ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชกรโรงพยาบาลสงขลา สนับสนุนระบบลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วย พร้อมยกกรณีรักษาผู้ป่วยมะเร็งสร้างระบบดูแลรักษาด้วยยาอย่างถูกต้อง

ภญ.อัญญารัตน์ ศรีวิโรจน์ เภสัชกรจากโรงพยาบาลสงขลา กล่าวในงานประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ : เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 ถึงการเพิ่มการเข้าถึงยา Opioids ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยยกตัวอย่างการรักษาผ่านการใช้ยากับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมวัย 80 ปี ตอนหนึ่งว่า โรงพยาบาลสงขลาได้ดำเนินการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเป็นองค์รวมตามบทบาทของเภสัชกรอย่างต่อเนื่อง โดยได้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอายุ 80 ปี จนกระทั่งกลายมาเป็นต้นแบบของการรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ

ภญ.อัญญารัตน์ กล่าวว่า เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 80 ปี ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมและปฏิเสธการรักษา จนกระทั่งป่วยหนักมากขึ้นจึงยอมผ่าตัด แต่ก็ปฏิเสธการทำเคมีบำบัด (คีโม)

ทั้งนี้ ผู้ป่วยได้มาโรงพยาบาลเพื่อรับยา ทำแผล แต่ได้แสดงความต้องการที่จะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งเภสัชกรได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน พบว่าที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมของบ้านผู้ป่วยถูกสุขลักษณะเป็นอย่างดี อีกทั้งผู้ที่ดูแลผู้ป่วยก็มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับยาที่ใช้การรักษาบ้าง แต่ยังพบปัญหาเรื่องการสื่อสารภายในครอบครัวอยู่ รวมถึงผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดจากแผลอย่างหนัก

“เมื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูลทำให้พบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดบาดแผลเกิดจากยาที่ใช้ไม่ถูกต้อง และความต้องการของผู้ป่วยคืออยากหายจากอาการเจ็บป่วย และต้องการให้นอนพักผ่อนได้ แต่เมื่อเปลี่ยนยาทำให้ผู้ป่วยลดอาการเจ็บปวดลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง และยังนอนหลับพักผ่อนได้ ทำให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วย และถูกต้องในการรักษา นั่นทำให้โรงพยาบาลได้คิดค้นและจัดทำระบบออกมา โดยมุ่งเน้นให้เภสัชกรลงพื้นที่เพื่อทำให้เห็นภาพของผู้ป่วย และจะได้รักษาด้วยยาอย่างเหมาะสม” ภญ.อัญญารัตน์ กล่าว

ภญ.อัญญารัตน์ กล่าวอีกว่า ในฐานะของเภสัชกรก็จะดูเรื่องยาเป็นอันดับแรก แต่จากการเรียนรู้จากเคสนี้ทำให้เห็นภาพว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องกับคนไข้อย่างมาก และนอกจากนี้ยังรวมถึงระบบ บุคลากร และบุคลากรอาจเป็นปัญหาใหญ่ของระบบปัญหาในทุกมิติของผู้ป่วย ทั้งการไม่รู้ หรือการขาดการประสานงาน และเชื่อว่าหากบุคลากรมีความเชี่ยวชาญ และทำตามระบบอย่างถูกต้อง และตรงกับอาการของผู้ป่วยและถูกกฎหมาย ก็จะทำให้ระบบการรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

“การเยี่ยมบ้านเป็นเรื่องสำคัญ เภสัชกรเองก็ต้องลงพื้นที่ด้วยเช่นกัน เพราะต้องเห็นภาพและเห็นสภาพของผู้ป่วยที่อยู่บ้าน จึงจะสามารถวางแผนและประสาน รวมถึงช่วยเหลือการรักษาจากเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ ได้” ภญ.อัญญารัตน์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง