ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัยห่วงสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร น้ำหนักน้อย พัฒนาการเด็กไม่สมวัย ฟันผุ น้ำดื่มไม่เพียงพอ เร่งพัฒนางานสานต่อตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตน์

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดงานสัมมนาเรื่อง แนวทางการดำเนินงานการพัฒนาสุขภาพเด็กและเยาวชน ในถิ่นทุรกันดาร ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเรื่อง แนวทางการดำเนินงานการพัฒนาสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารภายใต้โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ปีงบประมาณ 2561 ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2560-2569) ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี ว่า จากผลการสำรวจภาวะสุขภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่ในศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง ปี 2558 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ปี น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ร้อยละ 25 เตี้ยร้อยละ 38 ผอมร้อยละ 14 พัฒนาการเด็กสมวัยร้อยละ 48 ฟันผุร้อยละ 26 เด็กอายุ 6-14 ปี เตี้ยร้อยละ 28 ฟันผุร้อยละ 35 มีส้วมใช้ร้อยละ 51 ที่ไม่มีส้วมใช้ร้อยละ 80 ขณะที่ผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ปี 2560 พบว่า เด็กประถมเตี้ย ร้อยละ 11 สูงดีสมส่วนร้อยละ 61 ฟันผุร้อยละ 30 น้ำดื่มไม่เพียงพอร้อยละ 20 ไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพน้ำร้อยละ 8 ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 72 ส้วมมีกลิ่นเหม็นร้อยละ 43 ไม่สะอาดร้อยละ 20

นอกจากนี้ ยังพบหนอนพยาธิร้อยละ 7.5 เป็นพยาธิไส้เดือนร้อยละ 60 พบเชื้อโรคไข้มาลาเรียในนักเรียน 39 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.31 ต่อพันประชากร มีอัตรา พบเชื้อร้อยละ 0.13 ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม พบว่า สามเณรอ้วนและเริ่มอ้วนกว่าร้อยละ 20 ส่วนคุณภาพน้ำบริโภคและสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียนพระปริยัติธรรมและวัดที่สามเณรจำวัดมีปัญหาคุณภาพน้ำเนื่องจากขาดการดูแลระบบปรับปรุง ที่เหมาะสม ขาดความรู้ความเข้าใจและไม่ตระหนักถึงโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ

นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาดังกล่าว กรมอนามัยจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาโดยจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 ปี 2560-2569 ระยะ 10 ปี นอกจากนี้ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรคและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เป้าหมายดำเนินโครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดารตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 1 ที่จัดทำขึ้นครั้งแรก ในปี 2534 และดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดแผนฯ ฉบับที่ 4 ปี 2559 แม้ว่าเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารมีปัญหาสุขภาพลดลงตามลำดับ แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่ห่างไกลจากสถานบริการสาธารณสุข เข้าถึงได้ยากลำบาก ในหลายพื้นจึงยังมีปัญหาสุขภาพ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 นี้ จึงเป็นการสานต่อการดำเนินงานที่ผ่านมา

มีแนวทางการพัฒนาคือเสริมสร้างสุขภาพของเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา โดยหญิงตั้งครรภ์ มารดาหลังคลอด และทารกหลังคลอดได้รับบริการที่มีคุณภาพ เด็กปฐมวัยทุกช่วงอายุได้รับการส่งเสริมด้านโภชนาการและมีพัฒนาการตามวัย เด็กและเยาวชนมีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นและมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ขยายการพัฒนาสู่ชุมชนโดยให้เด็กและเยาวชนและสมาชิก ในครอบครัวมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและร่วมกันพัฒนาสภาพแวดล้อมของบ้านและชุมชนให้ถูกสุขลักษณะ และพัฒนาสถานศึกษาเป็นศูนย์บริการความรู้ โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างกว้างขวางทั้งในระดับภาค ระดับประเทศ และนานาชาติ

“ทั้งนี้ การสัมมนาเรื่องแนวทางการดำเนินงานการพัฒนาสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารภายใต้โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริในพื้นที่เป้าหมายจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 50 จังหวัด เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) 134 อำเภอ ต้นสังกัดโรงเรียน อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หน่วยงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจสาระสำคัญของแผนฯ ให้ชัดเจนตรงกัน ให้การขับเคลื่อนการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว