ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งแบบไตรภาคี การพัฒนาเครื่องลดการบวมของแขนหลังการรักษามะเร็งเต้านม และพัฒนา Mobile Application สำหรับลดภาวะข้อไหล่ติดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวน 12.7 ล้านราย

สำหรับประเทศไทยมะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก โดยเพศชาย ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับมากที่สุด และในเพศหญิงพบโรคมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับแรก

จากปัญหาดังกล่าว สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการส่งเสริม กำหนดนโยบายป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งระดับประเทศ ตระหนักถึงปัญหาของโรคมะเร็งและหาแนวทางป้องกันอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งแบบไตรภาคี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ กายภาพบำบัด ฯลฯ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันมะเร็งแห่งชาติให้ความสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและการวิจัยกับองค์กรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ ระหว่างสถาบันมะเร็งแห่งชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการพัฒนาเครื่องลดการบวมของแขนหลังการรักษามะเร็งเต้านม เพื่อลดการนำเข้าเครื่องมือราคาสูงจากต่างประเทศ และการพัฒนา Mobile Application สำหรับลดภาวะข้อไหล่ติดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เป็นการต่อยอดผลงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่ได้รับ รางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี 2557 ประเภท นวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดีเด่น จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของความร่วมมือไตรภาคีที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0