ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเอดส์หยุดกินยาต้านไวรัส เนื่องจากหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งสามารถรักษาโรคเอดส์ได้ อย. เตือนอย่าหลงเชื่อนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารักษาโรคเพราะทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษา และหากผลิตภัณฑ์นั้นมีการปลอมปนยาแผนปัจจุบัน อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซ้ำร้ายอาจถึงแก่ชีวิตได้ ที่ผ่านมา อย.มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายแล้วมากกว่า 1,400 ราย

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเอดส์ หยุดกินยาต้านไวรัส เนื่องจากหลงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งสามารถรักษาโรคเอดส์ได้นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า อย.ไม่เคยอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคเอดส์ได้ ขอประชาชนอย่าได้หลงเชื่อและผู้ป่วยโรคเอดส์ไม่ควรหยุดใช้ยาเอง ควรรับประทานยาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัดพูลลาภ

ทั้งนี้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคเอดส์หรือรักษาโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ไต ตา สะเก็ดเงิน เป็นต้น ที่ผ่านมา อย. ได้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด (ผู้จำหน่าย ผู้ผลิต พิธีกร และ ผู้ดำเนินรายการ) ตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 1,400 ราย แต่ก็ยังพบการโฆษณาอยู่ ซึ่ง อย.ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องดังกล่าว ได้มีการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวัง โดยเฉพาะทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้ขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานให้บริการอินเทอร์เน็ต (Google, Line, Facebook) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานความร่วมมือในการระงับการโฆษณา รวมทั้งแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อตรวจสอบการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง

สำหรับตัวผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณารักษาโรคเอดส์ อย.ได้ดำเนินการแจ้งระงับการโฆษณาดังกล่าว และยังได้รับข้อมูลเบื้องต้นจากผู้เชี่ยวชาญว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ได้ ทั้งนี้ อย.จะเร่งดำเนินการตามกฎหมาย หากเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อ โดยไม่สมควรจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังอย่าหลงเชื่อนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารักษาโรค เพราะทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษา และหากผลิตภัณฑ์นั้นมีการปลอมปนยา แผนปัจจุบัน อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซ้ำร้ายอาจถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ อย. ขอความร่วมมือ หากพบเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่ อย. โดยตรง ทางสายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือ สายด่วน บก.ปคบ. 1135 เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด