ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เปิดตัว “คู่มือกู้ชีพองค์รวม” เล่มแรกในประเทศไทย หวังอาสาสมัครกู้ชีพ-ประชาชนทั่วไปเข้าใจง่าย เกิดความรู้ ปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เชื่อมต่อกระบวนการช่วยชีวิตให้มีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการอบรมหลักสูตรการกู้ชีพองค์รวม หรือ CLS โดยมี ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เปินประธานในพิธีเปิดการอบรม และมีอาสาสมัครและประชาชนทั่วไป กว่า40 คนเข้าร่วมการอบรม

ศ.นพ.สันต์ กล่าวว่า ในการอบรมครั้งนี้ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ได้จัดทำคู่มือ “กู้ชีพองค์รวม (CLS) สำหรับอาสาสมัครและประชาชนทั่วไป” ขึ้นมา ซึ่งได้ใช้เวลาในการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านการกู้ชีพฉุกเฉินมานานกว่า 10 ปีโดยพัฒนาขึ้นมาใช้กับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพ ก่อนที่จะพัฒนามาทำในระดับอาสาสมัครและประชาชนเพื่อให้ผู้ที่อยู่ใกล้เหตุการณ์ที่สุดสามารถช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในภาวะคุกคามชีวิตให้รอดพ้นภาวะวิกฤตได้ ก่อนที่หน่วยกู้ชีพจะเดินทางไปถึงและดูแลรักษาต่อ

การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในภาวะคุกคามชีวิตนั้น หากมีความล่าช้าหรือให้การดูแลรักษา ที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการโดยไม่สมควร ในทางตรงกันข้าม หากผู้ช่วยเหลือที่อยู่ใกล้เคียง สามารถตรวจพบภาวะฉุกเฉินที่คุกคามต่อชีวิตได้รวดเร็ว และสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมตามระดับความสามารถ และมีวิธีการช่วยเหลือที่ต่อเนื่องไปจนกระทั่งผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยนั้นมีโอกาสรอดชีวิตและลดความพิการได้สูง

ศ.นพ.สันต์ กล่าวว่า คู่มือ “การกู้ชีพองค์รวมสำหรับอาสาสมัครและประชาชนทั่วไป” เป็นชุดความรู้และปฏิบัติการให้ความรู้และความสามารถตรวจพบ การวิเคราะห์ และการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างชัดเจน ด้วยเพียง 5 ขั้นตอน มีวิธีปฏิบัติที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายเพื่อช่วยชีวิต และมีรูปภาพประกอบที่เข้าใจได้ง่าย

“จากการอบรมครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากอาสาสมัครและประชาชนว่า มีความสามารถและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นว่า สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง และควรจัดให้มีการอบรมในลักษณะนี้เพื่อขยายผลไปสู่อาสาสมัครและประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้นจะเป็นการเชื่อมต่อให้ลูกโซ่ของกระบวนการช่วยชีวิตเชื่อมต่อกัน ในทางตรงกันข้ามเมื่อตรวจไม่พบภาวะฉุกเฉินคุกคามต่อชีวิตก็สามารถให้การช่วยเหลือตามแนวทาง “การปฐมพยาบาล” ได้ตามปกติ” ศ.นพ.สันต์ กล่าว

ด้าน นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การอบรมและจัดทำคู่มือดังกล่าวขึ้นมา ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ มีเป้าหมายที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในภาวะคุกคามชีวิตเป็นหลัก โดยปกติแล้วคนธรรมดาไม่สามารถแยกแยะได้ว่าผู้ป่วยแบบใดที่อยู่ในภาวะคุกคามต่อชีวิต หากอาสาสมัครหรือประชาชนสามารถปฏิบัติได้ตาม5ขั้นตอนตามคู่มือได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดอัตราพิการลงได้เป็นอันมาก และเป็นการช่วยต่อเติมส่วนที่ขาดในระบบการกู้ชีพฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“คู่มือกู้ชีพองค์รวมนี้ถือเป็นคู่มือเล่มแรกของไทยที่มีการจัดวิธีการช่วยเหลือตั้งแต่ การตรวจหา การพิจารณา การปฏิบัติ และการส่งต่อ เป็นการดึงเอาศักยภาพของอาสาสมัครและประชาชนเข้ามาเสริมต่อในระบบการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยในภาวะคุกคามชีวิต ได้ทันการณ์และมีประสิทธิภาพ แต่เดิมมา เรามีวิธีปฐมพยาบาลซึ่งไม่ได้ช่วยให้ผู้ช่วยเหลือแยกแยะภาวะคุกคามชีวิตออกมาช่วยก่อนอาจทำให้ผู้ช่วยเหลือช่วยในส่วนที่ไม่วิกฤตก่อนและละเลยส่วนที่วิกฤต อัยจะทำให้การช่วยนั้นเสียเปล่าและโอกาสรอดของผู้เจ็บป่วยลดหรือหายไปได้ แนวคิดในการให้อาสาสมัคร “ตรวจหา” ภาวะคุกคามต่อชีวิตนี้ไม่ปรากฏในคู่มือปฐมพยาบาลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ

นพ.สมชาย กล่าวว่า สำหรับการอบรมในครั้งนี้ เป็นการจัดแนวทางปฏิบัติให้อาสาสมัครสามารถ “ตรวจหา”ภาวะคุกคามชีวิตได้ด้วยการตรวจแบบง่ายๆ ใช้เวลาที่สั้นมาก และสามารถแก้ไขภาวะวิกฤตของผู้ป่วยที่จัดลำดับให้ง่ายเพียง 5 ขั้นตอน จะทำอาสาสมัครมีความมั่นใจ และมีความรู้ความสามารถที่ติดตัวไปนาน

อย่างไรก็ตาม คู่มือกู้ชีพองค์รวมในเบื้องต้นจะแจกให้กับอาสาสมัครและประชาชนที่เข้าฝึกอบรมเพียงจำนวน 1,000 เล่ม และจะมีการเปิดอบรมให้กับภาคประชาชนต่อไป สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด “คู่มือกู้ชีพองค์รวมสำหรับอาสาสมัครและประชาชนทั่วไป” สามารถใช้ดูและพกพาในโทรศัพท์มือถือและแทบเล็ต ได้ที่เพจของสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือ download ได้ที่นี่