ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“การการุณยฆาต” มักจะเกิดขึ้นจากการร้องขอของผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หายแล้ว โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับความทรมาน -ความเจ็บปวด จากอาการป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งจะรุนแรงจนไม่ไหว จึงร้องขอที่จะทำการุณยฆาตให้ตัวเองพ้นทุกข์

ทั่วโลกมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ให้การรับรองว่าการการุณยฆาตเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่ในประเทศไทยยังไม่ให้การรับรอง นั่นหมายความว่าใครก็ตามที่หยิบยื่นความตายให้แก่ผู้อื่นจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยกฎหมายจะมองว่าผู้นั้นมีเจตนาฆ่า

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ยอมรับการุณยฆาต แต่กฎหมายก็ได้เปิดช่องให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงกับความทุกข์ทรมานเหล่านั้นด้วยการใช้สิทธิมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ให้สิทธิให้ทุกคนสามารถทำ “หนังสือแสดงเจตนา” ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

นั่นหมายความว่า เราสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ก่อนได้เลยว่า ถ้าถึงจุดที่เราป่วยระยะสุดท้าย เราขอปฏิเสธการรักษาเพียงเพื่อยื้อชีวิต แต่เราจะเข้ารับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งก็คือการดูแลให้ผู้ป่วยอยู่กับอาการป่วยอย่าง “เป็นสุข” ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดรุนแรง ก็ทำให้เขาเข้าถึงยาระงับอาการปวดที่มีประสิทธิภาพ หรือหากผู้ป่วยมีเรื่องที่ค้างคาใจอยู่ก็ต้องช่ วยหาวิธีสะสางให้เขา

การดูแลด้วยวิธีนี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีความสุขสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ร่วมกับอาการป่วยในระยะสุดท้ายได้อย่างมีความสุข นั่นหมายความว่าเขาไม่จำเป็นต้อง “เร่งตาย” หรือทำการุณยฆาต แต่เมื่อถึงระยะสุดท้ายของชีวิตจริงๆ ก็พร้อมจะจากไป “ตามธรรมชาติ” โดยไม่มีเหตุให้ต้อง “ยื้อชีวิต” ด้วยสายระโยงระยาง หรือหัตถการทางการแพทย์อีกต่อ

เพื่อความเข้าใจที่สอดคล้อง ทั้งสภาพของสังคมและแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่เหมาะควร สำนักข่าว Hfocus ได้พูดคุยกับ นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน แอดมินเพจ Drama-addict ในประเด็น “เร่งตาย vs เลือกตาย สิทธิในวาระสุดท้าย ใครกำหนด ?”

----- โพล Drama-addict คนไทยหนุนการุณยฆาต 95% -----

เมื่อเกิดการการุณยฆาตขึ้นตามหน้าสื่อ ที่ผ่านมาคนไทยจะให้ความสนใจช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะไม่มากเท่ากับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด ส่วนตัวคิดว่าที่เป็นประเด็นขึ้นมาเพราะเกี่ยวข้องกับคนไทยที่เดินทางไปการุณยฆาตในต่างประเทศ

ทั้งนี้ หากไปอ่านความคิดเห็น (Comment) ในเพจ Drama-addict ในประเด็นดังกล่าว จะพบว่าสาเหตุที่คนให้ความสนใจเนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว บางคนมีประสบการณ์ร่วม เช่นมีญาติหรือคนรักป่วยและได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งเช่นกัน

ที่สำคัญ ทิศทางการแสดงความคิดเห็นโดยส่วนใหญ่เป็นไปทางเดียวกันคืออยากให้ประเทศไทยมีการทำการุณยฆาตอย่างถูกต้อง ซึ่งจากการทำโพลในเพจ Drama-addict ที่มีคนเข้ามาโหวตมากกว่า 5 หมื่นโหวต พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับการการุณยฆาตมากถึง 95% ขณะที่ผลสำรวจของสื่ออื่นๆ ก็พบว่าความเห็นไปทางเดียวกันคือ เห็นด้วย 80-90% นั่นสะท้อนว่าสังคมไทยมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และควรจะขับเคลื่อนแล้ว

----- Gen เปลี่ยน ให้ความสำคัญ ‘บาปบุญ’ น้อยลง -----

“จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมก็มีประเด็นกังวลว่าพอเกิดเรื่องนี้ขึ้นอาจจะมีประเด็นโต้เถียง เช่นอาจจะบอกว่ามันไม่ควรทำ เราเป็นเมืองพุทธ บาป แต่วันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว สังคมไทยพร้อมที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะเราแทบไม่เห็นการโต้เถียงกันในประเด็นนี้เลย

“เราเปลี่ยนเจนเนอเรชั่นมา พอมาเจนเนอเรชั่นนี้ความคิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบาปบุญอาจไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเหมือนกับคนยุคก่อน คืออาจจะมองเห็นประเด็นอื่นสำคัญมากกว่า เช่น ความทุกข์ ความสุข คุณภาพชีวิตของคนไข้ ความทรมานของเขา สภาพจิตใจของคนในครอบครัว ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่คนหยิบขึ้นมาพูดกันเยอะมาก ในขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับบาปบุญแทบไม่มีเลย”

ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะที่ผ่านมาเวลาเราจะขับเคลื่อนประเด็นที่หมิ่นเหม่ เช่น การทำแท้ง ควรให้มีการทำแท้งตามเศรษฐานะแบบที่ต่างประเทศเขาทำกันหรือไม่ ทุกครั้งเมื่อมีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาก็จะมีคนโต้แย้งประเด็นเกี่ยวกับเรื่องบาปบุญโดยทันที ซึ่งมันทำให้ในหลายๆ ประเด็นที่ควรจะขับเคลื่อนกลับไปได้ไม่ถึงไหน

----- ถ้ารู้จัก Palliative care อาจไม่ต้อง ‘การุณยฆาต’ -----

“มีประเด็นหนึ่งที่สังเกตได้ คือผู้ที่มาแสดงความคิดเห็นในเรื่องการุณยฆาตนี้จะไม่รู้จักวิธีการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะสมัยผมเรียนแพทย์เมื่อราวๆ 10 ปีก่อน ก็มีการสอนเรื่อง Palliative care เยอะมาก และเราก็พยายามประชาสัมพันธ์ แต่ผ่านมากว่า 10 ปี คนไทยก็ยังไม่รู้จักเรื่องนี้

“เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราสามารถพาคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายไปรักษาได้ที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านได้ ไปขอยืมถังออกซิเจนได้ ไปขอยาลดอาการปวดได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นผมคิดว่าก่อนที่เราจะไปถึงประเด็นการทำการุณยฆาต ถ้าเราให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำ Palliative care ให้คนไทยรู้อย่างทั่วถึงว่าเขามีสิทธิอะไรบ้างในการเข้าถึงการรักษาในแง่นี้ ผมคิดว่าน่าจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับเขาได้มากขึ้น โดยอาจไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้นการุณยฆาตก็ได้”

ที่จริงแล้วการรักษามี 2 แบบ คือการรักษาที่หวังให้หาย เช่น ถ้าเป็นมะเร็งที่อยู่ในระยะไม่รุนแรงมาก ก็อาจใช้การผ่าตัด เคมีบำบัด การให้ฮอร์โมน เพื่อให้หายขาดจากโรคนั้น แต่ในกรณีที่เราไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เราก็สามารถรักษาแบบประคับประคอง หรือ Palliative care คือการลดอาการปวด ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เหนื่อย กินข้าวได้ กินอิ่ม นอนหลับ ไม่เกิดผลแทรกซ้อนต่างๆ หรือทำให้เกิดน้อยที่สุด เพื่อให้เขาจากไปอย่างสงบที่สุดเท่าที่ทำได้

การรักษาแบบประคับประคองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนไข้ไปถึงบั้นปลายโดยมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นกัน เพียงแต่คนยังไม่รู้จัก

----- สอดแทรกเนื้อหาผ่าน ‘ละคร’ เพื่อเข้าถึงคน -----

สาเหตุที่คนไม่รู้จักอาจเป็นเพราะสื่อไม่ค่อยให้ความสนใจ สื่อบ้านเราเวลานำเสนอชอบไปนำเสนอยาเทวดารักษามะเร็ง ซึ่งในหลายเจ้าที่สื่อนำมาประโคมกันนั้นไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าสามารถรักษามะเร็งได้ แต่สื่อก็ประโคมกันแบบเป็นข่าวกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่พอเรื่องที่สามารถช่วยคนไข้ได้จริงๆ อย่าง Palliative care กลับไม่ค่อยมีใครสนใจ อาจเป็นเพราะมันไม่หวือหวา

“ผมอยากฝากถึงสื่อด้วยว่าอยากให้สื่อเสนอผ่านละคร เอาประเด็นเรื่องนี้ไปนำเสนอบ้าง หรือการ์ตูนแบบของญี่ปุ่น มีคนไข้เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แต่เขาตัดสินใจที่จะไม่รักษาต่อ เลือกที่จะรับยาแก้ปวดและกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวในระยะสุดท้ายอย่างเต็มที่

“ผมคิดว่าถ้าสื่อนำเสนอแบบนั้นบ้างผ่านละคร จะช่วยให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้มากขึ้น”

เรื่องการุณยฆาตหรือมะเร็งระยะสุดท้าย มีหลังไมค์มาปรึกษาบ่อยมาก เขามาปรึกษาว่าป่วยเป็นมะเร็งระยะสาม ระยะสี่แล้ว มีคนแนะนำไปหายาสมุนไพรเจ้านั้นมากินดีไหม ควรจะเลิกรักษากับหมอแผนปัจจุบันหรือไม่ ส่วนใหญ่จะขอความเห็นประมาณนี้ เท่าที่สังเกตพบว่าคนมักจะได้รับอิทธิพลจากสื่อค่อนข้างเยอะ เช่น สื่อโฆษณาอวดอ้าง หรือฟังเพื่อนบ้านว่าไปรักษาตรงนั้นมาแล้วอาการดีขึ้น ตรงนี้ก็น่าห่วงเพราะเขาเสียโอกาสในการรักษาแบบประคับประคอง

“รู้สึกว่าคนไข้หลังๆ ให้ความเชื่อถือกับแพทย์น้อยลง และไปให้ความเชื่อถือกับอะไรไม่รู้ อย่างผมเมื่อก่อนเป็นหมอก็จริง แต่ทุกวันนี้ก็เลิกทำงานอาชีพหมอมา 2-3 ปีแล้ว แทนที่คนไข้จะไปปรึกษากับหมอที่เขารักษาอยู่ กลายเป็นว่าทำไมมาถามผม ซึ่งจริงๆ แล้วผมเป็นคนนอก แล้วก็ไม่ใช่หมอเฉพาะทาง ไม่ใช่เจ้าของไข้ และก็ไม่ได้มีข้อมูลที่ดีไปกว่าแพทย์เจ้าของไข้หรอก ส่วนมากเวลามีอย่างนี้ผมก็จะให้เขากลับไปพูดคุยกับแพทย์เจ้าของไข้ดู”

----- คนฆ่าตัวตายมากขึ้นเพราะมี Social เป็นสิ่งเร้า -----

คนที่ดูแลเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรง เขาจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้สูงอยู่แล้ว บางคนเป็นพ่อของเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งเขาก็มาปรึกษาเพราะกังวลว่าตัวเองกำลังจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า เพราะต้องดูแลลูกที่เหลือเวลาไม่มากแล้ว เราก็ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับสายด่วนสุขภาพจิตไป

“ตอนนี้มีคนแจ้งมาว่าจะฆ่าตัวตายทุกวัน ไม่รู้ทำไมเยอะขนาดนี้ คือมันจะมีการไลค์ในเฟซบุ๊ก ไปกระโดดตึกบ้าง กินยาฆ่าตัวตายบ้าง กรีดข้อมือบ้าง แล้วมันเกิดขึ้นทุกวัน และหลังไมค์มาแจ้งเรื่องนี้ไม่หยุดเลย

“ผมคิดว่าทุกวันนี้บ้านเราควรจะมี Hotline เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย แต่ทุกวันนี้เรายังไม่มี เรามีแค่สายด่วนสุขภาพจิตที่เอาไว้ให้คำปรึกษาเคสที่ไม่ได้เร่งด่วน แต่ถ้าเป็นเคสเร่งด่วนเรายังไม่มีความชัดเจนว่าจะโทรไปเบอร์ไหน 1669 191 หรือเบอร์อะไรก็ยังไม่รู้ บางทีก็โยนไปโยนมา ฉะนั้นควรมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่รับเรื่องและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กู้ภัย ตำรวจ เพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือ”

สาเหตุที่สถานการณ์รุนแรงขึ้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นเพราะสิ่งเร้า โดยเฉพาะ Social เพราะช่วงหลังมานี้ เวลาคนได้รับอิทธิพลจาก Social ไปกระทบกับอารมณ์มากๆ ก็จะส่งผลให้คนถึงขั้น down และทำให้อาการโรคซึมเศร้าเป็นมากขึ้นได้

“ก่อนหน้านี้มีอยู่เคสหนึ่ง เป็นเคสของเด็กที่ไปตั้งกระทู้จะฆ่าตัวตายลงพันทิป ซึ่งเราก็ช่วยกันตามหาและสุดท้ายเราก็เจอตัวเด็ก แต่เชื่อไหมครับว่า ผลจากกระทู้ที่เด็กเล่ามันทำให้หลายคนที่อ่านรู้สึก down และอยากฆ่าตัวตายไปเลยก็มี

“หรือที่ใกล้เคียงกันก็คือกลุ่มของคนไข้โรคซึมเศร้า บางกลุ่มก็ไปรวมตัวกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน วันดีคืนดีมีคนมาชวนฆ่าตัวตาย และก็มีคนเห็นด้วยเลยชวนๆ กันต่อไป แบบนี้เป็นเรื่องอันตราย

“เคยปรึกษาจิตแพทย์ว่า กลุ่มคนที่เป็นโรคซึมเศร้าควรเลี่ยงที่จะเล่นโซเชียลก่อนดีกว่า เพราะว่าสิ่งเร้าเยอะ และมีการรวมกลุ่มกัน หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นและหยุดไม่ทันก็อันตรายมาก”

----- เสนอบรรจุหลักสูตร ‘รับมือกับความตาย’ แก่ นร.-นศ. -----

เคยมีคนมาถามว่าถ้าเขาไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า แต่รู้สึกว่าชีวิตมันพอแล้ว ถ้าเขาอยากทำการุณยฆาตจะได้ไหม ซึ่งตรงนี้ก็ข้ามเส้นจริยธรรมไปค่อนข้างเยอะ แต่ก็มีบางประเทศที่สามารถทำเรื่องแบบนี้ได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอีกยาว

สำหรับเรื่อง มาตรา 12 เริ่มมีการรู้ เริ่มมีการถามหาเรื่อง living will กันบ้างแล้ว มีเพจสุขปลายทางที่นำแบบฟอร์มหนังสือแสดงเจตนารมณ์มาให้คนศึกษา

“แต่ที่สำคัญคิดว่าควรมีการเรียนการสอนในชั้นเรียนมัธยม หรือในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการรับมือกับความตายได้แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนก็ต้องเจอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรับมือกับความตายว่าเราจะตายแบบไหนที่เป็นภาระกับคนอื่นน้อยที่สุด”

เวลาคนไทยพูดถึงความตาย จะถูกมองว่าเป็นเรื่องอัปมงคล จริงๆ แล้วอย่ามองว่าเรื่องนี้เป็นอัปมงคล แต่ควรมองว่าเป็นเรื่องปกติ แล้วเอาเรื่องนี้มาคุยกันจะดีกว่า

----- หนุนจ่าย ‘มอร์ฟีน’ ระงับความทรมาน -----

ที่สุดแล้วถึงอย่างไรทุกคนก็ต้องตาย แต่ที่สำคัญคือต้องให้ตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด ก็คือต้องไม่ทุรนทุราย ไม่ทรมาน ซึ่งก็ตรงตามคอนเซ็ปต์ของ Palliative care ซึ่งประเทศไทยพร้อม แต่อาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ไปไม่ถึงจุดนั้น

“ประเด็นหนึ่งที่ผมติดใจมานานแล้วคือเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ยาแก้ปวดในบ้านเราคือพวกมอร์ฟีน จะเห็นว่าปัจจุบันเรื่องกัญชากับมะเร็งเป็นประเด็นที่ฟีเวอร์กันมาก แต่จริงๆ ก่อนที่เราจะไปพูดถึงเรื่องกัญชา เรามียาแก้ปวดตัวหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงมากคือพวกมอร์ฟีน ซึ่งหากเราให้ยาจำพวกนี้แก่ผู้ป่วยมะเร็งสุดท้ายอย่างเต็มที่ ก็จะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยได้เยอะ

“แต่ที่เห็นหลังๆ มานี้มีหมอรุ่นใหม่บางท่านที่อาจไม่กล้าใช้ยากลุ่มนี้ อาจเป็นความเชื่อกันมาว่าถ้าให้ยามอร์ฟีนแล้วคนไข้จะมีปัญหาเรื่องกดการหายใจ ซึ่งสมัยเรียนผมเคยไปปรึกษากับอาจารย์ที่เป็นวิสัญญีแพทย์ พบว่าตราบใดที่ยังมีอาการปวดอยู่ คุณให้มอร์ฟีนไปเถอะ ไม่ไปกดการหายใจอย่างแน่นอน แต่พอมีความเข้าใจกันผิดๆ แพทย์ไม่กล้าใช้ยา มันก็อาจทำให้ไปไม่ถึง Palliative care ได้”

----- หมอมีหน้าที่ให้ข้อมูลแต่ไม่มีอำนาจควบคุมชีวิตคนไข้ -----

“ไม่ว่าเป็นการุณยฆาต หรือ Palliative care เป้าหมายของมันคือการไปสู่การตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การการุณยฆาตจะเป็นการเร่งกระบวนการตาย ส่วน Palliative care จะเป็นไปตามกระบวนการ แต่เราทำให้เส้นทางนั้น smooth ที่สุดเท่าที่จะทำได้”

สำหรับ มาตรา 12 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จริงๆ ควรมีผลบังคับใช้เร็วกว่านี้ประมาณ 5 ปี แต่เห็นมีการฟ้องศาลกันจนทำให้กฎหมายชะลอการบังคับใช้

“คนที่เป็นหมอ เราไม่มีอำนาจที่จะไปควบคุมชีวิตคนไข้บอกว่าเขาไม่มีสิทธิที่จะตัดสินใจเรื่องการรักษาว่าจะอยู่หรือจะตาย จริงๆ แล้ว อำนาจพวกนี้เป็นของคนไข้ทั้งหมด เรามีหน้าที่เพียงให้ข้อมูลเขาอย่างครบถ้วน แล้วคนไข้จะเป็นคนที่เลือกเองว่าเขาจะเลือกเส้นทางไหน”

----- การแพทย์ต้องไม่เสนอทื่อๆ - เปิดประเด็นให้ถกเถียง -----

ละครเข้าถึงคนไทยได้ 80-90% เป็นสื่อที่เข้าถึงคนไทยได้ทุกเพศทุกวัย ถ้าคุณทำละครที่นำเสนอประเด็นพวกนี้แทนละครน้ำเน่า เชื่อว่านักเขียนบทบ้านเราสามารถนำเรื่องพวกนี้มานำเสนอให้เข้าใจได้ง่าย เข้าถึงประชาชนได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ซีรีส์เรื่องฮอร์โมนตอนของพละ เขานำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง HIV ครั้งเดียว ได้ผลดีกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรโมทเรื่อง HIV มา 20 ปี ส่วนตัวคิดว่าถ้าผู้จัดละครสนใจจะเป็นเรื่องนี้ที่ดีมาก

“การนำเสนอเกี่ยวกับข้อมูลทางการแพทย์คงไม่สามารถนำเสนอแบบทื่อๆ ได้ การเอาอธิบดีกรมมาทำท่าหรือมาอธิบายมันไม่เวิร์ค ไม่มีใครสนใจ เราต้องทำให้มันสนุกสนานเพื่อให้มันเข้าถึงประชาชนให้ได้”

“รูปแบบการนำเสนอก็ควรเป็นปลายเปิด อาจไม่ต้องให้มีทางเลือกที่ชัดเจนว่าทางเลือกไหนถูกหรือผิด คุณแค่เปิดประเด็นขึ้นมาเพื่อให้คนเอาประเด็นตรงนี้ไปถกเถียงกันต่อว่า ถ้าเกิดเป็นคุณที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น คุณจะทำแบบไหน ผมคิดว่าแบบนี้ดีกว่า เพราะบางเรื่องก็ยังไม่มีข้อสรุป เราจะไปสรุปให้กับประชาชนคงไม่ได้ บางทีก็คงต้องให้เขาถกเถียงกันไปว่าเขาจะเอาแบบไหน แต่เราต้องเริ่มให้มีการถกเถียงก่อนเป็นลำดับแรก”

สัมภาษณ์และเรียบเรียง โดย ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน