ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ และ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมถึงการให้บริการด้านโรคมะเร็งสู่มาตรฐานสากล

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) โดย นพ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์กรุงเทพ ว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 และจากผลสำรวจในปี พ.ศ.2558 พบผู้ป่วยรายใหม่ 131,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว จำนวน 73,000 คน สะท้อนให้เห็นว่าโรคมะเร็งกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะนอกจากจะทำให้เกิดปัญหาความเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว

กรมการแพทย์ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องมาตรฐานการรักษา ได้ให้ความสำคัญและถือเป็นภารกิจเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งตลอดจนสนับสนุนการจัดทำแผนป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ เป็นความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งร่วมกัน ระหว่างสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์และโรงพยาบาลวัฒโนสถ ทั้งในด้านวิชาการ การวิจัยพัฒนา การบริการทางการแพทย์และสุขภาพด้านโรคมะเร็ง โดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย การบริการที่สะดวกและรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีความต้องการการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การผลิตผลงานวิชาการ การวิจัย เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อไป

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในเรื่องพัฒนาโครงการวิจัย การฝึกอบรมทักษะเฉพาะทาง ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างเครือข่ายภายในประเทศแล้ว ยังได้ดำเนินความร่วมมือกับหน่วยงานทางการแพทย์ชั้นนำของโลก เช่น ความร่วมมือกับ MD Anderson Cancer Center ประเทศสหรัฐอเมริกา Tokyo Medical and Dental University ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะยกระดับมาตรฐานการรักษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการรักษาที่มีประสิทธิภาพ