ่งผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามสิทธิที่ได้รับจากภาครัฐอยู่แล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากงบประมาณถาครัฐ ประเทศไทยยังมี องค์กรวิชาชีพ สภากาชาดไทย มูลนิธิ และองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยร่วมกันด้วย

อนึ่งในการผ่าตัดผู้ป่วยให้ได้ผลดีนั้น ต้องเป็นการดูแลที่สมบูรณ์ โดยศูนย์การดูแลที่เชื่อมโยงกับระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ ผู้ป่วยสามารถติดตามผลการรักษาและประเมินผลการรักษาได้อย่างต่อเนื่องโดยทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ ศัลยแพทย์ แพทย์ด้านหูคอจมูก ทันตแพทย์ นักแก้ไขการพูด จะต้องติดตามไปจนกว่าการเติบโตของผู้ป่วยจะสิ้นสุด ประมาณ 18-20 ปี

ดังนั้นการผ่าตัดครั้งเดียวจึงมีข้อจำกัด และยังต้องมีการดูแลหลังผ่าตัดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญพอกัน การผ่าตัดโดยแพทย์จากต่างประเทศที่ทำการผ่าตัดแล้วกลับไปทิ้งให้แพทย์ไทยดูแลต่อ จึงไม่น่าจะได้ผลการรักษาที่ดี ตลอดจนอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลัง เช่น แผลเป็น พูดไม่ชัด เป็นภาระให้แก่ผู้ดูแลภายหลัง และเป็นผลเสียต่อผู้ป่วย หรืออีกนัยหนึ่งการผ่าตัดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่โดยศัลยแพทย์จากต่างประเทศจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อผู้ป่วย

แม้ว่าในบางพื้นที่ของประเทศไทยยังมีผู้ป่วยที่ด้อยโอกาส ไม่สามารถเข้ารับการรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้ครบตามมาตรฐานสากล ทางสภากาชาดไทยร่วมกับสมาคมวิชาชีพต่างๆ ของประเทศไทยได้เดินทางเข้าไปให้บริการในรูปแบบการออกหน่วยผ่าตัด ทันตกรรมสัญจร และการฝึกพูดเป็นประจำอยู่แล้ว

อีกทั้งศัลยแพทย์จากต่างประเทศที่จะสามารถทการผ่าตัดในประเทสไทย จะต้องได้รับการตรวจสอบวุฒิ ความสามารถ ประสบการณ์และต้องได้รับการอนุญาตจากแพทยสภาก่อนจึงจะทำหัตถการในประเทศไทยได้ ด้วยเหตุผลทั้งหมด สมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทยจึงไม่เป็นด้วยในการผ่าตัดแก้ไขความพิการปากแหว่งเพดานโหว่โดยศัลยแพทย์จากต่างประเทศ