ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘จ่าพิชิต’ ชี้ หน่วยบริการต้องทำงานเชิงรุกชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องผ่านสังคมออนไลน์ หวั่นข่าวลือขยายวง เกิดความเข้าใจผิดในข้อมูลสุขภาพ ระบุ ต้องสื่อสารให้เหมาะสมกับธรรมชาติคนไทย ใช้บันเทิงนำ-สอดแทรกสาระเพื่อเข้าถึง

เพจ Drama-addict

นพ.วิทวัส ศิริประชัย เจ้าของเพจ Drama-addict หรือจ่าพิชิต ขจัดพาลชน ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.8 ล้านราย กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ Chat & Share : รู้ทันสื่อออนไลน์ คุ้มครองเขา คุ้มครองเรา ซึ่งอยู่ภายในงานการสัมมนาเครือข่ายคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการ ประจำปี 2561 ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2560 ตอนหนึ่งว่า การเกิดขึ้นของสื่อใหม่นำมาซึ่งปัญหาหลากหลาย เช่น เมื่อเกิดความไม่พึงพอใจในการรับบริการก็สามารถที่จะส่งผ่านข้อมูลนั้นออกสู่สาธารณะได้ทันที คือขณะนี้ใครก็สามารถเป็นผู้นำเสนอข้อมูลได้ ซึ่งบางครั้งส่งผลให้รายละเอียดในวิชาชีพผิดเพี้ยนไป

นพ.วิทวัส กล่าวว่า ธรรมชาติเมื่อเกิดความไม่พึงพอใจหรือเกิดการด่าในสังคมออนไลน์ จะไม่ใช่การด่าเฉพาะเคสที่เกิดขึ้น หากแต่จะมีผู้นำเอาประสบการณ์ร่วมของตัวเองเข้าไปผสมด้วย เช่น หากได้รับการบริการที่ไม่พอใจ ก็อาจจะมีผู้ผสมความไม่พึงพอใจในระบบสาธารณสุขอื่นๆ เข้าไปด้วย

จ่าพิชิต ขจัดพาลชน กล่าวยกตัวอย่างว่า เคยมีกรณีที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลโดยต้องการใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่อาการที่แท้จริงไม่ถึงขั้นวิกฤตชีวิตหรือไม่ถึงขั้นป่วยฉุกเฉิน เมื่อแพทย์ไปอธิบายก็รู้สึกไม่พอใจและอาละวาดต่างๆ นานา สุดท้ายก็ไปโพสต์ในออนไลน์ว่าถูกโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา ซึ่งระยะเวลาไม่นานก็มีการแชร์ข้อมูลออกไปมหาศาล กระทั่งเพจใหญ่เพจหนึ่งนำไปเสนอต่อ

“วิธีการแก้ปัญหาของหน่วยบริการนั้นน่าสนใจมาก คือเมื่อทราบเรื่องแล้วก็ได้จัดทีมแสวงหาข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วเขาก็ได้ส่งคนไปชี้แจงกับเพจใหญ่ดังกล่าวอย่างเป็นระบบด้วยความรวดเร็ว จนสุดท้ายก็สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงของตัวเองออกไป และกระแสก็ตีกลับไปยังผู้โพสต์” นพ.วิทวัส กล่าว

นพ.วิทวัส ยกตัวอย่างอีกว่า ความเข้าใจผิดในสังคมออนไลน์หากปล่อยให้นานๆ จะนำมาซึ่งข่าวลือต่อๆ กัน จนเกิดผลเสียอย่างรุนแรง เช่น กรณีผู้ปกครองพาเด็กเป็นไข้ 39 องศาเซลเซียสมาที่โรงพยาบาล พยาบาลก็บอกให้กลับไปเช็ดตัว ซึ่งแน่นอนว่าผู้ปกครองก็ด่าทอ โวยวายว่าทำไมไม่ยอมให้บุตรแอดมิทที่โรงพยาบาล ผู้ปกครองก็จะมองว่าบุตรป่วยหนักจะตายอยู่แล้วทำไมจึงไม่รักษา ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่

นพ.วิทวัส กล่าวว่า หากปล่อยให้มีการแชร์เคสนี้ไปมากๆ โดยที่ไม่ได้แก้ไข สังคมนี้ก็จะเกิดความเข้าใจผิดว่าหากเด็กมีไข้ 39 องศาฯ จำเป็นต้องแอดมิทที่โรงพยาบาล ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทันท่วงทีหรือทำงานเชิงรุก รวมไปถึงเรื่องของระบบด้วย อะไรคือภาวะฉุกเฉิน หรือโรคใดที่สามารถกินยาเองที่บ้านได้ โรคไหนที่อันตรายหรืออาการใดต้องแอดมิท

“ผมคิดว่าในยุคนี้ การสื่อสารแบบเก่าๆ ของหน่วยงานรัฐคงไม่ใช่อีกแล้ว อย่างเรื่องระดับของภาษา คือด้วยนิสัยคนไทยที่ทะลึ่ง ทะเล้น ถ้าจะมาสุภาพผมคิดว่ามันน่ารำคาญ ฉะนั้นควรต้องเสนอให้เข้าถึงจริงๆ หรือคนไทยชอบความบันเทิง อย่างแรกคือเราต้องสร้างความบันเทิงให้เขาก่อน จากนั้นค่อยสอดแทรกความรู้เข้าไป คนไทยไม่ค่อยชอบอ่านอะไรที่มีสาระมันเข้าใจยาก ฉะนั้นเราก็ต้องหาวิธีสอดแทรกสาระเข้าไปจากความบันเทิง” นพ.วิทวัส กล่าว