ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.ร่วมกับศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ยกร่าง “แนวปฏิบัติตามความในมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล เช่นเรื่องเวชระเบียน โดยจะเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เป็นครั้งที่ 2 ก่อนปรับปรุงร่างแนวปฏิบัติเพื่อเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติออกเป็นประกาศต่อไป

การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๑ มี พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “ปัจจุบันทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการสร้างสุขภาวะและตื่นตัวเรื่องสุขภาพอย่างกว้างขวาง ในฐานะที่ผมเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติคนใหม่ ผมพร้อมสานต่อภารกิจและเป้าหมายตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่มุ่งเน้นแนวทาง “สร้างนำซ่อม” และสนับสนุนให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะอย่างแท้จริง”

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยังได้ชื่นชมความสำเร็จของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๒๐-๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ ภายใต้แนวคิด “๑๐ ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ” ซึ่งมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมงานถึง ๒,๖๐๐ คน โดยสมัชชาสุขภาพได้มีฉันทมติใน ๔ ประเด็นข้อเสนอโยบายสำคัญ คือ

๑) การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น

๒) การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา

๓) ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

และ ๔) การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

“หัวใจสำคัญต่อจากนี้ คือการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะมีการเตรียมการทำงานเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละมติ ก่อนจะนำมาเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบประเด็นนโยบายทั้ง ๔ เรื่อง ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับจังหวัด พื้นที่ และภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยังได้รับทราบความคืบหน้า การขับเคลื่อนแนวปฏิบัติสิทธิสุขภาพ ด้านข้อมูลสุขภาพของบุคคล ตามความในมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือเปิดเผยข้อมูลการรักษาผู้ป่วยจนทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ออกประกาศเรื่อง “แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ” เพื่อให้หน่วยงานและสถานพยาบาลทั่วประเทศปรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการใช้โซเชียลมีเดีย และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แจ้งประกาศดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า ๒,๐๐๐ แห่ง พร้อมทั้งผลิตสื่อออนไลน์เผยแพร่ทางหน้าเว็บไซต์ สช.ด้วย

และขณะนี้ สช.กำลังร่วมกับ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกร่าง “แนวปฏิบัติตามความในมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล เช่นเรื่องเวชระเบียน โดยจะเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เป็นครั้งที่ 2 ก่อนปรับปรุงร่างแนวปฏิบัติเพื่อเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติออกเป็นประกาศต่อไป

ทั้งนี้ มาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ระบุว่า “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการทที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้

ส่วนเรื่อง “ระบบรองรับสังคมสูงวัยด้านสุขภาพ” คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้รับทราบการดำเนินงานของคณะกรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัยที่ สช. แต่งตั้ง โดยมี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธาน ซึ่งกำลังเตรียมการรับฟังข้อมูลความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัยใน ๔ มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคมซึ่งกำหนดแล้วเสร็จภายในกันยายน ๒๕๖๑ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป

พล.อ.ฉัตรชัย ย้ำว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีกลไกการทำงานรองรับสังคมสูงวัยหลายกลไก ทั้งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และภาคส่วนต่างๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน ประชาสังคม สสส. สปสช. สช. ดังนั้น ต้องให้ทุกหน่วยงานมาร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบการทำงานตั้งแต่ต้น เพื่อปรับยุทธศาสตร์ระยะ ๒๐ ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมีแผนการดำเนินงานที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันด้วย”

ที่ประชุมยังได้รับทราบรูปธรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญ คือ การประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ.๒๕๖๐” เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการปฏิบัติเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพระสงฆ์ทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นผลจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ คณะกรรมการฯ เห็นตรงกันว่า นับเป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับแรก ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพพระสงฆ์ที่มีมานานมีความเป็นไปได้และจริงจังมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้การทำงานเป็นรูปธรรมโดยเร็ว จำเป็นต้องเร่งรัดให้เกิดกลไกการทำงานเพื่อขับเคลื่อนธรรมนูญฯ สู่การปฏิบัติทั้งระดับชาติและพื้นที่

พระครูพิพิธสุตาทร (พระมหาบุญช่วย สิรินธโร) รองประธานคณะทำงานจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ กล่าวว่า “ปัจจุบันคณะสงฆ์กำลังเตรียมการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ อย่างจริงจัง โดยอยู่ระหว่างตั้งกลไกทำงานระดับชาติที่มาจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้แทนคณะสงฆ์ หน่วยงานรัฐ องค์กรสนับสนุนต่างๆ รวมถึงกลไกการทำงานระดับพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานสู่การปฏิบัติ ตามที่ระบุในหมวด ๕ ของธรรมนูญฯ โดยจะดำเนินการจัดทำพื้นที่นำร่อง ใน ๒๐ แห่ง ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล”

ท้ายที่สุด คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้รับทราบผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนภาคีเครือข่ายพลเมืองอาสาประชารัฐเสริมสร้างสังคมสุขภาวะ พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๒” เฟสแรก ในปี ๒๕๖๐ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐใน ๗๖ จังหวัด กว่า ๘,๕๐๐ เครือข่าย และเครือข่ายฯได้ช่วยเหลือผู้ได้รับความยากลำบากและถูกทอดทิ้ง จำนวนเกือบ ๗๐,๐๐๐ คน อาทิ คนไร้บ้าน ไร้ที่พักพิง ผู้ป่วยเรื้อรัง ติดบ้าน ติดเตียง พิการซ้ำซ้อน รวมถึงผู้สูงอายุไร้ญาติหรือถูกทอดทิ้ง คนไร้สัญชาติ และพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ เป็นต้น โดยในวันนี้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบโครงการจิตอาสาประชารัฐ เฟส ๒ เพื่อเป็นการเตรียมการ หากรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้