ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการฯ บอร์ด สปสช.ระดมสมอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ทั้งจากราชวิทยาลัย สภาวิชาชีพและสมาคมทางการแพทย์ ร่วมจัดทำข้อเสนอสิทธิประโยชน์รักษาผู้ป่วย สู่กระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความคลุมของสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้ถูกปรับปรุงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เป็นส่วนสำคัญของการจัดทำข้อเสนอเพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุม ทั่วถึง มีคุณภาพและมาตรฐานการแพทย์ รวมถึงความเหมาะสมและคุ้มค่าภายใต้งบประมาณที่จำกัด โดยมีกลไกสำคัญคือการประชุมระดมสมองเพื่อนำเสนอปัญหาและการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษา เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาได้มีการจัด “การประชุมระดมสมองเพื่อจัดลำดับความสำคัญ และสรุปข้อเสนอหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีสุขภาพเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2563 (UCBP63) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์” จัดโดยสำนักพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ทั้งจากราชวิทยาลัย สภาวิชาชีพ และสมาคมทางการแพทย์เข้าร่วม อาทิ ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมศัลยกรรมตกแต่งแห่งประเทศไทย สภากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย เป็นต้น

พญ.ประสบศรี กล่าว่า จากเวทีระดมสมองในปีนี้ได้มีหลากหลายข้อเสนอเพื่อเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาทิ การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองแตกโดยวิธีใส่ขดลวด การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันตนเอง เข็มฉีดยาชาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน การรักษาเนื้อเยื่อในแบบคงความมีชีวิต (Vital Pulp Therapy) ในฟันถาวร การเข้าถึงการตั้งครรภ์คุณภาพโดยการเข้าถึงการรักษาโรคภาวะมีบุตรยาก ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก การใช้ถุงยืดขยายผิวหนัง เพื่อรักษาแผลเป็นหดรั้ง การรักษาแผลไหม้ด้วยเนื้อเยื่อทดแทน และการเตรียมตัวเพื่อป้องกันการล้มก่อนวัยสูงอายุ เป็นต้น โดยเป็นนวัตกรรมการและเทคโนโลยีการรักษาเพื่อยกระดับการรักษาและดูแลผู้ป่วย

ทั้งนี้การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทองแต่ละปีกำหนดให้คัดเลือกข้อเสนอจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ 5 ข้อ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาร่วมกับข้อเสนอจากกลุ่มผู้ป่วยและภาคประชาสังคมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5 ข้อเช่นกัน โดยหลักเกณฑ์การพิจารณา ได้แก่ จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคหรือปัญหาสุขภาพ ความรุนแรงของโรคหรือปัญหาสุขภาพ ประสิทธิผลของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข มีแนวทางเวชปฏิบัติ ความพร้อมของระบบบริการ งบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และข้อพิจารณาความเป็นไปได้เชิงสังคมและจริยธรรม ข้อเสนอที่ผ่านการคัดเลือกจะนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์ โดยจะมีการจัดลำดับความสำคัญ ความเป็นไป การศึกษาวิจัยอย่างรอบด้านที่นำไปสู่การบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองในที่สุด

“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก แต่การจะทำให้ระบบยั่งยืนได้นั้น การจัดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งต้องสร้างความสมดุลระหว่างการเข้าถึงการรักษาที่ต้องครอบคลุมและทั่วถึง ขณะเดียวกันต้องไม่สร้างภาระงบประมาณมากเกินไป แต่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบอยู่ยั่งยืนตลอดไป” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว