ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ตรวจเขต 2 ชี้กระบวนการพัฒนาเชิงระบบการจัดการ ทั้งเรื่องกำลังคนและงบลงทุนระยะยาว จะช่วยลดการแทรกแซงจากนักการเมือง และช่วยให้วางแผนสอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพที่จำเป็นของประชาชนในพื้นที่

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 และหัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ. กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาเชิงระบบการจัดการ ทั้งเรื่องการลงทุนและการจัดการกำลังคนในระยะยาวของเขต 2 ซึ่งกลายเป็นต้นแบบการวางแผนของกระทรวงสาธารณสุขว่า การวางแผนระยะยาวทั้งเรื่องการลงทุนและกำลังคน จะช่วยลดโอกาสการแทรกแซงการใช้งบประมาณจากนักการเมืองที่โดยปกติแล้วมักจะพยายามดึงงบประมาณไปลงในพื้นที่ของตัวเอง อีกทั้งทำให้การวางแผนต่างๆ สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปัญหาของการวางแผนงบลงทุนที่ผ่านมาของกระทรวงสาธารณสุข คือพื้นที่ไหนอยากได้อะไร อยากทำอะไรก็เสนอโครงการขึ้นมา แล้วมาดีเฟนส์งบกันว่าใครจะได้อะไรบ้าง ซึ่งทำให้เห็นปัญหาว่าหากทำแบบนี้ทุกปี โดยเฉพาะในยุคที่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง นักการเมืองก็จะ force งบประมาณไปลงในพื้นที่ของตัวเอง และข้าราชการประจำก็ไม่มีอะไรไปต่อสู้ ดังตัวอย่างที่สมัยหนึ่งมีงบไทยเข้มแข็งก็มีปัญหาว่าทำไมที่นั้นได้ที่นี่ไม่ได้ ที่นั้นที่นี่ไม่เป็นธรรม ก็เนื่องจากไม่มีแผนลงทุนระยะยาว

ด้วยเหตุนี้ ตนจึงเสนอกระทรวงสาธารณสุขว่าควรต้องทำแผนการลงทุนระยะยาว เพราะถ้านักการเมืองพยายามจะมาเอาอะไรก็ต้องดูว่าอยู่ในแผนการลงทุนระยะยาวหรือไม่ ก็ทำให้ข้าราชการสามารถต่อรองได้ ดังนั้นในปี 2560 จึงเริ่มเซ็ตระบบขึ้นมาในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 โดยทำเวิร์กช็อป 4 วันเพื่อสรุปแผนการระยะ 5 ปีออกมา และไอเดียของเขต 2 ท่านปลัดกระทรวงก็เห็นด้วยและใช้เป็นต้นแบบให้ทุกเขตสุขภาพดำเนินการคล้ายๆ กันแล้วรวมกันเป็นแผนระดับประเทศ

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการวางแผนลงทุนระยะยาว จะเปลี่ยนหลักการ โดย Day 1 จะไม่เริ่มจากคำถามว่าแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดอยากได้อะไร จะขออะไร แต่ให้ย้อนไปวิเคราะห์สถานการณ์ก่อนว่าทั้งเขต จังหวัด อำเภอ ลงไปถึงตำบล มีปัญหาสุขภาพอะไร

“พอวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพ เราก็จะได้สิ่งที่เรียกว่า health needs คือความจำเป็นทางด้านสุขภาพของประชาชน เช่น ในพื้นที่มีโรคตาเยอะแต่ไม่มีหมอตา ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ผ่าตัดตา เราถึงจะเอาตรงนี้มา แต่ถ้าพื้นที่ไม่มีปัญหาโรคตา ก็ไม่มีความจำเป็นต้องขอ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

หลังจากนั้นเมื่อถึง Day 2 ก็มาดูกันว่า health needs จะถูกแก้ด้วย service อะไร เช่น ถ้าในพื้นที่มีโรคหัวใจเยอะ ก็ต้องแก้ด้วยการมีหมอผ่าตัดหัวใจ มีระบบตรวจวินิจฉัยและรักษา จะออกแบบว่า service ที่ควรเป็นคืออะไร วางไว้ที่จุดไหนของเขต บางอย่างต้องมีทุกจังหวัด บางอย่างมีเขตละจุดก็พอ ใครจะส่งต่อ ใครจะเป็นด่านหน้า ต้องวางรูปแบบของเขตทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเห็นทิศทางการพัฒนาไปข้างหน้าในอีก 5 ปี

ขณะเดียวกัน การวางแผนการลงทุนก็พยายามไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน บางอย่างเอกชนทำดีอยู่แล้ว รัฐก็อาจไม่จำเป็นต้องไปทำ หรือในเขต 2 มีมหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์และก็มีศักยภาพในการดำเนินการหลายๆ อย่าง ก็มาคุยกันว่าบางอย่างจะไม่ทำซ้ำกัน

ขณะเดียวกัน เมื่อถึง Day 3 ถึงให้กลับไปทำการบ้านว่าแต่ละจังหวัดต้องการอะไรบ้าง โดยแบ่งงบเป็น 3 ก้อนใหญ่ๆ คือ 1.งบบริการคนไข้โดยตรง เช่น ตึกผู้ป่วย อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 2.งบสนับสนุน เช่น หอพักพยาบาล หอพักแพทย์ โรงซักฟอก โรงจอดรถ และ 3.งบลงทุนทางด้านบริหาร เช่น โปรเจคเตอร์ รถยนต์สำหรับตรวจการ โดยจะให้น้ำหนักกลุ่มที่ให้บริการคนไข้มากที่สุด ส่วนอื่นๆ ก็ให้น้ำหนักรองลงมาตามลำดับ

“พอ Day 4 ก็มาดูว่าคำขอของแต่ละจังหวัดมีความจำเป็นแค่ไหน ตอบสนอง health needs แค่ไหน เป็นไปตามหลักการไหม พอเราได้คำขอ เราก็ยังมาแยกอีก 3 ท่อนคือ 1.จำเป็นอย่างยิ่งยวด 2.จำเป็นแต่รอหน่อยได้ 3.ถ้ามีก็ดี ทั้งหมดนี้คือการจัดการเชิงระบบ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นอกจากเรื่องการวางแผนการลงทุนระยะยาวแล้ว เรื่องคนก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะบริการสุขภาพเป็น labour intensive ถึงแม้มีเครื่องมือ มีตึกแต่ไม่มีหมอไม่มีบุคลากรก็จบ ดังนั้นการลงทุนด้านบุคลากรก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ แต่ถ้าทำปนกับแผนการลงทุนจะเป็นเรื่องยุ่งยากเพราะต้องใช้ข้อมูลเยอะ ดังนั้นจึงแยกเรื่องคนออกมา ทำเวิร์กช็อปเป็น day 1 2 3 4 เหมือนเดิม วิเคราะห์ความขาดแคลน แล้วเอา Service ที่ได้จากการทำเวิร์กช็อปแผนการลงทุนเป็นตัวตั้งว่าจะเพิ่ม service อะไรแค่ไหน แล้วมาวิเคราะห์ว่าในระยะยาวต้องการคนแค่ไหน

“เรื่องคนต้องเป็นระยะยาวเพราะอยากได้คนวันนี้แต่ไม่ใช่จะได้วันนี้ ต้องดูว่าไปเรียนเฉพาะทางกี่คน ที่กำลังเรียนอีกกี่คน เอามาประมวลแล้วคาดการณ์ว่าใน 5 ปีข้างหน้าหลังจากมี service เกิดขึ้น เราควรมีบุคลากรในแต่ละสาขาวิชาชีพเท่าไหร่ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตะฯ เภสัชกร ฯลฯ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุกภิจ กล่าวอีกว่า การทำเวิร์กช็อป Day 1 2 3 4 เป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญโดยมีผู้ตรวจนั่งหัวโต๊ะ มีการเชิญนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประธาน service plan ของแต่ละสาขา มาร่วมกันระดมความคิด ซึ่งการลงมือทำจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องการข้อมูลเยอะมาก ต้องให้เวลาพื้นที่ ดังนั้นขั้นตอนในแต่ละ Day จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ - 1 เดือน และใช้เวลาทำแผนทั้งหมดประมาณ 3-4 เดือน