ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปลือยวิสัยทัศน์ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ‘เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ’ ป้ายแดง : ล้างภาพนักสร้าง ‘อีเว้นท์-วาทกรรม’ สู่รูปธรรมนโยบายสาธารณะที่แท้จริง

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ คือผองเพื่อน คือพี่-น้อง คือกัลยาณมิตร ที่เคียงบ่าเคียงไหล่และมีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์การปลุกปั้นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ร่วมกับ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

เขาคือผู้วางรากฐานการก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเป็นรองเลขาธิการ สปสช. คนแรกที่ นพ.สงวน เอ่ยปากทาบทามแกมมัดมือชกให้มาช่วยบริหารงานด้วยประโยคที่ว่า “ถ้ามึงไม่ไป กูก็ไม่ไปเหมือนกัน”

นพ.ประทีป เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการผลักดันสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองหลายรายการ เขาเป็นหนึ่งในผู้จัดทำและเข้าไปนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ จนรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เห็นชอบเพิ่มสิทธิให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จนทำให้คนจำนวนมากรอดพ้นจากภาวะล้มละลาย

นพ.ประทีป คนเดียวกันนี้ ยังมีบทบาทในการก่อร่าง-ขึ้นรูปทิศทางการขับเคลื่อนงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม-เครือข่ายผู้ป่วย จนทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและพร้อมพิทักษ์ปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างแท้จริง

ในวัย 62 ปี นพ.ประทีป ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ให้ดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” คนใหม่ แทน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ที่ลาออกไปดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

นพ.ประทีป บอกกับเราว่า ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับความขัดแย้งร้าวลึก หากมีความจำเป็น สช. ก็ต้องเข้าไปมีบทบาทในการแก้ไข

“คนส่วนใหญ่ของสังคมเห็นว่าควรจะมีเครื่องมือใหม่ ปรับปรุงเครื่องมือใหม่ ปรับปรุงธรรมนูญ ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ปรับปรุงกติกาและกลไกใหญ่ๆ ของประเทศ ให้กลายเป็นกลไกที่จะไม่นำพาไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งหากมีบรรยากาศแบบนั้น เช่น มีบรรยากาศเหมือนยุคสมัยที่เราสร้างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทุกคนมีส่วนร่วม

“... ถ้าบรรยากาศแบบนั้นเกิดขึ้น สช. และเครือข่ายของ สช. ทั้งหลาย ก็น่าจะมีบทบาทเข้าไปช่วยประเทศ ทำให้เครื่องมือเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลง เป็นเครื่องมือที่จะทำพาประเทศออกไปสู่ความขัดแย้งได้”

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2562 “นพ.ประทีป” รับมอบตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และคงไม่มีอะไรที่จะสะท้อนถึงตัวตน วิธีคิด มุมมอง และแนวทางการทำงานของ สช. ในอนาคต ได้ดีเท่ากับบทสัมภาษณ์ที่ถอดความโดยละเอียดแบบ “คำต่อคำ”

Hfocus : สช. ในยุคที่มีเลขาธิการฯ ชื่อ “ประทีป” จะไปในทิศทางไหน

ผมเข้ามารับหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาในการ “สานต่อ-ต่อยอด” จากสิ่งที่อดีตเลขาธิการฯ 2 ท่าน คือ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ได้ร่วมกับทีมงาน ในการสร้างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ไว้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ในยุคของผมคงเป็นยุคของการ “ต่อยอด” ให้งานของ สช. ที่ดีอยู่แล้ว สามารถเดินไปข้างหน้าต่อได้อย่างมีรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

มีบางคนซึ่งก็เป็นพรรคพวกกันเองได้แซวกันเล่นๆ ว่า ที่ผ่านมา สช. หนักไปทางการสร้างเวที สร้างอีเว้นท์ และสร้างวาทกรรม แต่แท้ที่จริงแล้ว งานของ สช. เป็นงานด้านการพัฒนานโยบายและการขับเคลื่อนเชิงระบบ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการพยายามทำให้เกิดรูปธรรมที่จับต้องได้ แต่ก็คงไม่ถึงกับการลงไปทำกิจกรรมเอง

ดังนั้นในยุคใหม่นี้ ภาพลักษณ์ที่อยากให้คนมอง สช. ก็คือ ถ้าเป็นเรื่องของการพัฒนาและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของงานวิชาการ (ปัญญา) และการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย รวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

ถ้าเขานึกถึงเรื่องเหล่านี้ ... ต้องนึกถึง สช.

Hfocus : แล้วทุกวันนี้ “เขา” เหล่านั้น นึกถึง สช. บ้างหรือไม่

“เขา” ในที่นี้คงหมายถึงภาคีเครือข่าย-พันธมิตรของ สช. คงไม่ได้หมายถึงประชาชนทั่วไป เพราะ สช. ไม่ใช่หน่วยงานจัดบริการเหมือนกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ใช่หน่วยงานที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิเหมือนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ สช. เป็นหน่วยงานด้านการพัฒนานโยบายและการขับเคลื่อนนโยบาย กลุ่มเป้าหมายของเราจึงเป็น “ภาคีเครือข่าย” รวมทั้งหน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจทางด้านสุขภาพ

ถามว่าแล้วเขานึกถึงเราบ้างไหม ... สิ่งที่เขานึกออกคงเป็นเรื่องของ “การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” แล้วก็ออกมาเป็นอย่างที่บอกไว้ข้างต้น คือถูกแซวว่า สช. เน้นแต่การ จัดอีเว้นท์ จัดเวที และมีวาทกรรมดีๆ เยอะ

ฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือ เราต้องยึดหลักการของเราก่อนเป็นลำดับแรก เรามีบทบาทในด้านการพัฒนานโยบายและขับเคลื่อนนโยบายเชิงระบบ ไม่ใช่เป็นบทบาทด้านการจัดบริการ ฉะนั้นต้องทำให้การขับเคลื่อนนโยบายตรงนี้ เป็นเรื่องที่จับต้องได้ มีรูปธรรม เป็นประเด็นชัดๆ ขึ้นมา

Hfocus : เพื่อให้จับต้องได้-เกิดรูปธรรมตามที่บอก จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือจัดการองค์กรใหม่หรือไม่ อย่างไร

อย่างที่บอกว่าการทำงานนับจากนี้เป็นเรื่องของการ “สานต่อและต่อยอด” ผมจึงคิดว่า 4 ประเด็นใหญ่ๆ ที่จะดำเนินการ

ประเด็นแรกคือ ที่จริงแล้ว สช. ไม่ได้เป็นหน่วยงานราชการทั่วๆ ไป แต่เป็นหน่วยงานแบบใหม่ แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานแบบใหม่นี้กลับได้รับการกระทบหรือความเสียหายจากความพยายามถูกดึงให้ไปเป็นหน่วยงานราชการแบบเก่า ซึ่งผมคิดว่าจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยถ้ากลับไปเป็นแบบนั้น

ฉะนั้น ต้องพยายามดึง สช. ให้กลับมาเป็น “หน่วยราชการแบบใหม่” ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่มีสมรรถนะสูง มีธรรมาภิบาลสูง เพื่อจะทำหน้าที่ในการเติมพลังของทุกภาคส่วนทั้งหลาย ทั้งระดับชาติ ระดับพื้นที่ ให้มาช่วยกันขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพให้ดีขึ้น

Hfocus : อยากให้ช่วยขยายความเรื่อง “หน่วยงานราชการแบบใหม่” ว่าเป็นอย่างไร

สช. ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นหน่วยงานรัฐ โดยหน่วยงานรัฐที่เรารู้จักทั่วไปก็คือระบบราชการ ก็คือกระทรวงทั้งหลาย แต่ก็จะมีหน่วยงานรัฐอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดมาในยุคหลัง เช่น องค์การมหาชน อย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งก็มีประสิทธิภาพในการจัดการ มีความเป็นอิสระ ภารกิจหลักขึ้นอยู่กับความต้องการของพื้นที่ แต่รัฐบาลยังสามารถเข้ามาดูแลกำกับทิศทางนโยบายได้

สำหรับ สช. เอง คงไม่ถึงกับเป็นองค์การมหาชน แต่ทุกวันนี้ สช. มีความเกี่ยวข้องกับ 2 กลไกสำคัญ โดยกลไกแรกคือ “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (ปัจจุบันนายกฯ มอบหมายให้รองนายกฯ คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธาน) และมีรัฐมนตรีหรือตัวแทนอีกถึง 6 กระทรวง ประกอบกับภาคส่วนต่างๆ ที่สำคัญ ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นหน่วยงานระดับ “ซูเปอร์”

กลไกนี้เทียบได้ว่าเป็น “คณะรัฐมนตรีน้อยด้านสุขภาพ” ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจในการออกกฎระเบียบ-ทิศทางการทำงานของ สช. ได้ ดังนั้นจะดึงกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้กลับมาได้ คือไม่ใช่กฎระเบียบเหมาโหลแบบระบบราชการ

สำหรับกลไกที่สองคือ “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งต้องเป็น “องค์กรจิ๋วแต่แจ๋ว” สามารถกำหนดวิธีการบริหารจัดการกำลังคน รวมทั้งกำหนดทิศทางการทำงานได้ ซึ่งแม้ว่า สช. จำเป็นต้องพึ่งงบประมาณประจำปีของรัฐบาล แต่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งตัวแทนของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งก็คือคณะกรรมการบริหาร สช. มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์แผนประจำปีได้

ดังนั้นภาพที่เกิดขึ้นก็คือ การมีบอร์ดใหญ่ซึ่งเปรียบดั่ง “ครม.น้อยด้านสุขภาพ” แล้วมีตัวแทนเป็น “บอร์ดบริหารเล็ก” ไว้กำกับการทำงาน สามารถสร้างระเบียบ สร้างความคล่องตัว เพื่อดำเนินภารกิจของ สช. ตามกฎหมายต่อไปได้ ตรงนี้ก็จะสามารถดึง สช. ให้กลับมาเป็นองค์กรของรัฐแบบใหม่ ตามที่กฎหมายออกแบบไว้ได้

Hfocus : ระยะเวลา 5 ปี ที่ สช.ถูกทำให้เป็นหน่วยงานราชการแบบเก่า เป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างไร

ประการแรกคือ สช. เป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบภารกิจเชิงนโยบาย และภารกิจเหล่านั้น สช. ไม่ได้ทำด้วยตัวเอง แต่ต้องทำร่วมกับภาคีเครือข่าย ที่สำคัญก็คือภารกิจเหล่านั้นต้องหวังผลทางการเปลี่ยนแปลง “ในระยะยาว”

ส่วนการถูกดึงให้กลับไปเป็นระบบราชการแบบเดิมๆ ที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่รัดตัวมาก และต้องหวังผลในการดำเนินการที่รวดเร็ว คือทำงานภายใต้ตัวชี้วัด KPI และต้องดำเนินการอยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบแบบเดิมๆ ที่เป็นการตรวจสอบแบบราชการ

สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ สช. ไม่สามารถทำภารกิจในเรื่องของเชิงระบบใหญ่ในแง่ของการหวังผลในระยะยาวได้ รวมทั้งเป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกับคนอื่นด้วย

Hfocus : การดึงให้ สช. กลับมาเป็นหน่วยราชการแบบใหม่คือประเด็นแรก ยังมีอีก 3 ประเด็นที่จะดำเนินการให้เกิด “รูปธรรม”

ประเด็นถัดมาหรือประเด็นที่สองก็คือ งานที่ถูกกำหนดตามกฎหมาย รวมทั้งงานทางด้านการคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของประชาชน ตรงนี้ก็จะต้องมีการดำเนินการให้ชัดเจนมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น เรื่องการแสดงเจตนารมณ์ไม่รับการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิตที่เป็นไปเพียงเพื่อการยืดอายุ หรือ มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการไปได้ดีแล้ว เดินมาได้เกือบครึ่งทางแล้ว ฉะนั้นในยุคใหม่นี้ก็จะต้องทำให้ชัดเจนขึ้น คือจะต้องทำให้ build in ฝังอยู่ในระบบการบริการที่เป็นที่ยอมรับของสังคม ของโรงพยาบาล ของบุคลากรวิชาชีพที่ให้บริการ และของผู้ป่วยและญาติ

หรืออย่างเรื่องของ HIA การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ ทั้งโครงการจากรัฐบาลกลาง-รัฐบาลในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้วระดับหนึ่ง แต่กลายเป็นว่าเครื่องมือชิ้นนี้ คล้ายๆ เป็นเครื่องมือที่ถูกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำเอาไปใช้ประโยชน์ในความขัดแย้ง

ทั้งที่จริงๆ แล้ว เครื่องมือชิ้นนี้เป็นเครื่องมือทางวิชาการ เป็นทางออกที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกัน ทำให้ความเห็นเบื้องต้นที่แตกต่างกันเดินไปสู่การพูดคุยกัน และหาทางออกที่พอที่จะเดินไปข้างหน้าร่วมกันได้ หรือเรื่องสิทธิของประชาชนในเรื่องข้อมูลด้านสุขภาพ หรือสิทธิในการรับรู้ข้อมูลการให้บริการของหน่วยบริการ ตรงนี้จะต้องจัดระบบเพิ่มเติม

สำหรับประเด็นที่สามที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ผมคิดว่าเครื่องมือสำคัญตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่มี สช. เป็นผู้ขับเคลื่อนนั้น ก็คือการสร้าง “เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” และการสร้าง “ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งตรงนี้เนื่องจากมีการดำเนินการมานาน ในยุคใหม่ก็จะต้องมีการปฏิรูปหรือปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายขึ้น

คือทำให้กระบวนการของสมัชชาสุขภาพฯ และเนื้อหาในธรรมนูญฯ มีความง่าย และต้องพยายามดึงภาคส่วนที่มีความสำคัญมากๆ ในการใช้มติสมัชชาสุขภาพฯ หรือใช้ธรรมนูญฯ นั่นก็คือหน่วยงานราชการ และภาคธุรกิจเอกชนทางด้านสุขภาพ ให้เข้ามาร่วมในกระบวนการให้มากขึ้น เพื่อที่เขาจะนำสิ่งที่ได้จากเครื่องมือนี้ไปกำหนดเป็นทิศทางของการดำเนินงานของเขา

ประเด็นสุดท้าย ประเด็นสี่ที่อยากจะทำ คือกลไกและความเข้มแข็งของภาคประชาชน โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ที่ต้องพยายามทำให้ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ ที่ไม่ใช่ธุรกิจเอกชนหรือทุนระดับชาติ สามารถรวมตัวกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งขึ้น และสามารถทำงานร่วมกับตัวแทนของภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ ในระดับอำเภอ ตำบล ให้เกิดเป็น “หุ้นส่วนของการพัฒนาประเทศไทย” ขึ้นมา

ถ้าทำได้ คือเกิดรูปธรรมการจับมือกันระหว่างการรวมตัวกันของภาคประชาชน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และของธุรกิจเอกชนในพื้นที่ เพื่อที่จะทำงานร่วมกับกลไกอำนาจรัฐส่วนกลาง ก็จะเกิดมีการกระจายอำนาจมากขึ้น ปัญหาในพื้นที่ก็จะได้รับการดูแลมากยิ่งขึ้น

Hfocus : การรวมตัวตรงนี้ ก็อยู่ในบทบาทของ สช. ในฐานะผู้เชื่อมร้อยสังคม

ผมคิดว่า เรื่องการเชื่อมร้อยสังคมนั้นมีอยู่ 2 อย่าง 1. ไม่ว่าจะอย่างไร สช. ก็ต้องมุ่งสู่การสานพลังภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพทั้งระดับพื้นที่ และระดับชาติ ผ่านเครื่องมือใหญ่ 2 ชิ้น ก็คือกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และธรรมนูญสุขภาพฯ

2. ถึงแม้เรื่องนี้ไม่ได้ถูกกำหนดตามกฎหมาย แต่ สช. ก็คงต้องเดินหน้าในการเชื่อมร้อยเครือข่าย เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยเฉพาะระดับตำบลลงไปสู่ระดับหมู่บ้าน เพื่อที่จะทำให้เครือข่ายภาคประชาชนสามารถจับมือทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาและลดความขัดแย้งของแต่ละพื้นที่

ผมคิดว่าทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาใหญ่อยู่ 2 เรื่อง หนึ่งคือเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย ระหว่างชนบทกับเมืองใหญ่ อีกหนึ่งคือความขัดแย้งในสังคมที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน ตรงส่วนนี้ สช. ก็ต้องเข้าไปมีบทบาทในการสานพลัง เพื่อให้เกิดการดำเนินการลดปัญหาในระดับตำบลและหมู่บ้านด้วย

Hfocus : เฉพาะประเด็นความขัดแย้งที่ร้าวลึกมายาวนาน สช. จะเข้าไปมีบทบาทอย่างไร

ผมคาดว่าประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง จริงๆ แล้วเรื่องนี้มีรากฐานมาจากการจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่มาปรากฏเป็นความขัดแย้งทางการเมือง และก็มีการสร้างเครื่องมือทางการเมืองต่างๆ ขึ้น ซึ่งกลับยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นอีก

ผมเข้าใจว่า เวลาที่ผ่านมาสังคมได้เรียนรู้เรื่องนี้แล้ว และคิดว่าคนส่วนใหญ่ของสังคมเห็นว่าควรจะมีเครื่องมือใหม่ ปรับปรุงเครื่องมือใหม่ ปรับปรุงธรรมนูญ ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ปรับปรุงกติกาทั้งหลาย กลไกใหญ่ๆ ของประเทศ ให้กลายเป็นกลไกที่จะไม่นำพาไปสู่ความขัดแย้ง

ฉะนั้นถ้ามีบรรยากาศแบบนั้น เช่น มีบรรยากาศเหมือนยุคสมัยที่เราสร้างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทุกคนมีส่วนร่วม ถ้าบรรยากาศแบบนั้นเกิดขึ้น สช. และเครือข่ายของ สช. ทั้งหลาย ก็น่าจะมีบทบาทเข้าไปช่วยประเทศ ทำให้เครื่องมือเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลง เป็นเครื่องมือที่จะนำพาประเทศออกจากความขัดแย้งได้

ผมคิดว่า ประเทศเราในขณะนี้กำลังหาทางออกในเรื่องความขัดแย้งอยู่ และแนวโน้มทิศทางข้างหน้าอีกไม่นาน น่าจะมีการดำเนินการของภาคส่วนต่างๆ ที่จะสร้างเครื่องมือใหม่ ผมคาดการณ์แบบนั้น

Hfocus : 1 ปีแรกเลขาฯ นพ.ประทีป จะได้เห็นอะไรบ้าง

สิ่งที่สำคัญใน 1 ปีแรก คงจะเป็นเรื่องการ “สร้างบ้าน-สร้างงาน” คือเราจะสร้างบ้านเรา สร้างองค์กรของเราให้แข็งแรงขึ้น และก็จะสร้างงานไปพร้อมๆ กัน เพื่อไปสู่เป้าหมายคือ ต้องการให้งานตามภารกิจของ สช. ประสบผลสำเร็จ เครือข่ายที่ สช. ทำงานร่วมด้วยมีความเข้มแข็ง และคนของ สช. มีความภาคภูมิใจ-มีความสุขจากการทำงานของตัวเอง

ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าเราสามารถดึง สช. ให้กลับมาเป็นหน่วยงานรัฐแบบใหม่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ จะทำให้ สช. สามารถผลิตงาน และทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และคนของเราก็จะทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน

Hfocus : ทั้งหมดที่ฉายภาพมาเป็นเชิงโครงสร้างและยุทธศาสตร์ อยากทราบในเชิง “ประเด็น” บ้าง ว่ามีประเด็นใดที่ นพ.ประทีป อยากขับเคลื่อนเป็นลำดับแรกๆ หรือไม่

แม้ว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จะกำหนดเอาไว้ชัดว่า อะไรคือสิ่งที่ สช. ต้องรับผิดชอบ และเครื่องมือทั้งหลายต้องใช้หรือต้องพัฒนาอย่างไร แต่ผมคิดว่าก็ยังมีประเด็นที่ท้าทายอยู่ 3 เรื่อง โดยทั้ง 3 เรื่องนี้ ถ้าหากดำเนินการไม่ดี ก็จะทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาได้

เรื่องที่หนึ่งคือ จากภารกิจของ สช. รวมทั้งความสำเร็จต่างๆ ต้องขึ้นอยู่กับภาคียุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะความร่วมมือของ “องค์กร ส.” ทั้งหลาย และกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนนี้ถ้าดำเนินไม่ดีก็จะกลายมาเป็นประเด็นร้อน แต่ผมคิดว่าสถานการณ์ข้างหน้านี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะทุกส่วนมีบทเรียน มีบทสรุป และมีความตั้งใจในการจับมือร่วมกันในการดำเนินงานแล้ว แต่ตรงนี้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรอบคอบเป็นที่ตั้ง

เรื่องที่สองคือ HIA หรือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตรงนี้ สช. ต้องหาทางออกและต้องสร้างเครื่องมือให้กับสังคม เป็นเครื่องมือทางวิชาการที่ต้องอาศัยความอดทน เพื่อให้หาฉันทามติที่พอจะสามารถเดินไปข้างหน้าร่วมกันได้

เรื่องที่สามคือ ถ้ามีความจำเป็น สช. คงต้องเข้าไปร่วมกับปัญหาของประเทศ คือ สช. ต้องทำงานกับเครือข่ายเพื่อที่จะช่วยแก้ไขปัญหาประเทศใน 2 เรื่องใหญ่ คือความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้ง

ตรงนี้ถ้าดำเนินการไม่ดี สช. อาจจะถูกมองว่าเป็นกลไกทางการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เราไม่ใช่กลไกทางการเมืองแบบการเมืองทั่วไป แต่เป็นการเมืองเชิงการมีส่วนร่วม เป็นการเมืองของประชาชน

Hfocus : พูดถึงเรื่องกลไกทางการเมือง อาจารย์เคยได้ยินคำพูดที่ว่า “สช.คือขุมกำลังทางการเมือง” บ้างหรือไม่

จริงๆ แล้ว สช. อยู่ภายใต้กฎหมายที่มีลักษณะเป็นอำนาจอ่อน (Soft power) ที่ไม่มีอำนาจในเรื่องการลงโทษใดๆ รวมทั้งตัวองค์กรก็เป็นองค์กรขนาดไม่ใหญ่ งบประมาณก็น้อยมาก ฉะนั้นจริงๆ แล้ว power ในด้านนี้คงไม่มี

แต่โอเค คนอาจมองว่า สช. มีเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งอาจจะกลายเป็นกลไกทางการเมือง ตรงนี้ผมคิดว่า 1. ภารกิจในการสร้างความเข้มแข็งและการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของภาคประชาชน เป็นภารกิจที่ถูกต้อง ซึ่ง สช. ต้องยืนยันเรื่องนี้ต่อไป ไม่ว่าใครจะมองอย่างไรก็ตาม

2. ในส่วนของการปฏิบัติ ในเมื่อขณะนี้ประเทศกำลังมีปัญหา สังคมมีความขัดแย้ง ประชาชนมีความเดือดร้อน สช. ในฐานะหน่วยงานมืออาชีพ และทำงานสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย ก็ต้องมีบทบาทช่วยประเทศ

โดยสรุปก็คือ ใครจะมองว่า สช. เป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร ผมจะยืนยันใน 2 หลักการนี้ เพราะเราคือองค์กรมืออาชีพ และใช้เครื่องมือที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ถ้ามีความจำเป็นต้องเข้าร่วมในการแก้ไขปัญหาบางอย่าง ก็ต้องช่วยกัน แต่ทั้งหมดต้องมีความเป็นมืออาชีพ ทำงานภายใต้เครื่องมือตามกฎหมาย และต้องไม่ไปถึงขั้นถูกมองว่ากลายเป็นกลไกทางการเมือง

Hfocus : อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 2 ท่าน มีโอกาสได้เข้าไปร่วมทำงานในบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตรงนี้อาจารย์มองว่าเป็นโอกาสหรือไม่ อย่างไร

โดยหลักทั่วไปนี่คือโอกาส เพราะว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 เขากำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ และเครื่องมือการปฏิรูปประเทศเอาไว้ โดยเขาให้บทบาทสมาชิกวุฒิสภาดูแลเรื่องนี้โดยตรง ดังนั้นถึงแม้ว่า สว. จะไม่ใช่กลไกปฏิบัติการ แต่ก็สามารถติดตามงานของกลไกปฏิบัติการได้

ดังนั้นตรงส่วนนี้ สว. มีบทบาท และ สว. ทั้งสองท่าน ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างคน-สร้างงานที่ สช. มาก่อน ดังนั้นหากมีการทำงานร่วมกันระหว่าง สว. กับ สช. ตรงนี้จะช่วยเสริมและแก้ไขปัญหาของประเทศไทยเป็นอย่างดี ซึ่งในข้อเท็จจริงก็คือเราก็มีการพูดคุย-ปรึกษาหารือกัน

ดังนั้น ผมจึงมองว่านี่คือโอกาสที่ดีในการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะดีให้กับประเทศไทย