ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เตรียมผลักดันหลักสูตร “ลูกเสือกู้ชีพ”เสริมทักษะเยาวชน สร้างพลังจิตอาสา หลังพบปัญหาคนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังสูงขึ้นทุกปี

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 ที่โรงแรมเอเชีย สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาหลักสูตรลูกเสือกู้ชีพ โดยมี สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี สำนักอุทยานการเรียนรู้ สำนักนายกรัฐมนตรี มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และสำนักการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เข้าร่วมแลกเปลี่ยน

นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ของสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มีวัตถุประสงค์ที่อยากจะให้เด็กและผู้ใหญ่สามารถดูแลตนเองให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้ และหากมีอาการเจ็บป่วยสามารถควบคุมโรคไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่รุนแรงมากขึ้นได้ หรือหากพบเหตุการณ์มีผู้ป่วยฉุกเฉิน ก็จะสามารถแยกแยะอาการ และสามารถเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือได้ทัน

ในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับภาคีต่างฯ จัดกิจกรรมค่ายฝึกทักษะ ค่ายรู้รอดปลอดภัย ให้เด็กนักเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมมาหลายครั้ง ในการฝึกประกอบด้วย การสร้างเสริมความปลอดภัยตั้งแต่การดูแลตนเอง การประเมินความเสี่ยงก่อนเกิดเหตุต่างๆ การฝึกทักษะกู้ชีพ รวมทั้งการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ต่างๆที่รวมถึงภัยพิบัติ ผลการดำเนินงานสรุปได้ว่า เด็กนักเรียนระดับวัยต่างๆ รวมถึงผู้ปกครองให้ความสนใจ และมองเห็นว่า ควรมีการขยายผลดำเนินการ ส่วนการพัฒนามาเป็นหลักสูตรลูกเสือกู้ชีพนั้น ทางสมาคมฯมองเห็นว่า เรื่องนี้น่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหางานของลูกเสือเป็นอย่างมาก

ดังนั้น หากผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถพัฒนาให้เป็นหลักสูตร ลูกเสือกู้ชีพขึ้นมา และทางกระทรวงศึกษาธิการร่วมเห็นชอบ ก็จะทำให้เป็นอีกส่วนหนึ่งในการพัฒนาเด็กไทยในอนาคตให้มีสุขภาพดีแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยฉุกเฉินจากสาเหตุที่ป้องกันได้ด้วยการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตลอดจนการฝึกให้เด็กมีจิตสาธารณะและทักษะที่เหมาะสมในการช่วยเหลือผู้อื่นได้ต่อไป

สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยในลำดับต้นๆ เกือบทุกปี คือ โรคมะเร็ง อุบัติเหตุและการเป็นพิษ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า 68% ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก เกิดจากโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง10ประการ คือ กรรมพันธุ์ เพศ อายุ ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิต และไขมันในเส้นเลือด ซึ่งโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่ป้องกันได้ ด้วยการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลัง ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในระดับปกติ ลดปัจจัยเสี่ยงไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่ใช้ยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย

ดร.วรัท พฤกษากุลนันท์ ผู้อำนวยการสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน กล่าวว่า การฝึกทักษะกู้ชีพให้กับเด็กที่ทางสมาคมฯทำในขณะนี้เป็นเรื่องที่ดี น่าสนับสนุน เพราะปัจจุบันโรคภัยเกิดแบบปัจจุบันทันด่วน หากเด็กและเยาวชนที่มีทักษะกู้ชีพจะช่วยเหลือตนเอง เพื่อน ครอบครัว และสังคมได้ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า หากเป็นหลักสูตรลูกเสือกู้ชีพลูกเสือหรือกิจกรรมส่งเสริมผู้เรียนนั้น จะสามารถผลักดันเข้าสู่กระบวนการได้ง่ายกว่าที่ให้เป็นหลักสูตรในการศึกษา เพราะในหลักสูตรของลูกเสือจะมีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่วนหลักสูตรทางด้านการศึกษานั้นเป็นเรื่องของภาพรวมที่มีหลักสูตรแกนหลักอยู่แล้ว

นายอำนาจ สายฉลาด นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจะมีหลักสูตรลูกเสือกู้ชีพได้นั้น บุคคลที่จะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น ครูหรือลูกเสือ จะต้องมีทักษะการกู้ชีพที่ถูกต้องและชัดเจน จำเป็นต้องได้รับการฝึกทักษะจากบุคลากรทางด้านการแพทย์เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งเด็กที่เข้าร่วมได้รับการอบรมจากทางโครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยมีภาคีต่างๆมาร่วมมือกัน เป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องตามหลักสากล ขณะเดียวกันการสร้างแรงจูงใจให้กับลูกเสือหรือผู้ที่มาฝึกทักษะการกู้ชีพ ด้วยการให้สัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกได้ว่าบุคคลนี้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว จะยิ่งส่งผลให้เด็กๆเกิดความภาคภูมิใจ ส่วนการดำเนินงาต่อไป อาจจะต้องมีการทำโครงการนำร่องหลักสูตรลูกเสือกู้ชีพใน 4 ภูมิภาค เพื่อที่จะเป็นแนวทางการขยายผลไปสู่โรงเรียนต่างๆ และพัฒนาหลักสูตรในอนาคต