ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความเจ็บป่วยของสมาชิกในบ้านเพียงแค่เพียงหนึ่งเท่านั้น ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสมาชิกคนอื่น ๆ อีกหลายคนในครอบครัว ในขณะเดียวกันนั้น คนในครอบครัวเองก็ส่งผลกระทบต่อความเจ็บป่วยของสมาชิกเช่นกัน อย่างกรณีของลุงยุทธ ที่ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องดังต่อไปนี้

ณ บ้านหลังหนึ่ง มีผู้ป่วยท่านหนึ่งชื่อ ลุงยุทธ ได้ประสบอุบัติเหตุลื่นหกล้มในห้องน้ำ ศีรษะและไหล่กระแทกพื้น ภรรยาและลูกต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แพทย์ผู้ให้การรักษาบอกกับภรรยา และลูกลุงยุทธว่า ลุงมีเลือดออกในสมองเล็กน้อย แต่ก็ยังโชคดีที่มาได้ทันเวลา ซึ่งต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากที่ได้นอนครบกำหนดแล้วแพทย์ก็อนุญาตให้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน เมื่อกลับมาถึงบ้านลุงยุทธก็ต้องนั่งรถเข็น และทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองไม่ได้เลย จึงมีก็แต่ป้าละไม ซึ่งเป็นภรรยา คอยดูแลประคบประหงมดูแลเป็นอย่างดี

แต่ด้วยบทบาทเดิมของลุงยุทธนั้น ท่านเป็นผู้นำของครอบครัวซึ่งมีบุคลิกที่เชื่อมั่นในตนเองและเป็นผู้นำมาตลอด แต่จากการเจ็บป่วยในครั้งนี้ ทำให้ท่านตกอยู่ในสภาพที่ต้องจำยอมแบบเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทำให้ท่านรู้สึกว่าตนเองนั้นไร้คุณค่าและความสามารถ บางครั้งจึงทำให้ท่านมีอารมณ์ โมโห หงุดหงิดฉุนเฉียวตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ลุงยุทธเป็นคนใจเย็น สุขุม อารมณ์ดี ชอบออกงานสังคม เป็นผู้นำกิจกรรมต่างๆ เมื่อเพื่อนๆ สมาชิกที่เคยร่วมกิจกรรมทราบข่าวก็พร้อมใจกันมาเยี่ยมเป็นประจำ พร้อมทั้งเอาเอกเอาใจท่านเป็นอย่างดี และผลจากการเอาใจใส่เกินไปนั้น นั้นกลับส่งผลในทางกลับกันจนกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ลุงยุทธยิ่งเจ็บป่วยมากขึ้น เพราะท่านไม่ต้องการให้คนมาเอาอกเอาใจมากเกินไป

จากกรณีดังกล่าวนั้นทางทีมงานเยี่ยมบ้านเมื่อได้มีโอกาสมาเยี่ยมบ้านลุงยุทธ ก็ทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ช่วยกันระดมความคิด พร้อมเข้าไปรับฟังปัญหาที่ลุงยุทธอยากระบายความในใจ ด้วยความเป็นกันเองพร้อมเข้าใจท่าน โดยจากการสังเกตพฤติกรรมและพร้อมทั้งปรับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลุงยุทธกับครอบครัว รวมทั้งหาแนวทางให้ผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแล ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันเพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงส่งผลให้ทางทีมงานได้มีโอกาสเข้าไปช่วยประสานงานให้ผู้ป่วยและญาติสื่อสารสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้จนเป็นผลสำเร็จ เป็นผลให้ครอบครัวของลุงยุทธและครอบครัว อยู่อย่างเข้าใจกัน และดูแลกันและกันได้อย่างปกติสุข

นอกจากนี้ทีมงานเยี่ยมบ้านก็ได้มีการจัดการและแนะแนวทางการปฏิบัติต่างๆ พร้อมทั้ง เพิ่มพลังใจ (Empowerment) เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติมองเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาชีวิตไปพร้อมๆ ทั้งการดูแลสุขภาพตนเอง (Self-care) และกิจกรรมด้านอื่นๆ

ข้าพเจ้าเองในฐานะเภสัชกร จึงได้มีการดูแลด้านยาและสุขภาพ มีการแนะนำการใช้ยา การติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยา การจัดเก็บยาที่ดีเพื่อคุณภาพของยา ตลอดจนการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย รวมทั้งมีส่วนช่วยในการฝึกการทำกายภาพบำบัดร่วมกับทีมนักกายภาพบำบัด

ซึ่งโดยสรุปรวมจาการประเมินพบว่า ลุงยุทธนั้นตั้งใจฝึกทำกายภาพบำบัดด้วยความมุ่งมั่น ขยันขันแข็ง เพราะท่านเองมีความคาดหวังว่า ท่านต้องหายจากความเจ็บป่วยในครั้งนี้ ท่านอยากเดินได้ อยากช่วยเหลือตัวเองได้ และที่สำคัญ ท่านอยากกลับมาช่วยงานสังคมที่ท่านรัก เพราะพื้นฐานของท่านเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือสังคมเอง และสิ่งหนึ่งที่ท่านคิดอยู่ตลอดเวลาว่าท่านต้องสู้นั้น ท่านได้กล่าวกับทางทีมงานเยี่ยมบ้านว่า “ชีวิตคนเราต้องอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง”

ท่านใช้ธรรมะข้อนั้นมาเตือนใจให้เราเข้าถึงหลักของความไม่เที่ยงของสังขาร หรืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องยอมรับมัน ให้ได้ แต่จะไม่ยอมแพ้ ทุกวันนี้ท่านอารมณ์ดี ใจเย็นขึ้น สุขุมขึ้น ร่าเริงขึ้น และกลับมาเป็นลุงยุทธคนเดิมอีกครั้งเหมือนที่ท่านเคยเป็น

ทุกๆ วันลุงยุทธสามารถจะตั้งใจฝึกเดินโดยใช้ walker ประจำกาย และเดินได้คล่องขึ้นมาก อีกทั้งทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้ดีขึ้นมาก และที่สำคัญท่านเชื่อฟังความห่วงของเภสัชกรอย่างข้าพเจ้า ท่านรับประทานยาอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งฝึกกายบริหารอย่างสม่ำเสมอ และแล้วพวกเราก็ได้เห็นรอยยิ้ม น้ำเสียง แววตา อย่างคนมีหวังกลับคืนมา

จากบทเรียนในการเยี่ยมบ้านครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้ามีได้เรียนรู้เพราะพร้อมจะเข้าใจรับฟังปัญหาของผู้ป่วยอย่างตั้งใจ อีกทั้งเข้าใจชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งการฟังอย่างตั้งใจนั้นเป็นหลักสำคัญในการสร้างความเข้าใจ และการเข้าใจที่ดีที่สุดก็คือ การเข้าใจในความทุกข์ของผู้ป่วย ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ป่วยไม่ทอดทิ้ง การทำให้ญาติของผู้ป่วยเกิดความเชื่อถือ เชื่อใจ และมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างทีมสหสาขาวิชาชีพ กับผู้ป่วยและครอบครัว

ความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะความสามัคคีของทีมงานที่ทำทุกสิ่งด้วยใจรัก อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยและญาติ จนกล่าวได้ทุกคนในทีมงานคือ “คนสำคัญ” ที่มีส่วนผลักดันงานเยี่ยมบ้านนี้ให้ลุล่วงไปด้วยดีแบบที่เรียกว่า Happy Ending นั่นเอง

ผู้เขียน : ภก.อุดมพร พึ่งผล กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง