ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 ผศ. (พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า คณะกรรมการทันตแพทยสภาได้ประชุมเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 และมีมติกรณี ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ ไม่ชำระหนี้รัฐบาลไทยหลังได้รับทุนไปศึกษาหลังปริญญาทางด้านทันตกรรมให้ลงโทษเพิกถอนใบอนุญาต ทพญ.ดลฤดี เนื่องจากประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2538 หมวด 1 ข้อ 2 และ 3 ขณะเดียวกันได้แต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติการเป็นสมาชิกทันตแพทยสภาของ ทพญ.ดลฤดี กรณีประพฤติเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพทันตกรรม โดยขั้นตอนต่อไปจากนี้ ทันตแพทยสภาจะเสนอมติดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะสภานายกพิเศษแห่งทันตแพทยสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนจัดทำเป็นคำสั่งทางปกครองต่อไป

ผศ. (พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ

นายกทันตแพทยสภา กล่าวต่อว่า จากพฤติการณ์ของ ทพญ.ดลฤดี ที่ลาออกขณะที่ยังใช้ทุนไม่ครบตามสัญญา จึงต้องชดใช้เงินแก่มหาวิทยาลัยมหิดลและสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา 3 สัญญาจำนวนกว่า 24 ล้านบาท และต้องชดใช้ภายใน 30 วัน แต่ไม่มีการนำเงินไปชำระ ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องชดใช้เงินตามคำพิพากษาแต่ ทพญ.ดลฤดี มิได้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว ทำให้ผู้ค้ำประกันทั้งหมดได้รับความเดือดร้อนและต้องชดใช้เงินแทน

ผศ. (พิเศษ) ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ในการดำเนินการของทันตแพทยสภา ทางคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ เห็นว่าการกระทำของ ทพญ.ดลฤดี เข้าข่ายประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม ตามข้อบังคับทันตแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2538 หมวด 1 ข้อ 2 และข้อ 3 คดีมีมูลจึงส่งเรื่องให้อนุกรรมการสอบสวนดำเนินการ ความเห็นของคณะอนุกรรมการสอบสวนเห็นว่า การกระทำของ ทพญ.ดลฤดี เป็นการประพฤติเสียหายนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพอันเป็นการขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกของทันตแพทยสภาตามมาตรา 12 (3) แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 จึงเห็นสมควรให้เพิกถอนใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมของ ทพญ.ดลฤดี

ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์

ทั้งนี้ ผลการสอบสวนของอนุกรรมการสอบสวน พบว่า การที่ ทพญ.ดลฤดี มิได้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวทำให้ผู้ค้ำประกันทั้งหมดได้รับความเดือดร้อนและต้องชดใช้เงินแทนตามคำพิพากษา ผู้ค้ำประกันบางท่านเป็นอาจารย์ที่เคยสอน ทพญ.ดลฤดี เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ บางท่านเป็นเพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนร่วมวิชาชีพ ซึ่งไว้เนื้อเชื่อใจและยินยอมค้ำประกันให้ โดยหวังว่า ทพญ.ดลฤดีจะกลับมารับราชการใช้ทุนและทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ แต่กลับทำให้ผู้ค้ำประกันได้รับความเดือดร้อนต้องหาเงินมาใช้หนี้แทน และเมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ผู้ค้ำประกันได้พยายามติดต่อให้ ทพญ.ดลฤดีมาชำระหนี้ แต่ ทพญ.ดลฤดีบ่ายเบี่ยงที่จะชำระหนี้ อ้างว่าไม่มีเงินทั้งที่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ จนกระทั่งมีการบังคับคดีกับผู้ค้ำประกัน ทพญ.ดลฤดี รับปากว่าหากจำหน่ายทรัพย์สินที่ต่างประเทศได้ จะนำเงินมาคืนให้ผู้ค้ำประกัน แต่เมื่อจำหน่ายได้กลับไม่นำเงินมาชำระหนี้ เป็นการหลอกลวงผู้ค้ำประกันให้หลงเชื่อ ถือเป็นการฉ้อโกง จึงถือได้ว่า พฤติกรรมของ ทพญ.ดลฤดี สร้างความเสื่อมเสียแก่วิชาชีพ ไม่มีความรับผิดชอบต่อสัคม ไม่เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศ สร้างความเสียหายให้กับประเทศ