ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Facebook เพจ Rama Lounge ซึ่งเป็นเพจสื่อสารองค์กรของ รพ.รามาธิบดี ได้เผยแพร่ข้อเขียนเรื่อง ศูนย์พิษวิทยารักษาคนข้ามทวีป สำนักข่าว Hfocus เห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจ จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกและคณะฯ มาเยี่ยมชมศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เนื่องในโอกาสที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยไนจีเรียจำนวน 2 รายที่ได้รับสารพิษได้ทันท่วงที

แล้วรู้หรือไม่ว่า ในขณะนั้นศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีเป็นที่เดียวในโลกที่มียาพร้อมใช้งาน การช่วยเหลือข้ามทวีปในครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร?

ศ.นพ.วินัย วนานุกุล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี

เพจ Rama Lounge พาคุณไปพบกับ ศ.นพ.วินัย วนานุกุล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลกันค่ะ

[เหตุด่วนจากแดนไกล...ทวีปแอฟริกา]

เมื่อกลางเดือนมกราคม 2561 มีครอบครัวชาวไนจีเรีย 3 คนป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน ภรรยาเสียชีวิต ส่วนสามีและลูกก็ป่วยเช่นกัน แต่ลูกอาการหนักกว่าเพราะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แพทย์ที่ประเทศไนจีเรียที่ดูแลผู้ป่วย 2 รายนี้่วินิจฉัยว่าเป็นโรคโบทูลิซึม (Botulism) ซึ่งโรคที่เกิดจากสารพิษโบทูลินั่มท็อกซิน (Botulinum Toxin)

ผมได้รับทราบข่าวนี้ในคืนวันเสาร์ (3 ก.พ. 2561) จากการส่งต่ออีเมลของ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ พอวันอาทิตย์ (4 ก.พ. 2561) ผมได้ติดต่อไปทางเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกและในที่สุดก็ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไนจีเรีย

การรักษาโรคนี้ให้หายเร็วที่สุดคือใช้ยาต้านพิษโบทูลินั่ม แอนตี้ท็อกซิน (Botulinum Antitoxin) ซึ่งเป็นยาที่ไม่ได้หาซื้อได้ทั่วไป จากข่าวที่ไนจีเรียเค้าเร่งตามหายาชนิดนี้และประกาศให้ทราบกระจายในกลุ่มของเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกประเทศต่าง ๆ ว่ามีความต้องการใช้ยาชนิดนี้เพื่อรักษาผู้ป่วย 2 รายนั้น หลาย ๆ ประเทศก็แนะนำว่าประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนและมีสำรองยาไว้

[โรคนี้เคยเกิดในไทย พบได้ในหน่อไม้ปี๊บ]

ในประเทศไทยเราก็เคยพบเหตุการณ์นี้เมื่อปี พ.ศ. 2549 จากเหตุการณ์ที่ชาวบ้านจังหวัดน่านกินหน่อไม้ปี๊บที่นำมาทำอาหารเลี้ยงผู้คนที่ไปร่วมในงานบุญและเป็นโรค นอกจากนี้ยังเคยเจอผู้ป่วยที่จังหวัดเชียงใหม่และเกาะสมุย

ตอนนั้นที่ประเทศไทยที่เกิดเหตุการณ์นี้ มีผู้ป่วยอาการหนักจนต้องใช้ยาต้านพิษมากถึง 40 คน ซึ่งต้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศเช่นกัน จริงๆ แล้ว ไม่มีประเทศไหนสำรองยาจำนวนมากนัก ในที่สุดเราก็ได้ยาจากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

[ตัวยามีค่า...ต้องแน่ใจว่าจำเป็นต้องใช้จริง]

โรคโบทูลิซึม (Botulism) ปกติไม่พบบ่อยและต้องการแน่ใจว่าเป็นโรคนี้จริง ๆ เพราะยาต้านพิษชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูง ผู้ป่วย 1 คน จะต้องใช้ยา 2 ขวด ราคาต่อขวดประมาณ 150,000 - 200,000 บาท รวมแล้วผู้ป่วย 2 รายจะมีค่าใช้จ่ายยาเกือบ 600,000 บาท

5 ปีที่แล้วประเทศไทยมีโครงการยากำพร้าในกลุ่มยาต้านพิษจำนวน 18 ชนิด ยาต้านพิษโบทูลินั่ม แอนตี้ท็อกซิน (Botulinum Antitoxin) เป็น 1 ใน 18 ชนิด ซึ่งจัดเก็บไว้เฉพาะที่รามาธิบดีและองค์การเภสัชกรรมเท่านั้น โดยยานี้เป็นกรรมสิทธิ์ของ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จะใช้ยานี้จะต้องขอความเห็นชอบจาก สปสช. ก่อน ซึ่งผมอธิบายเหตุผลการใช้ยาสำหรับครั้งนี้ไปว่า การช่วยเหลือครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เราทำเพื่อมนุษยชาติ ซึ่งทาง สปสช.ก็อนุมัติ ทางเราก็เลยส่งยาไปให้ที่ประเทศไนจีเรีย โดยการดำเนินการจากองค์การเภสัชกรรมและองค์การอนามัยโลก

ครั้งนี้เป็นแรกที่เราได้ส่งยาต้านพิษข้ามทวีป..

[ศูนย์พิษวิทยาเตรียมพร้อมก้าวสู่ระดับสากล]

ศูนย์พิษวิทยาเปิดดำเนินการพร้อมกับศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงจนถึงปัจจุบัน ทำหน้าที่ให้ข้อมูลและให้คำปรึกษาการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษแก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ

เรารู้ว่าผู้ป่วยได้รับสารพิษอะไรและจะรักษาด้วยยาตัวไหน แต่ปัญหาสำคัญเลยคือ เราไม่มียา ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแต่พบปัญหานี้ได้ทั่วโลก

เนื่องจากยาต้านพิษหลาย ๆ ชนิดจัดอยู่ในประเภทยากำพร้า คือ ยาที่มีการผลิตน้อยหรือไม่มีโรงงานผลิต

ทางไนจีเรียเค้าอีเมลขอความช่วยเหลือไปทั่วโลก แต่ประเทศไทยเราเป็นที่เดียวที่ตอบรับไป กรณีผู้ป่วยที่ประเทศไนจีเรียนี้ก็เป็นเหมือนบทพิสูจน์ของศูนย์พิษวิทยาว่ามีศักยภาพในการเป็นศูนย์ที่เชี่ยวชาญด้านการต้านพิษในระดับนานาชาติได้ ซึ่งตอนนี้ศูนย์พิษวิทยาได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ให้ศูนย์พิษวิทยาไปนำเสนอผลงาน และเสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านยาต้านพิษ เป็นแหล่งฝึกอบรมแก่บุคลากร

ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก Facebook เพจ Rama Lounge

เรื่องที่เกี่ยวข้อง