ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แอพพลิเคชั่น “This is able” จาก สจล. 6 ฟังก์ชั่นให้คนพิการใช้ชีวิตไร้ขีดจำกัด อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการทางการได้ยิน การมองเห็น และการพูดหรือสื่อความหมาย ให้สามารถสื่อสารได้ง่ายและตรงความหมายมากขึ้น ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทบุคคลทั่วไป จากโครงการประกวดแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสำหรับผู้พิการทางการเห็น การได้ยิน หรือสื่อความหมาย โดย กสทช.

วิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พัฒนาแอพพลิเคชั่น “This is able” ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการทางการได้ยิน การมองเห็น และการพูดหรือสื่อความหมาย ให้สามารถสื่อสารได้ง่ายและตรงความหมายมากขึ้น ล่าสุดผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทบุคคลทั่วไป จากโครงการประกวดแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสำหรับผู้พิการทางการเห็น การได้ยิน หรือสื่อความหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาครอง

ผศ.ดร.เกษมสุข เสพศิริสุข

ผศ.ดร.เกษมสุข เสพศิริสุข อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “This is able” ร่วมกับ นายอรรถศาสตร์ นาคเทวัญ เปิดเผยว่า แอพพลิเคชั่นนี้พัฒนาบนระบบแอนดรอยด้วยภาษาจาวา มีการใช้ภาพร่วมกับข้อความสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ใช้ไอคอนต่างๆ สำหรับผู้พิการทางการสื่อความหมาย และใช้ Talkback เพื่อออกเสียงเมื่อกดปุ่มต่างๆ สำหรับคนพิการทางสายตา โดยความสามารถของแอพพลิเคชั่นแบ่งออกเป็น 6 โปรแกรมย่อย โดยรูปแบบการทำงานแต่ละโปรแกรมจะถูกแยกออกเป็น 6 ไอคอน แบ่งเป็น 3 แถวจากบนลงล่าง แถวละ 2 ไอคอนซ้ายและขวา ดังนี้

1. บนซ้าย – โปรแกรมบอกสีและลวดลาย

2. กลางซ้าย – โปรแกรมอ่านวันหมดอายุ

3. ล่างซ้าย – โปรแกรมอ่านเอกสาร

4. บนขวา – โปรแกรมแผนที่และการระบุตำแหน่งรอบตัว

5. กลางขวา – โปรแกรมล่ามสื่อสาร

และ 6. ล่างขวา – โปรแกรมเซนเซอร์เฝ้าระวังบ้าน

เมื่อผู้ใช้งานกดปุ่มไอคอนต่างๆ โปรแกรมจะเริ่มทำงาน โดยกดครั้งแรกจะมีเสียงบอกและกดครั้งที่สองโปรแกรมถึงเริ่มทำงานจริง จากนั้นเมื่อเข้าสู่หน้าจอการทำงานแต่ละโปรแกรมเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและใช้งาน จึงได้ออกแบบให้ทุกโปรแกรมจัดวางตำแหน่งไอคอนเหมือนกัน คือ “มุมล่างขาว” เป็นปุ่มช่วยเหลือและสอนวิธีการใช้งาน “ตรงกลาง” เป็นปุ่มโฮมกลับไปยังหน้าหลัก “มุมล่างซ้าย” เป็นปุ่มสั่งงานต่างๆ เพื่อให้ใช้งานมือเดียวได้อย่างสะดวก

ผศ.ดร.เกษมสุข อธิบายต่อว่าโปรแกรมทั้ง 6 ในแอพพลิเคชั่น ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่คนพิการต้องพบเจอกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยแต่ละโปรแกรมมีรูปแบบการทำงาน ดังนี้

1. โปรแกรมอ่านค่าสี ใช้งานด้วยการแตะหน้าจอถ้าเป็นสีพื้นจะออกเสียง “ไม่มีลวดลาย” ตามด้วยสีของวัตถุนั้นๆ แต่ถ้าเป็นสิ่งของมีลวดลายจะออกเสียง “มีลวดลาย” ตามด้วยสีของลวดลายบนวัตถุนั้นๆ แต่โปรแกรมจะจับค่าสีหลักที่กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของวัตถุไม่เกิน 3 สี ประโยชน์ของโปรแกรมนี้จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตา ได้ทราบถึงสีและลวดลายของวัตถุสิ่งของโดยเฉพาะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เพื่อให้สะดวกต่อการสวมใส่ให้เหมาะสมกับงานหรือวัฒนธรรมประเพณี

2. โปรแกรมอ่านวันหมดอายุ ใช้งานด้วยการส่องกล้องที่ฉลากสินค้าเมื่อพบข้อความ EXP. 28.05.60 จะออกเสียง “28 พฤษภาคม 2560” หรือเมื่อพบข้อความ BBF. 20/05/2017 จะออกเสียง “ยี่สิบ ศูนย์ห้า สองพันสิบเจ็ด” สามารถใช้ได้ทั้งรูปแบบวันที่ 6 และ 8 ตัวอักษร ประโยชน์ของโปรแกรมนี้จะช่วยออกเสียงบอกวันหมดอายุของสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหาร โดยกล้องจะพยายามหาตัวย่อของวันหมดอายุ เช่น EXP – Expire date หรือ BBF – Best ผู้ใช้งานอาจต้องรอให้กล้องปรับโฟกัสอัตโนมัติระหว่างอ่านค่า

3. โปรแกรมอ่านเอกสาร ใช้งานโดยการกด “ปุ่มมุมซ้ายล่าง” เพื่อเปิดโปรแกรมถ่ายรูปของสมาร์ทโฟน จากนั้นให้กดที่ชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพแล้วกดยืนยัน โปรแกรมจะส่งภาพไปคำนวณที่เซอร์เวอร์ เมื่อได้ผลกลับมาจะอ่านออกเสียงให้ผู้ใช้งานฟัง หากต้องการฟังซ้ำให้กดปุ่มอ่านอีกครั้ง ประโยชน์ของโปรแกรมนี้นอกจากช่วยให้ผู้พิการ ได้เข้าใจตัวอักษรและข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่น ฉลากยา สินค้า จดหมาย และหนังสือแล้ว ขณะเดียวกันยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออกด้วย

4. โปรแกรมแผนที่และการระบุตำแหน่งรอบตัว ใช้งานผ่านปุ่มสั่งงาน 3 ปุ่มด้านซ้ายเรียงจากล่างขึ้นบน ดังนี้ “ซ้ายล่าง” คือที่อยู่ของฉัน เมื่อกดจะออกเสียงตามตำแหน่งที่ผู้ใช้งานอยู่ เช่น “65 ซอยร่มเกล้า 25 แขวงลาดกระบัง “ซ้ายกลาง” คือที่ตั้งร้านค้า เมื่อกดจะออกเสียงบอกที่ตั้งร้านสะดวกซื้อในรัศมี 1 กม. และ “ซ้ายบน” คือที่ตั้งโรงพยาบาล เมื่อกดจะออกเสียงที่ตั้งโรงพยาบาลในรัศมี 1 กม. ประโยชน์ของโปรแกรมนี้ช่วยให้ผู้ใช้งานทราบถึงตำแหน่งปัจจุบันของตนเองแล้ว ยังช่วยให้ทราบถึงทิศทางและที่ตั้งของร้านค้าและโรงพยาบาลช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้ โดยขณะที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้โปรแกรมสามารถนำทางด้วยเสียง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการนำทางขึ้นไปอีกระดับ

5. โปรแกรมล่ามสื่อสาร ใช้งานโดยการกดปุ่มเชื่อมต่ออุปกรณ์กับ NetPie ซึ่งเป็น Cloud Platform ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ เมื่อพร้อมใช้งานจะออกเสียง “เชื่อมต่อ NetPie แล้ว จากนั้นผู้ใช้งานกดปุ่ม “กดพูด” เพื่อเริ่มต้นการสนทนา เมื่อพูดแล้วโปรแกรมจะส่งข้อความไปยังห้องสนทนา ในทางกลับกันเมื่อคนอื่นส่งข้อความมาโปรแกรมจะออกเสียงให้ฟัง ประโยชน์ของโปรแกรมนี้ช่วยให้ผู้พิการทางสายตา การได้ยิน และคนทั่วไปสื่อสารถึงกันได้สะดวกขึ้น โดยแปลงข้อความจากเสียงเป็นอักษรและจากอักษรเป็นเสียง

6. โปรแกรมเซนเซอร์เฝ้าระวังบ้าน ใช้งานโดยทำงานร่วมกับชุดเซนเซอร์ IoT เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยในบ้าน เช่น เซนเซอร์อุณหภูมิเฝ้าระวังไฟไหม้ เซนเซอร์แสงตรวจสอบการเปิดปิดหลอดไฟ เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวใช้จับการเคลื่อนไหวของคน โดยเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นภายในบ้าน ที่ตรงกับเงื่อนไขการตั้งค่าจะมีเสียงเตือนที่อุปกรณ์ เช่น “แสง 196 อุณหภูมิ 23 องศา คนเคลื่อนไหวไม่มี” เป็นต้น

“จุดประสงค์ที่ได้ร่วมกับอาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พัฒนาแอพพลิเคชั่น This is able ขึ้นมา เนื่องจากเล็งเห็นว่าทุกวันนี้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่คนมีติดตัว จึงเป็นการดีหากสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ดึงศักยภาพต่างๆ ของสมาร์ทโฟน เพื่อตอบสนองหรืออำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตประจำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการซึ่งมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ซึ่งในภาพรวมนอกจากช่วยให้ผู้พิการสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างภาคภูมิ ยังช่วยให้สื่อสารอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุขด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ สำหรับแผนการพัฒนาต่อยอดในอนาคตนั้น ขณะนี้อยู่ระว่างการพัฒนารูปแบบการทำงานแต่ละโปรแกรม ให้สามารถทำงานเสถียรและใช้งานได้ง่ายขึ้น” ผศ.ดร.เกษมสุข กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง