ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน แนะผู้ป่วยที่มีเริ่มมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือดพกยาไอเอสดีเอ็นอมใต้ลิ้น ช่วยป้องกันไม่ให้ซ้ำรอย “โจ บอยสเกาท์” หัวใจวายเฉียบพลัน ชี้ถึงเวลาที่คนไทยควรเรียนรู้เรื่องการแจ้งเหตุและร่วมพัฒนาระบบการช่วยฟื้นคืนชีพที่เหมาะสม ทันเวลา

ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ได้กล่าวแสดงความเสียใจถึงกรณีการเสียชีวิตของ โจ บอยสเกาท์ หรือนายธนัท ฉิมท้วม ขณะแสดงคอนเสิร์ต และเสนอว่า ควรจะนำการสูญเสียครั้งนี้มาเป็นบทเรียนในการพัฒนา จากข่าวที่ระบุว่า ผู้เสียมีชีวิตมีน้ำตาลในเลือดสูงถึง 300 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรนั้น ตนมองว่า ผู้เสียชีวิตน่าจะเป็นจากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ส่วนน้ำตาลในเลือดที่สูงนั้นไม่ได้ทำให้คนตายได้ แต่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบตัน

ทั้งนี้ในการช่วยเหลือ หากเราพบว่าผู้ป่วยมีอาการหยุดหายใจควรทำการปั๊มหัวใจ (CPR) ทันที และรีบเรียกหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินทันที หรือโทรเบอร์ 1669 แต่กว่ารถฉุกเฉินจะมาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาทีขึ้นไป ดังนั้นการทำ CPR จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด ดังนั้นการสอนให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุเพื่อตามรถฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและการช่วยฟื้นคืนชีพ หรือ CPR ระหว่างการรอรถฉุกเฉิน จะมีโอกาสเพิ่มความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ป่วย

นอกจากนี้ ในไทยพบว่าเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 45 ของการเสียชีวิตเฉียบพลัน เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งโรคนี้มักเกิดขึ้นทันทีแบบเฉียบพลัน

“ที่ผ่านมาทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เคยแนะนำให้คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่มีเริ่มมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือด ให้พกยาแก้อาการหัวใจขาดเลือด หรือยาไอเอสดีเอ็น (ISDN) ที่จะใช้อมไว้ใต้ลิ้น เมื่อเกิดอาการ แน่น จุกอก หายใจไม่ออก ก่อนที่จะหมดสติ หรือชัก ให้รีบอมยาไว้ใต้ลิ้นทันที ก็จะยิ่งทำให้มีโอกาสรอดชีวิตได้” ศ.นพ.สันต์ กล่าว

ศ.นพ.สันต์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมและ ป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมา เพื่อพยายามผลักดันให้เกิดเป็นหลักสูตรในกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง ตั้งแต่การป้องกันและให้มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ ตลอดจนสอนเรื่องการกู้ชีพฉุกเฉินขึ้น โดยมุ่งหวังให้เยาวชนไทยจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และผู้ที่มีอายุยืนยาวที่มีคุณภาพ และหากพบผู้ป่วยฉุกเฉิน ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้