ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.และนายกฯ ออกคำสั่งมาตรา 44 คุ้มครอง สปสช.ซื้อยาพิเศษได้ถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (ดู ที่นี่) เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 41/2560 เรื่องการบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีรายละเอียดดังนี้

การบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ผ่านมา สามารถทำให้ผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาราคาแพงหรือต้องใช้ยาต้านพิษ ผู้ป่วยโรคไต แต่เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวมีเหตุขัดข้องบางประการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ สปสช. รวมทั้งการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเรื่องดังกล่าวที่เคยทำมาแล้ว เพราะถูกทักท้วงจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ตามโครงการพิเศษไม่อาจทำได้อย่างทั่วถึง ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศ

ซึ่งแม้มีความพยายามแก้ไขปัญหาโดยเสนอให้มอบอำนาจจากหน่วยบริการ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยบริการ เพื่อให้การจัดหาและบริหารจัดการงบประมาณในการจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่จากการที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมานาน การที่จะเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการในระยะเวลาที่เหลือในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ย่อมไม่อาจทำได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการขึ้นเป็นพิเศษเพื่อรองรับการจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามโครงการพิเศษดังกล่าว เพื่อไม่ให้งานบริการสาธารณสุขต้องหยุดชะงักหรือล่าช้า

หัวหน้า คสช.จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มีคำสั่งดังนี้

1.ให้บอร์ด สปสช.มอบหมายให้ สปสช.จัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนให้แก่หน่วยบริการ โดยใช้วิธีการซื้อ การซื้อเชื่อ หรือการยืม เฉพาะเท่าที่จำเป็นตามโครงการพิเศษจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตามที่เคยทำมาแล้ว จนถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2560

2.ให้ อภ.มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ตามสัญญาหรือข้อตกลงหรือหนังสือยืมที่จัดทำไว้กับ สปสช.

3.ให้การจัดหาโดยการซื้อ การซื้อเชื่อ การยืม การตรวจรับ การควบคุม และการจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เฉพาะที่จำเป็นตามโครงการพิเศษที่บอร์ดสปสช., สปสช. หรือองค์กรอื่นที่ได้รับมอบหมายจาก สปสช.ทำก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ รวมทั้งการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นค่ายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามเงื่อนไขที่บอร์ด สปสช.กำหนด ซึ่งทำไปแล้วโดยเปิดเผยและสุจริต ถือเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของบอร์ด สปสช.และ สปสช. อีกทั้งเป็นค่าใช้จ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯตามคำสั่งนี้ด้วย

4.ให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาในการจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างเป็นระบบในระยะยาว ให้เสร็จโดยเร็ว รวมทั้งจัดให้คณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยบริการ กำหนดแนวทางการจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงกำหนดมาตรการไม่ให้นำเงินที่ได้รับจากการจัดหาไปใช้ในการอื่นนอกจากการจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนให้แก่หน่วยบริการ เป็นไปอย่างคุ้มค่า เหมาะสม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแตวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 13 กันยายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 ว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงผลการประชุม คสช.เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ว่า ที่ประชุม คสช.ได้หารือเกี่ยวกับการจัดซื้อยาที่มีความจำเป็นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งวันนี้เราจะออก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยังมีปัญหาอยู่คือยาของเดิมที่ซื้ออยู่จะทำอย่างไรให้มียาใช้ทันเวลา โดยจะออกคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44

ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า การประชุม คสช. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 เพื่อให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถบริหารจัดการยาเวชภัณฑ์อวัยวะเทียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามโครงการพิเศษ หรือการจัดซื้อจัดหายาพิเศษ เช่น น้ำยาล้างไต ยาโรคเอดส์ ยากำพร้า ที่ทางการแพทย์ไม่ซื้อยามาสะสมไว้ เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนไม่มาก สามารถดำเนินการช่วงระยะเวลาที่เหลือของเดือนกันยายน 2560 ตั้งแต่ 12-30 กันยายน 2560 หลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ติติงและขู่จะดำเนินการทางกฎหมายหากยังดำเนินการต่อ เพราะ สปสช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อจัดหาได้ตามระเบียบและกฎหมาย คสช.จึงอนุญาตตามที่ร้องขอมา