ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ชนบทอาวุโส สนับสนุนจ่ายชดเชยตาม ม.41 ให้ชาวบ้านที่ทำหมันถาวรแล้วกลับตั้งครรภ์ ระบุ วงเงิน 1 แสนบาทต่อรายสมเหตุสมผล ช่วยให้เด็กที่เกิดมาเติบโตเป็นทรัพยากรที่ดีของชาติได้

นพ.ธีรศักดิ์ คทวณิช ประธานอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 จ.ลำพูน อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวในหัวข้อ “การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 กรณีการเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์ภายหลังการคุมกำเนิด” ซึ่งอยู่ภายใต้งาน Policy Dialogue คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ & คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2561 ตอนหนึ่งว่า ในฐานะที่อยู่กับพื้นที่ชนบทมาตลอดชีวิตจนอายุกว่า 70 ปี และยังตรวจคนไข้ชนบทอยู่ จึงสามารถพูดแทนชาวชนบทได้

ทั้งนี้ ข้อมูล จ.ลำพูน มีผู้คุมกำเนิดแล้วเกิดการตั้งครรภ์น้อย คือมีเพียง 17 ราย แบ่งเป็นทำหมันแล้วตั้งครรภ์ 14 ราย และฉีดยาคุมแล้วตั้งครรภ์ 3 ราย โดยที่ผ่านมา จ.ลำพูน ดำเนินงานตามกรอบของมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 อย่างถูกต้องตามระเบียบแบบแผนทุกประการ ฉะนั้นในจำนวน 17 รายนี้ จึงมีเพียง 2 รายเท่านั้น ที่ไม่ได้รับเงินชดเชย และที่ผ่านมาตนเองและคณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ที่ยื่นเรื่องขอเงินช่วยเหลือทุกราย เพื่อดูสภาพความเป็นอยู่และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

นพ.ธีรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยว่าหากเป็นกรณีการคุมกำเนิดเป็นชั่วคราวหรือกึ่งถาวรแล้วเกิดการตั้งครรภ์ ไม่ควรจ่ายชดเชยตามมาตรา 41 แต่ไม่เห็นด้วยกับการไม่จ่ายชดเชยให้กับผู้ที่ทำหมันถาวรแล้วตั้งครรภ์ เพราะจากการที่คลุกคลีกับชาวบ้านมาตลอดชีวิตพบว่าคนไข้ที่ตัดสินใจทำหมันเนื่องจากคิดว่ามีบุตรเพียงพอแล้ว ฉะนั้นการที่จู่ๆ ไปทำหมันแล้วเกิดการตั้งครรภ์จึงไม่ใช่ความผิดของคนไข้ แต่นับเป็นความเสียหายของคนไข้ โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการมีบุตร

“ชาวบ้านเป็นเกษตรกร เป็นผู้รับจ้าง เขามีรายได้น้อย เขาเลี้ยงลูกมา 3-4 คนแล้ว เขาเลี้ยงไม่ไหวแล้ว แต่จู่ๆ มีคนที่ 5ถามว่าจะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยง ดังนั้นถามว่าถ้าเราไม่ชดเชยเขาบ้าง เขาก็ยิ่งเดือดร้อนกันไปใหญ่ และคงไม่มีวิธีการใดที่จะไปห้ามหรือหยุดการมีเพศสัมพันธ์ของเขา และเขาก็ได้มาทำหมันแล้ว”นพ.ธีรศักดิ์ กล่าว

นพ.ธีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เห็นด้วยว่าควรจะจ่ายชดเชยไม่เกิน 1 แสนบาท รวมเศรษฐานะแล้ว ส่วนตัวขอสนับสนุนมาตรการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะเงิน 1 แสนบาท อย่างน้อยๆ ก็พอที่จะช่วยเหลือเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศนี้ต่อไปได้ ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นเรื่องของมนุษยธรรม

อนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จ่ายชดเชยตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้กับประชาชนที่ตั้งครรภ์ภายหลังทำหมันแล้ว แต่ยังมีความเห็นของแพทย์แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่สมควรจ่ายเงินชดเชย เนื่องจากกรณีนี้เป็นเหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ ไม่ใช่ความผิดพลาดจากการให้บริการ ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าสมควรที่จะต้องจ่ายชดเชยต่อไป เนื่องจากเจตนารมณ์ของมาตรา 44 คือการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ไม่ใช่การพิสูจน์ถูกผิดของผู้ให้บริการ ที่ประชุมจึงได้ร่วมกันหารือเพื่อหาข้อสรุปในแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมเสนอบอร์ด สปสช.ตั้ง คกก.ร่วมหาข้อยุติ จ่ายเงิน ม.41 กรณีทำหมันแล้วท้อง

ข้อมูลวิชาการชี้ทั่วโลกพบปัญหา ‘หมันหลุด’ คุมกำเนิดทุกวิธียังมีโอกาสตั้งครรภ์