ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลวิจัยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์-มหาวิทยาลัยโตเกียวพบ ไทยมีผู้ป่วยจากเชื้อวัณโรคหลากหลายสายพันธุ์ แต่ละสายมีปฏิสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันของคนไม่เหมือนกัน อาจควบคุมวัณโรคได้ยากกว่าประเทศอื่น ที่มักพบผู้ป่วยวัณโรคจากเชื้อเพียงสายพันธุ์เดียว

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า เว็บไซต์ www.genomeweb.com ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอผลงานวิจัยและวิชาการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้เผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยด้านวัณโรค ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยระบุว่าในประเทศไทยมีเชื้อวัณโรคที่พบบ่อย 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ปักกิ่งและสายพันธุ์แอฟริกาตะวันออกและอินเดีย ซึ่งสายพันธุ์ปักกิ่งมักพบได้ในผู้ป่วยวัยทำงาน ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาตะวันออกและอินเดีย มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

การศึกษาทางระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ ทำให้ทราบว่าผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อวัณโรคคนละสายพันธุ์มีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ผู้ป่วยจากเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ปักกิ่ง มักมียีน HLA-DRB1*09:01 ซึ่งเป็นยีนที่พบได้บ่อยในคนเอเชียและทำหน้าที่ในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแบคทีเรีย

ในขณะที่ผู้ที่ป่วยจากเชื้อวัณโรคสายพันธุ์แอฟริกาตะวันออกและอินเดีย มักจะพบยีน CD53 ทำงานไม่เหมือนกับคนปกติ ซึ่งแสดงว่าเชื้อวัณโรคทั้งสองสายพันธุ์มีกลไกในการก่อโรคที่แตกต่างกัน ทำให้คนที่ป่วยเป็นวัณโรคจากเชื้อสายพันธุ์หนึ่งและรักษาจนหายแล้วยังมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคซ้ำจากเชื้อสายพันธุ์อื่นได้อีก สำหรับประเทศไทยและประเทศแถบอาเซียน พบผู้ป่วยจากเชื้อวัณโรคหลากหลาย สายพันธุ์ ทำให้ควบคุมโรคได้ยากกว่าประเทศอื่นที่มักพบผู้ป่วยวัณโรคจากเชื้อเพียงสายพันธุ์เดียว

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ความหลากหลายทางสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคที่ระบาดในประเทศไทย ทำให้การควบคุมวัณโรคยากลำบากกว่าประเทศอื่น โดยการยุติวัณโรคในประเทศที่มีเชื้อวัณโรคหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องใช้มาตรการเชิงรุก ได้แก่ การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการ การคัดกรองผู้สัมผัสโรคอย่างเป็นระบบและรักษาวัณโรคแฝงในเด็ก ซึ่งเป็นมาตรการคัดกรองโรคที่มีประสิทธิภาพและเป็นตัวชี้วัดสำคัญ สำหรับกลยุทธ์ยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลก ซึ่งประเทศไทยจะต้องรายงานตัวชี้วัดนี้ทุกปี ดังนั้นการค้นหาและตรวจพบผู้ป่วยที่แพร่เชื้อได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการจะช่วยลดการแพร่เชื้อวัณโรคได้ทุกสายพันธุ์และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัณโรคลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวในการวิจัยด้านวัณโรคและได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก Japan International Cooperation Agency (JICA) ประเทศไทย และ Japan Agency for Medical Research and Development (AMED) จนได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค ประกอบไปด้วย การตรวจเลือดเพื่อประเมินการแสดงออกของยีนที่ช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อวัณโรค การถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคเพื่อการประเมินภาวะดื้อต่อยาต้านวัณโรค วิธีตรวจระดับยาต้านวัณโรคเพื่อประเมินขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสม และการตรวจพันธุกรรม เพื่อปรับขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสมกับลักษณะพันธุกรรมทำให้การวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้น สามารถเลือกใช้ยาและปรับขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้นและลดการเกิดผลข้างเคียงจากยาต้านวัณโรค” นพ.สุขุม กล่าว