ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ระบุ สมองพิการในเด็ก เกิดจากความปกติของสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอด แนะดูแลสุขภาพของแม่และลูกอย่างใกล้ชิดขณะตั้งครรภ์ พร้อมตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สมองพิการ คือกลุ่มโรคของเด็กที่มีความผิดปกติเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เกิดจากความปกติของสมอง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอด โดยมีสาเหตุ ได้แก่ ภาวะสมองขาดออกซิเจน ภาวะอันตรายจากการคลอด ความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด เส้นเลือดในสมองอุดตัน ตัวเหลืองอย่างรุนแรงหลังคลอด อาการเกิดขึ้นได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของสมองว่าเกิดขึ้นกับส่วนใด แบ่งเป็น 4 แบบ คือ

แบบที่ 1 ชนิดเกร็ง พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็งกล้ามเนื้อทั่วไป หรืออาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งของลำตัว มือกำแน่น หลังแอ่น บางรายเป็นมากจนขาไขว้กัน น้ำลายไหลบ่อย ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีภาวะปัญญาอ่อนหรือมีอาการชักร่วมด้วย  

แบบที่ 2 ขณะอายุน้อยๆ จะมีอาการตัวอ่อน คออ่อน เมื่อโตขึ้นจะมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ มือและเท้าเคลื่อนไหวมีทิศทางไม่แน่นอน คอเอียง ปากเบี้ยว แขนและลำตัวบิด  

แบบที่ 3 จะมีอาการตัวอ่อนร่วมกับปัญญาอ่อน  

แบบที่ 4 เป็นชนิดที่รุนแรง โดยมีอาการดังกล่าวหลายอย่างร่วมกัน การรักษาส่วนใหญ่อาจต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายแผนก เช่น กุมารเวชศาสตร์ประสาทวิทยา จิตแพทย์เด็ก พัฒนาการเด็ก แพทย์กระดูกและข้อ กายภาพบำบัดเป็นต้น ขึ้นอยู่กับปัญหาของเด็ก ซึ่งอาจจะพบโรคร่วม เช่น โรคลมชัก กล้ามเนื้อเกร็ง ข้อติด พัฒนาการช้า ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ เป็นต้น 

การป้องกันการเกิดภาวะสมองพิการในเด็ก คือการดูแลสุขภาพแม่และเด็กในครรภ์ โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนที่

จะมีการปฏิสนธิ หลีกเลี่ยงสารหรือยาที่มีผลต่อเด็กในครรภ์ ฝากครรภ์และปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด มาตามแพทย์นัดทุกครั้ง ส่วนในระยะหลังคลอด ควรดูแลสุขภาพลูกอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจมีผลต่อการทำงานของสมอง การฉีดวัคซีนและดูแลสุขภาพร่างกายของลูกให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการติดเชื้อในสมอง