ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาพิจารณ์แก้กฎหมายบัตรทอง เคาะ 3 รูปแบบ 1.รับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ สื่อโซเชียล 2.เวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค 3.เวทีปรึกษาสาธารณะ ภายใน มิ.ย.นี้ ก่อนสรุปผลรับฟังใน ก.ค.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ) กล่าวว่าการจัดประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ พิจารณา จะมีขึ้นในระหว่างเดือนมิถุนายนนี้ ประกอบด้วยเวทีการรับฟังความเห็น 3 รูปแบบ คือ

1.การรับฟังความเห็นสาธารณชนสำหรับประชาชนทั่วไปผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ความคิดเห็นตามประเด็นสำคัญในเบื้องต้น ผ่านช่องทางเว็บไซต์และช่องทางการสื่อสารสังคมที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

2.การจัดเวทีประชาพิจารณ์หรือ Public Hearing สำหรับประชาชนทั่วไป จะประชาสัมพันธ์เชิญชวนในการลงทะเบียนล่วงหน้าเข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้

และ 3.การจัดเวทีปรึกษาสาธารณะหรือ Public Consultation เป็นเวทีลำดับสุดท้ายในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยเป็นเวทีการถกแถลงของผู้แทนกลุ่มเครือข่ายจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายระดับพื้นที่ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องจากการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และครบถ้วนทั้งผู้รับบริการ ผู้จัดบริการ และผู้กำกับดูแล

ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ฯ กล่าวว่า แนวคิดในการจัดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ จะมุ่งเน้นการสร้างพลังการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย และการสร้างกระแสสังคมในการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยอย่างกว้างขวาง ภายใต้ 3 หลักการสำคัญ คือ

1.หลักการเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

2.หลักความเป็นระบบ โดยมีเวทีการรับฟังความคิดเห็นที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประชุมและผู้ดำเนินการประชุมไว้อย่างชัดเจน

และ 3.หลักการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม โดยการเปิดโอกาสการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมเวทีอย่างเท่าเทียมกัน

“จริงๆ แล้วหากตีความตามแนวทางการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายฯ ตามบทบัญญัติมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนและสาธารณะต่อไป….ซึ่งระบุว่าขั้นต่ำต้องมีการรับฟังความเห็นและเปิดเผยข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ โทรทัศน์ หรือเว็บไซต์เท่านั้นเป็นพอก็ได้ แต่เราอยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะเราให้ความสำคัญกับเสียงความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศเป็นสำคัญ”

ด้าน ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี อนุกรรมการและเลขานุการดำเนินการประชาพิจารณ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานเพื่อจัดเวทีประชาพิจารณ์ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น

1.เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2560 จัดทำบทวิเคราะห์ทางวิชาการ การออกแบบกระบวนการรับฟัง และวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

2.เดือนมิถุนายน พ.ศ.2560 เป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 ระดับ ประกอบด้วย การรับฟังความเห็นสาธารณชน (Public Opinion), การจัดเวทีประชาพิจารณ์ (Public Hearing) และการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation)

และ 3.เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2560 สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากเวทีรับฟังความเห็นทั้ง 3 เวที เพื่อจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประชาพิจารณ์พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... เพื่อนำไปสู่การส่งต่อให้อนุกรรมการยกร่างกฎหมาย และเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป