ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เทศบาลนครรังสิต” จัด “ระบบดูแลผู้สูงอายุครบวงจร” หลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว รุกงานดูแลผู้สูงอายุ 3 กลุ่ม ทั้งผู้สูงอายุติดสังคม ผู้สูงอายุติดบ้าน และผู้สูงอายุติดเตียง เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่

จากนโยบายนายกเทศมนตรีนครรังสิตที่เน้นให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ กลายเป็นเข็มทิศมุ่งเป้าก่อให้เกิดการพัฒนาระบบเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ ต้นแบบ “องค์กรที่มีการจัดการด้านการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีระบบ” เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานจากท้องถิ่นทั่วประเทศ

นางดรุณี วิชิต รักษาการหัวหน้าฝ่ายบริการและส่งเสริมอนามัย กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครรังสิต กล่าวว่า ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานับเป็นระยะเปลี่ยนผ่านการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย แต่สำหรับพื้นที่เทศบาลนครรังสิตแล้ว ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวเรียบร้อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปี 2550-2559 มีจำนวนผู้สูงอายุเฉลี่ยถึงร้อยละ 14.74 ของประชากร หรือ 11,842 คน เทศบาลนครรังสิต ได้เห็นความสำคัญของประชากรกลุ่มนี้ จึงมีนโยบายเร่งด่วนในการจัดระบบสาธารณสุขรองรับการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง พร้อมดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งชาติจนเกิดการพัฒนาระบบจัดการด้านการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบัน 

ทั้งนี้การดำเนินงานเบื้องต้น ได้มีการสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1.กลุ่มผู้สูงอายุติดสังคม 2.กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน และ 3.กลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง เพื่อจัดการรองรับการดูแลผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มให้เหมาะสม โดยเฉพาะการทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอบสนองการดูแลผู้สูงอายุ   

 เริ่มจากกลุ่มผู้สูงอายุติดสังคม นางดรุณี กล่าวว่า อยากให้มีผู้สูงอายุกลุ่มนี้มากๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เพียงแค่ช่วยเหลือและดูแลตัวเองได้ดี แต่ยังมีพลังที่จะทำงานเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคมได้ แม้จะอายุเลยวัย 60 ปีแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มสำคัญที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสาธารณะได้ จึงมีการชักชวนทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค งานจิตอาสาดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุในละแวกเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากผู้สูงอายุกลุ่มนี้ด้วยดีรวมถึงแกนนำชุมชนที่มองเห็นประโยชน์ จนเกิดการขยายเครือข่ายและจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุที่กระจายไปตามชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครรังสิต ทั้งยังก่อให้เกิดนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในด้านต่างๆ

 “จากการกระตุ้นความสนใจสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุติดสังคม ทำให้ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น โดยเห็นได้จากการขอสนับสนุนงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิตในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพซึ่งแต่ละปีจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมมีเพียง 30 โครงการต่อปี แต่ในปี 2560 นี้ เพียงแค่กลางปีก็มีประมาณ 50 โครงการเข้าไปแล้ว อาทิ กิจกรรมการเล่นโยคะ ลีลาศ ไทเก็ก รำไทย ไลน์แดนซ์ ชี่กง แอโรบิค เป็นต้น ซึ่งเกิดจากแกนนำผู้สูงอายุเป็นผู้นำเสนอและดำเนินโครงการ ส่งผลให้มีการออกกำลังกายในรูปแบบที่หลากหลายและกระจายตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ ปัจจุบันเทศบาลนครรังสิตมีชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ 11 ชมรม”

นางดรุณี กล่าวว่า สำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มผู้สูงอายุติดสังคมนี้ ยังส่งผลถึงกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน เทศบาลได้จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอีกหลายโครงการเพื่อดึงผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านออกมาร่วมกิจกรรมกับผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม เช่น โครงการที่เกี่ยวกับศาสนาและประเพณีต่างๆ โดยมีผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมเป็นแกนนำชักชวนและช่วยดูแลอำนวยความสะดวก ได้ผลที่ดีในระดับหนึ่ง 

สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงนั้น นางดรุณี กล่าวว่า มีผู้สูงอายุติดเตียงบางรายลูกต้องออกไปทำงาน การดูแลในเรื่องอาหารการกินในช่วงกลางวันผู้สูงอายุที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เองต้องให้อาหารทางสายยาง เป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการและต้องให้ความสำคัญเพราะนอกจากจะส่งผลกระทบถึงสุขภาพและยังส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจด้วย เทศบาลจึงต้องมีการจัดระบบบริการเชิงรุกเข้าไปดูแลถึงบ้าน ซึ่งได้งบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง  (Long Term Care: LTC) เริ่มเป็นรูปธรรมในปี 2559 ทำให้เกิดการดูแลแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชนกันเอง มีกลุ่มจิตอาสาเป็นผู้ขับเคลื่อน และ 80% ของจิตอาสาก็คือผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ซึ่งต้องผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ดูแล 120 ชั่วโมง

สาระของหลักสูตรเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การดูแลและพยาบาลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง การฟื้นฟูสภาพโดยวิธีทางกายภาพ และแพทย์แผนไทย (Caregiver) ปัจจุบันมีผู้สูงอายุติดเตียงที่อยู่ในการดูแลของเทศบาลฯ 120 ราย เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน LTC 40 ราย ที่เหลือเป็นการบูรณาการร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิต

ปัจจุบันเทศบาลมีศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ 5 แห่ง ให้บริการตรวจรักษาพยาบาลเบื้องต้น การฟื้นฟูสภาพด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด และบริการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นการแพทย์ทางเลือก ถือได้ว่าการจัดบริการด้านสาธารณสุขของเทศบาลเป็นแบบใกล้บ้านใกล้ใจครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เรายังมีระบบเฝ้าระวังและให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินเรียกว่า SOS นครรังสิตของศูนย์กู้ชีพกู้ภัยนครรังสิต ซึ่งสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายการพยาบาลในภาวะวิกฤตและเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตลดการเกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนที่สามารถป้องกันได้ด้วยระบบการส่งต่อที่ได้มาตรฐาน

นางดรุณี กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีของการทำงานที่เทศบาลนครรังสิต ได้เห็นความครอบคลุมในการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลไกของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน ความผูกพันระหว่างเจ้าหน้าที่และชุมชนเป็นฟันเฟือง จนทำให้เกิดระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ครอบคลุมในทุกมิติ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง