ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บทความชื่อว่า “โรคทุเบอร์คุโลสิส” หรืออีกชื่อหนึ่งของวัณโรค ถูกจัดทำขึ้นใน พ.ศ.2463 โดยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขณะนั้นทรงดำรงอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ บทความดังกล่าวคือเอกสารสาธารณสุขวัณโรคฉบับแรกในประเทศไทยที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ในเวลานั้นเป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์และประชาชนทั่วไปอย่างมาก และนับเป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นผู้ริเริ่มการต่อต้านวัณโรคในประเทศไทย

พระราชปรารภของพระองค์ท่านเกี่ยวกับวัณโรคยังได้สร้างแรงบันดาลใจแก่คณะกรรมการแพทยสมาคมแห่งกรุงสยามในอันที่จะตระหนักถึงความรุนแรงของวัณโรคที่บั่นทอนสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก ส่งผลให้มีการประชุมกรรมการแพทย์สมาคมแห่งกรุงสยาม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เพื่อหาวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรค และป้องกันวัณโรคไม่ให้ระบาดแพร่หลายต่อไป การประชุมครั้งนั้นมีมติให้ตั้ง “กองการปราบวัณโรค” เป็นงานส่วนหนึ่งของแพทยสมาคมฯ เพื่อทำการปราบวัณโรคในประเทศไทยและร่วมมือกับองค์การมูลนิธิต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายกันมาแก้ไขปัญหาวัณโรคอีกด้วย

ในเวลาต่อมา กองการปราบวัณโรค ของแพทยสมาคมแห่งกรุงสยามได้จดทะเบียนเป็น “สมาคมกองการปราบวัณโรค” โดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2478 หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2482ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” โดยได้รับความช่วยเหลือจากสภากาชาดสยามในขณะนั้นให้ใช้อาคารสถานีอนามัยที่หนึ่ง ถนนบำรุงเมือง จังหวัดพระนคร สำหรับเป็นสถานตรวจและรักษาวัณโรค

“สมาคมกองการปราบวัณโรค” นับได้ว่าเป็นองค์การต่อต้านวัณโรคแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีจุดเริ่มต้นจากพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ด้วยเหตุที่วัณโรคเป็นโรคที่พบมากในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2482 พระไวทยวิธีการ อธิบดีกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอโครงการสร้างโรงพยาบาลสำหรับรักษาวัณโรคเป็นแห่งแรกในประเทศไทยต่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และได้รับอนุมัติการสร้าง โดยจัดซื้อที่ดิน 27 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนติวานนท์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรี ต่อมาตั้งชื่อว่า “โรงพยาบาลวัณโรคกลาง” สังกัดกองแพทย์สังคม กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย มีขุนพิทักษ์ ประชาสุข เป็นผู้อำนวยการคนแรก

ต่อมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง ช่วงเวลานั้นในบรรดาโรคระบาดทั้งหลาย “วัณโรค” คือสาเหตุที่ทำให้ประชากรเสียชีวิตมาเป็นอันดับ 2 รองจากไข้มาลาเรีย จากการเก็บสถิติเมื่อ พ.ศ.2490 มีอัตราการตายจากวัณโรคปอดในกรุงเทพฯ สูงถึง 217 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งตัวเลขขนาดนั้นนับเป็อันตรายที่สูงมาก รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของโรคนี้ในด้านสาธารณสุข หลวงพยุงเวชศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมอนามัย จึงได้เริ่มก่อตั้งงานควบคุมวัณโรคโดยเปิด “สถานตรวจโรคปอด” ขึ้นมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2492 ในเวลาต่อมาผู้คนนิยมเรียกชื่อตามย่านของสถานที่ตั้งว่า “สถานตรวจโรคปอดยศเส”

เส้นทางของสถานตรวจโรคปอดยศเส

จากสถานีอนามัย บนถนนบำรุงเมือง จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของ “สมาคมกองการปราบวัณโรคแห่งสยาม” ได้กลายมาเป็น“สถานตรวจโรคปอด” หรือที่เรียกขานตามย่านของที่ตั้งว่า “สถานตรวจโรคปอดยศเส” ภายใต้การกำกับดูแลของกองควบคุมโรคติดต่อ สังกัดกรมอนามัย ที่เช่าพื้นที่จากสภากาชาดไทย เพื่อทำหน้าที่ตรวจรักษาและป้องกันวัณโรค โดยมีนายแพทย์สมบุญ ผ่องอักษร ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (Dr.P.H.) ทางระบาดวิทยาวัณโรคจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคนแรก

ขณะนั้นสถานตรวจโรคปอดเปิดบริการตรวจรักษาวัณโรคโดยใช้เครื่องถ่ายภาพเอกซ์เรย์ทรวงอกด้วยฟิล์มเล็ก (Photo-fluorographic unit for mass miniature radiography) เป็นเครื่องแรกในประเทศไทย อีกทั้งยังรักษาด้วยยาแบบผู้ป่วยนอก ตลอดจนทำงานด้านการป้องกันผู้สัมผัสโรค และให้สุขศึกษาแก่ประชาชนโดยทั่วไป

ต่อมาใน พ.ศ.2494 ได้มีการยกฐานะของ “สถานตรวจโรคปอด”ไปเป็น “กองควบคุมวัณโรค” ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ นายแพทย์สมบุญ ได้เสนอแผนการควบคุมวัณโรคทั่วประเทศ โดยมีหลักการวินิจฉัย รักษา ค้นหาผู้ป่วย รวมทั้งฉีดวัคซีนและให้โรงพยาบาลวัณโรคประสานกับสถานตรวจโรคปอดยศเสเพื่อรับผิดชอบเรื่องการควบคุมวัณโรคทั้งหมด

ต่อมา “กองโรงพยาบาลวัณโรค” เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลโรคปอด” เพื่อดำเนินงานให้สอดคล้องกัน (ในปัจจุบันคือสถาบันโรคทรวงอก สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) โดยที่โรงพยาบาลโรคปอดนั้น เป็นฝ่ายให้การรักษาด้วยวิธีศัลยกรรมทรวงอก ซึ่งเริ่มมีการพัฒนาขึ้นในสมัยนั้น

ในปี พ.ศ.2495 เริ่มมีความช่วยเหลือจาก องค์การอนามัยโลก(WHO) ในด้านผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ และทุนการศึกษาในต่างประเทศสำหรับเจ้าหน้าที่ไทย และกองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ เช่น หน่วยเอกซเรย์เคลื่อนที่ ฟิล์มเอกซเรย์ วัคซีนบีซีจี เครื่องอุปกรณ์ชันสูตร รวมไปถึงการตั้งหอชันสูตรวัณโรคกลาง กองควบคุมวัณโรค ซึ่งมีขีดความสามารถในการชันสูตรเชื้อวัณโรคด้วยกล้องจุลทรรศน์และการเพาะเลี้ยงเชื้อวัณโรคขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

การรักษาวัณโรคในระยะนี้ได้เริ่มมีการใช้ยารักษาวัณโรคโดยเฉพาะขึ้นแล้วงานในระยะแรกของ “สถานตรวจโรคปอดยศเส” ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่องานควบคุมวัณโรคคือ การเป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมแพทย์พยาบาล และพนักงานชันสูตรโรค ตลอดจนพนักงานอนามัย ในด้านการตรวจวินิจฉัย การควบคุม การรักษา การค้นหาผู้ป่วยวัณโรค การทดสอบทุเบอร์คุลิน สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ในการเผยแพร่การป้องกันการติดเชื้อวัณโรค และโครงการฉีดวัคซีนบีซีจีแบบเคลื่อนที่ไปตามจังหวัดต่างๆโดยมุ่งฉีดที่เด็กนักเรียนซึ่งเป็นวิธีแบบใหม่ที่นำมาใช้ป้องกันวัณโรค

ในช่วงเวลานั้น เริ่มมีรายงานการรักษาผู้ป่วยวัณโรคด้วยยารักษาแบบผู้ป่วยนอกแล้ว ประกอบกับมียารักษาวัณโรคขนานใหม่ที่ให้ผลในการรักษาโดยไม่ต้องรอเข้ารักษาในโรงพยาบาล กองควบคุมวัณโรคจึงกำหนดนโยบายในการขยายงานวัณโรคออกไป โดยมุ่ง เน้นที่การรักษาวัณโรคแบบผู้ป่วยนอก ผ่านการตั้งสถานตรวจโรคปอด หรือ ศูนย์วัณโรค ขึ้นตามภาคต่างๆ ในประเทศไทย ได้แก่

พ.ศ.2502 ตั้งศูนย์วัณโรคภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.2506 ตั้งศูนย์วัณโรคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดขอนแก่น

พ.ศ.2509 ตั้งศูนย์วัณโรคภาคใต้ ณ จังหวัดยะลา

การขยายงานในระยะแรกเป็นในรูปโครงการพิเศษเฉพาะโรค นั่นคือการรณรงค์โดยใช้หน่วยเคลื่อนที่ ได้แก่ การฉีดวัคซีนบีซีจี การตรวจหาผู้ป่วยโดยใช้หน่วยเอกซเรย์เคลื่อนที่ และมุ่งออกตรวจประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะชุมชนใหญ่ๆ ในเมือง และเคยจัดหน่วยเคลื่อนที่ออกไปให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานและเจ้าหน้าที่จากกองควบคุมวัณโรคทั้งสิ้น

จากผลการสำรวจด้านระบาดวิทยาของวัณโรค ระหว่าง พ.ศ.2503-2507 ทำให้ทราบว่าวัณโรคนั้นมีการระบาดแพร่หลายอยู่ทั่วไป ทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยมีอัตราป่วยเฉลี่ยทั้งประเทศรวมทุกกลุ่มอายุ คิดเป็นความชุก (Prevalence) ร้อยละ 2.1 อัตราป่วยในระยะแพร่เชื้อร้อยละ 0.5 ถึงแม้อัตราป่วยในเมืองจะสูงกว่าชนบท แต่เมื่อประชากรร้อยละ85 ของประเทศไทยมีภูมิลำเนาอยู่ในชนบท จำนวนผู้ป่วยวัณโรคส่วนใหญ่จึงอยู่ในเขตพื้นที่ชนบท

บทเรียนจากการดำเนินงานพบปัญหาอุปสรรคของงานในรูปโครงการพิเศษเฉพาะโรคค่อนข้างมาก ส่งผลให้องค์การอนามัยโลกได้มีข้อเสนอแนะเมื่อ พ.ศ.2507 ให้ขยายงานควบคุมวัณโรคโดยดำเนินการในรูปแบบของ“แผนวัณโรคแห่งชาติ” (National Tuberculosis Programme หรือ NTP) โดยโอนมอบให้เป็นหน้าที่ของบริการทางการแพทย์ หรือบริการสาธารณสุขทั่วไปของท้องถิ่น ได้แก่ โรงพยาบาลระดับจังหวัด สถานีอนามัย ซึ่งมีอยู่แล้วทั่วประเทศ ด้วยเหตุที่ว่าวิธีการดำเนินงานควบคุมวัณโรคมีความก้าวหน้าและวิวัฒนาการไปสู่ความมีมาตรฐาน มีเทคนิคไม่ยุ่งยาก และไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษดังเช่นสมัยก่อน

จากแนวทางที่องค์การอนามัยโลกเสนอแนะออกมาเป็น “แผนวัณโรคแห่งชาติ” ทำให้ประเทศไทยใน พ.ศ.2510-2511 ได้เกิดการบูรณาการงานควบคุมวัณโรคจำนวนหนึ่งเข้ากับบริการสาธารณสุขท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว คือการฝึกอบรมและโอนงานฉีดวัคซีนบีซีจี ให้แก่เจ้าหน้าที่อนามัยของจังหวัดต่างๆ รับไปปฏิบัติ ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยังมีการตั้ง “ศูนย์วัณโรค” ในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย เพื่อให้ทำหน้าที่นิเทศงานทางวิชาการแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำจังหวัด จัดการฝึกอบรมและการส่งกำลังบำรุงคืออุปกรณ์วัสดุการตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์ ยารักษาโรค วัคซีนบีซีจี

สถานตรวจโรคปอดยศเส ได้มีชื่อเป็นทางการว่า “สถานตรวจโรคปอดกรุงเทพฯ”ซึ่งใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมและดูงานของแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับต่างๆ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศจวบจนปัจจุบัน และในปัจจุบันสถานตรวจโรคปอดกรุงเทพฯ หรือ สำนักวัณโรค ตั้งอยูที่แขวงบางโคล่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีบทบาทงานหลายส่วน ทั้งงานสาธิตบริการซึ่งเหลือเพียงที่เดียวในประเทศไทย ที่ให้บริการผู้ป่วยวัณโรคเน้นผู้ป่วยดื้อยาที่ถูกส่งตัวมาปรึกษาจากโรงพยาบาลทั่วไป งานวิชาการต่างๆ เช่น ทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศ ทำงานวิจัย ออกคู่มือ/แนวทางมาตรฐาน และจัดฝึกอบรมให้บุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับวัณโรค และอีกส่วนที่นับเป็นความภาคภูมิใจของที่นี่ก็คือ ห้องปฏิบัติการ (LAB) ที่ได้รับการพัฒนาจนมีมาตรฐานในระดับนานาชาติ

เรือนจำคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา เป็นที่กักกันผู้ป่วยวัณโรคทั่วประเทศในอดีต

มกราคม พ.ศ.2503 กองควบคุมวัณโรค ตรวจเอกซเรย์นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก็บความจาก

ขวัญชาย ดำรงขวัญ. (2559). UNSEEN กรมควบคุมโรค เส้Œนทางประวัติศาสตรและความทรงจำ. นนทบุรี: สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง