ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ แนะวิธีช่วยชีวิตในนาทีวิกฤตผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด จากเหตุอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยหัวใจวายเสียชีวิต เพราะผู้ช่วยเหลือขาดความรู้ ชี้ต้องนำบทเรียนสำคัญมาพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย เร่งพัฒนาคน เพื่อลดการเสียชีวิต-พิการถาวร

วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2560) ที่โรงพยาบาลราชวิถี ในเวทีเสวนา “ไทยถึงเวลาพัฒนาระบบรับมือผู้ป่วยฉุกเฉิน ก่อนสายเกินแก้แล้วหรือยัง?” จัดโดย โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลราชวิถี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์

ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยฉุกเฉินมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้มีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินปีละกว่า 25 ล้านคน อีกทั้งจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตและพิการ ข้อมูลจากศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี ปี 2558 พบว่า อาการสำคัญที่รับแจ้งในผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล 72% ได้รับแจ้งเป็นอาการอื่นๆ ที่ไม่สื่อว่าเป็นหัวใจหยุดเต้น เช่น เจ็บหน้าอก ชักเกร็ง หอบเหนื่อย ขณะเดียวกันอัตราผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล มีเพียง 11% เท่านั้นที่รอดชีวิต

ดังนั้น การรอดชีวิตจึงขึ้นอยู่กับการป้องกัน การดูแลตัวเอง ระบบการส่งต่อที่รวดเร็ว เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้วิธีการใช้ยาแก้อาการหัวใจขาดเลือด หรือยาไอเอสดีเอ็น ที่ใช้อมไว้ใต้ลิ้น เมื่อเกิดอาการ ก่อนที่จะหมดสติ หรือชัก จะทำให้รอดชีวิตมากขึ้น ขอแนะนำว่า ผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน ควรพกยาชนิดนี้ติดตัวไว้ประมาณ 2 เม็ด ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เม็ดละ 2 บาท เพราะหากเกิดเหตุขึ้นจะได้ช่วยเหลือตัวเองหรือช่วยคนอื่นได้ทันที

ส่วนกรณีหลายฝ่ายหรือหน่วยงานต่างๆ เรียกร้องให้ กทม.ซื้อเครื่องช่วยฟื้นคืนคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (เออีดี) หรือเครื่องช็อคหัวใจ ติดตั้งทั่วกรุงเทพฯ นั้น เห็นว่าอาจใช้ได้ในบางกรณีเท่านั้น เนื่องจากเครื่องนี้ใช้ในรายที่หัวใจหยุดเต้น หรือเต้นแบบไม่เป็นจังหวะ อีกทั้งขึ้นอยู่กับการฝึกอบรม หากขาดทักษะก็ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้ และที่สำคัญเครื่องนี้มีราคาแพง จึงเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลหรือ กทม.จะจัดสรรงบประมาณเพื่อติดตั้งทั่วไปได้

“การเจ็บป่วยฉุกเฉินมีหลายสาเหตุที่สามารถป้องกันและหยุดยั้งอาการไม่ให้กำเริบจนเสียชีวิตหรือพิการถาวรได้ และการโทรแจ้งรถกู้ชีพนั้น ต้องตั้งสติ ให้ข้อมูลที่ชัดเจน บอกอาการ ความรู้สึกของผู้ป่วย นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังได้จัดทำโครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลตนเอง ป้องกันการเกิดโรคภัยต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นได้ อีกทั้งยังได้เตรียมจัดทำคู่มือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วขึ้นด้วย เช่น เป็นฉุกเฉินสีแดงที่ต้องรักษาเร่งด่วน หรือเป็นฉุกเฉินสีเหลืองที่ต้องส่งต่อ หรือกลุ่มสีเขียวที่ยังสามารถรอได้” ศ.นพ.สันต์ กล่าว

นพ.สมชาย กาญจนสุต

นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ในฐานะผู้ที่ริเริ่มทำงานพัฒนาให้มีศูนย์กู้ชีพนเรนทร รพ.ราชวิถี และสามารถขยายผลต่อจนมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ กล่าวว่า ผู้รับผิดชอบระบบควรจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่และความพร้อมในการช่วยเหลือ โดยหน่วยงานภายนอก จะสังเกตได้ว่าพื้นที่เสี่ยงของผู้ป่วยฉุกเฉิน คือ สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส สนามฟุตบอล หรือแม้แต่สถานที่ประชุมที่มีความเครียด เช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ควรมีการประเมินความเสี่ยงและเตรียมความพร้อมของระบบการช่วยเหลือใน 3 มิติคือ ความรวดเร็ว ความสามารถของผู้ช่วยเหลือ และการเข้าถึงบริการ ตลอดจนการนำส่งไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม

นอกจากนั้นควรจัดให้มีการซ้อมระบบปฏิบัติการว่าสามารถปฏิบัติได้จริงและต่อเนื่อง ปัจจุบันได้มีการพัฒนาด้านวัสดุอุปกรณ์ไปมาก แต่ขาดการตรวจสอบว่าสามารถใช้งานในเหตุการณ์จริง ๆ ได้

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ หากมองย้อนหลังตามหลักการแล้วควรมีการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด หากผู้ป่วยหมดสติและคลำชีพจรไม่ได้ ให้ทำการกดหน้าอกแบบถูกวิธี (Quality CPR) พร้อมกับการจัดหาเครื่อง AED หากหาไม่ได้ก็ควรกดหน้าอกต่อไปเรื่อยจนกว่าหน่วยกู้ชีพจะมาถึงซึ่งควรจะมาโดยเร็วที่สุด ไม่ควรเคลื่อนย้ายไปโรงพยาบาลเองเพราะจะทำให้ต้องหยุดการกดหน้าอกในระหว่างการเคลื่อนย้ายเป็นผลเสียต่อการช่วยชีวิต

แต่ในเหตุการณ์จริงครั้งนี้ เชื่อว่าผู้ช่วยเหลือต่างมีเจตนาดีที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเผยแพร่องค์ความรู้และฝึกอบรมการช่วยชีวิตที่ถูกต้องให้ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่อยู่หรือทำงานในพื้นที่ความเสี่ยงสูง และสำรวจความพร้อมของระบบการช่วยเหลือเพื่อปรับระบบให้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือฉุกเฉินได้จริง อันประกอบด้วยความรวดเร็ว ความสามารถ และความครอบคลุม รวมทั้งมีการซ้อมปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย” นพ.สมชาย กล่าว