ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.ผนึกภาคีเครือข่าย วอนสงกรานต์นี้ “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” รณรงค์จัด Zoning พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าทั่วไทย ด้าน สตช.ปูพรมตำรวจเกือบ 9 หมื่นราย รับมือสงกรานต์กระตุ้นเตือนพฤติกรรมเสี่ยงขับขี่ผิดกฎหมาย พร้อมตั้งจุดสกัดตรวจจับเข้ม 11-17 เม.ย. นี้ กวดขัน 6 มาตรการ ฝ่าฝืนโดนแน่ สคล.แฉเอกชนจัดพื้นที่เล่นน้ำอัดโปรโมชั่นเหล้า เบียร์ ตัวการทำยอดอุบัติเหตุพุ่งสูง

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่โรงแรมริชมอนด์ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า สงกรานต์ปี 2560 พร้อมเปิดตัวมิวสิกวิดีโอ “ขอได้ไหม นะ นะ นะ” เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อทุกแขนง เพื่อสร้างกระแสการกระตุ้นเตือนให้ขับขี่ปลอดภัยโดยไม่ต้องมีใครบาดเจ็บและสูญเสียในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 กล่าวว่า  สสส.และภาคีเครือข่ายทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาตั้งแต่ปี 2546 ได้พัฒนามาตรการ นโยบาย และการรณรงค์สังคมอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้นในปัจจุบัน โดยสนับสนุนการดำเนินงานในภาพรวม ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นวันหยุดยาว มีการใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าช่วงเวลาปกติ สสส.จึงได้ใช้เป็นวาระในการรณรงค์กระตุ้นเตือนสังคมเป็นพิเศษ 

ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 3,447 ครั้ง เสียชีวิต 442 ราย บาดเจ็บ 3,656 ราย สาเหตุอันดับหนึ่ง จากการเมาสุรา ร้อยละ 34.09 รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.93 ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นกลุ่มวัยรุ่น (อายุ 15-24 ปี) สูงถึงร้อยละ 29.67 โดยวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงมักอยู่ในช่วงวันเล่นน้ำสงกรานต์ คือ วันที่ 13-15 เมษายน 

ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ สสส.และภาคีเครือข่าย ได้จัดทำแคมเปญรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ชื่อ “สงกรานต์ ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” โดยขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามข้อแนะนำเรื่องความปลอดภัยทางถนน 4 ข้อ คือ

1.ไม่ดื่มสุรา ทั้งก่อนและขณะขับรถ

2.ไม่เล่นน้ำบนท้ายกระบะรถยนต์ และขณะขับขี่รถจักรยานยนต์

3.ขับรถด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนด คือ 90 กม./ชม. ในเขตนอกเมือง ในเขตเมืองใช้ความเร็วตามป้ายกำหนด และเขตชุมชนไม่เกิน 50 กม./ชม.

และ 4.คาดเข็มขัดนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ หากทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจะช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติทางถนนได้อย่างมาก

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า สถานการณ์การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤต แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ คสช.เร่งรัดการออกกฎหมายสำคัญหลายฉบับ โดยใช้ ม.44 ทำให้มีกฎหมายที่ได้ตามมาตรฐานสากล เช่น การบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยในผู้โดยสารตอนหลังในรถทุกประเภท ความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถตู้สาธารณะ การจำกัดความเร็วของรถในเขตเมือง รวมถึงการกำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้เอาประกันที่กรมธรรม์คุ้มครอง อย่างไรก็ตาม แม้มีกฎหมายมาควบคุมแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการบังคับใช้ตามกฎหมายอย่าง

พ.ต.อ.ชาญศิริ สุขรวม ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญการลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 88,442 นาย ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยแบ่งการทำงานเป็น 2 ระยะ

ในระยะแรกคือ ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนสงกรานต์ วันที่ 27 มี.ค.- 10 เม.ย. เป็นการบังคับใช้กฎหมายแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงโอกาสที่จะถูกจับกุม

ส่วนระยะที่สอง คือ ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วันอันตราย วันที่ 11-17 เม.ย. จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติ

1.ความผิดเกี่ยวกับการดื่ม และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2.การคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ

3.ยึดใบขับขี่ หรือเก็บรักษารถไว้เป็นการชั่วคราว กรณีการแข่งรถ ดื่มแล้วขับทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

4.ฟ้องเพิ่มโทษกับผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราที่กระทำผิดซ้ำ

5.ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกรายที่เกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต

6.สุ่มตรวจจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง ไม่ให้เล่นน้ำขณะรถเคลื่อนที่ ให้จอดรถเล่นน้ำ

โดยให้เน้นหนักในช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. ทั้งนี้ การกวดขันมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว จะช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนลงได้

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สสส. และ สคล. ได้ร่วมผลักดันให้เกิด Zoning พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดถนนตระกูลข้าวมากกว่า 50 แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำถนนต่างๆ กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ เป็นมาตรการที่ถูกนำเข้าไปเป็นนโยบายของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทย โดยผลสำรวจความเห็นประชาชน เจ้าภาพผู้จัดงานจาก 10 พื้นที่ทั่วประเทศ ประชาชนร้อยละ 87.7 เห็นด้วยกับการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย ร้อยละ 91.6 เห็นด้วยว่าจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ 

ทั้งนี้ สงกรานต์ที่จะถึงนี้ น่าเป็นห่วงเนื่องจากภาคเอกชนหลายพันแห่งทั่วประเทศ เตรียมจัดพื้นที่เล่นน้ำและมีการอัดโปรโมชั่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เต็มที่ มีเยาวชนเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก และดื่มอย่างหนัก เห็นได้จากช่วงเวลาของการเกิดอุบัติเหตุ ตัวเลขการบาดเจ็บและเสียชีวิต เปลี่ยนจากช่วงค่ำ ไปเป็นช่วงหลังเที่ยงคืน ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาการเลิกงานของพื้นที่เล่นน้ำเอกชนเหล่านี้ ทั้งนี้ ขอวิงวอนภาคเอกชน ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยใช้บทเรียนของการจัดงาน Zoning พื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย สสส. สคล.ที่ทำมากว่า 10 ปีไปใช้เป็นแนวทางในการจัดงาน เพื่อให้ตัวเลขสถิติคนเจ็บตายและความสูญเสียไม่เพิ่มมากไปกว่าที่เป็นอยู่

นายอำนวย วิรุณภักดิ์ อายุ 47 ปี ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุเมาแล้วขับของนายอรุณ วิรุณพักดิ์ (น้องเก๋า) ลูกชายวัย 19 ปี ว่า ช่วงประมาณเที่ยงคืนในวันออกพรรษาเมื่อปี 2556 ลูกชายเมาแล้วขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อไปหาซื้อเหล้ามาดื่มต่อ ขับรถหลุดโค้งหัวกระแทกกับกระถางต้นไม้ใหญ่ริมถนน สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรงเพราะไม่ได้ใส่หมวกกันน็อก ทำให้ไม่สามารถบังคับร่างกายซีกขวาได้ รักษาอยู่โรงพยาบาล 3-4 เดือน ปัจจุบัน ลูกชายดีขึ้นสามารถทำกิจวัตรประจำวันสำหรับตัวเองได้ แต่ร่างกายซีกขวายังคงอ่อนแรงต้องใช้ไม้พยุงเวลาเดิน 

“เหตุการณ์ที่เกิดกับลูกชายผมอยากให้เป็นกรณีศึกษาว่า เมาแล้วขับอันตรายมาก ผลร้ายไม่ได้เกิดเพียงแค่ตัวคุณเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว คนรอบชีวิตของลูกชายเปลี่ยนไป ไม่สามารถทำงานด้านช่างอิเล็กทรอนิกส์ตามที่เรียนมาหาเลี้ยงตัวเองได้”