ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อุปนายกแพทยสภาชี้แนวทางลดภาระงานหนักหมอ รพ.รัฐ ต้องเพิ่มจำนวนคนและปรับระบบบริการใหม่ สร้างความเข้มแข็งหมอครอบครัวและมีขั้นตอนส่งต่อผู้ป่วยตามลำดับ

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภาคนที่ 2 ให้ความเห็นถึงปัญหาภาระงานของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในปัจจุบันว่า แพทย์ที่ทำงานระบบของรัฐมีปริมาณงานค่อนข้างหนักเมื่อเทียบกับจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ ต้องทำงานเต็มเหยียดจนแทบไม่ได้พัก ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าแนวทางแก้ปัญหาควรทำควบคู่กันไประหว่าง1.การเพิ่มอัตราของแพทย์ในระบบบริการของรัฐ และ 2.ปรับระบบการให้บริการของภาครัฐ เน้นสร้างความเข้มแข็งของระบบแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และมีการส่งต่อผู้ป่วยเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับเพื่อลดปริมาณผู้ป่วยที่มาใช้บริการในโรงพยาบาล

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า ในส่วนของการเพิ่มอัตรากำลังแพทย์ในระบบของรัฐนั้น หากให้แพทย์ใช้เวลากับผู้ป่วย 10 นาที/คน ใน 1 ชั่วโมงก็จะดูแลได้ไม่ถึง 10 คน หรือวันละไม่กี่สิบคน แต่จำนวนที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จัดสรรมานั้นไม่เพียงพอ แพทย์ต้องดูแลผู้ป่วยวันละร้อยกว่าคน จึงไม่มีทางที่จะใช้เวลาในการตรวจรักษาให้มีคุณภาพได้เต็มที่แน่นอน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มจำนวนแพทย์ในระบบของรัฐ โดยเฉพาะสายงานที่จำเป็นหรือในจุดที่มีผู้ป่วยมาใช้บริการมาก อาทิ แพทย์ในห้องฉุกเฉิน เป็นต้น

ประเด็นต่อมาคือการลดจำนวนผู้ป่วยที่มาใช้บริการในโรงพยาบาล ปัจจุบันระบบสาธารณสุขของไทยยึดถือคนไข้มาที่ 1 และไม่ปฏิเสธคนไข้ ถือว่าเปิดรับคนไข้ตามเวลาราชการ อีกทั้งในส่วนของคนไข้เองก็สามารถไปรับการบริการอย่างอิสระ ทำให้เลือกที่จะไปรับบริการในจุดที่คิดว่าดีที่สุดหรือในจุดที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้มีผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลต่างๆ จนล้น ขณะที่ในส่วนของแพทย์เอง เมื่อรักษาก็ต้องรักษาให้เต็มที่ จะไม่ได้กินไม่ได้นอนจนกว่าคนไข้จะหมด

“ดังนั้น การแก้ปัญหาไม่ใช่แก้ที่เวลาการทำงานแต่ต้องแก้ที่ระบบทั้งหมด ต้องปรับว่าเวลาราชการจะต้องเป็นเวลาราชการจริงๆ เป็นคนไข้ที่มีการนัดหมาย ถ้าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินก็ต้องไปที่ระบบฉุกเฉิน อาการก็ต้องฉุกเฉินจริง และระบบแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว มีคลินิกที่ให้คนไข้เดินเข้ามาได้ ถ้าปรับขั้นตอนบริการให้เป็นจังหวะๆ เช่น เจ็บน้อยดูแลตัวเอง เจ็บมากขึ้นมาอีกไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือคลินิกหมอครอบครัว แล้วให้ส่งต่อผู้ป่วยตามลำดับ จาก รพ.สต.ไปโรงพยาบาลชุมชน จากโรงพยาบาลชุมชนไปโรงพยาบาลจังหวัด รวมทั้งมีระบบคิวนัดว่าโรคอะไรเข้าตอนไหน จำนวนกี่คน เราก็จะสามารถวางจำนวนคนไข้กับจำนวนแพทย์ให้พอเหมาะกับการดูแลอย่างมีคุณภาพได้” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

อย่างไรก็ดี รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า ระบบดังกล่าว ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้พยายามทำอยู่แล้วทั้งการพัฒนาระบบหมอครอบครัว และ Service Plan ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าอีกประมาณ 10 ปีถึงจะเห็นผล

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวประชาชนเองก็ต้องเข้าใจว่าปัจจุบันแพทย์มีน้อย ต้องพยายามดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุดและไม่มาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น และต้องรู้ว่าจุดแรกที่ต้องเข้ารับบริการในพื้นที่ของตัวเองอยู่ในจุดไหน

“เรื่องนี้สำคัญที่สุด ประชาชนต้องรู้ว่าถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อยอย่างเช่นเป็นหวัด ก็ไม่ควรไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่รักษาตัวเองที่บ้านดีกว่า หรือถ้าป่วยมากขึ้นก็อาจไปหาหมอที่ รพ.สต. ทาง รพ.สต.ก็จะช่วยดูว่าถ้าอาการหนักจะส่งมาโรงพยาบาล มันก็จะช่วยให้คนไข้ที่มาหาหมอเป็นคนไข้ที่ต้องการหมอจริงๆ ดังนั้น ถ้าเราทำระบบแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวตามพื้นที่ต่างๆ ให้เข้มแข็ง ก็จะทำให้ขั้นตอนการเข้าหาคนไข้กับแพทย์เป็นไปอย่างถูกจังหวะจะโคน แล้วโรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็จะดูแต่คนไข้หนักอย่างเดียว” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

ทั้งนี้ รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะพัฒนาระบบเช่นนี้ได้ สธ.ต้องพัฒนาความเข้มแข็งของหน่วยบริการในระดับชุมชนควบคู่กันไปด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนไข้เข้ารับบริการได้ด้วยความสบายใจว่าอยู่ที่ รพ.สต.หรือ โรงพยาบาลชุมชนก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาหาหมอในโรงพยาบาลจังหวัด