ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สจล.ร่วมกับ ม.รามคำแหง เปิดตัวแอปเพื่อรถฉุกเฉิน รายงานสภาพพื้นผิวถนน หลุมบ่อ ถนนพัง ชุดใหม่ของประเทศ พร้อม “iAmbulance” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน หวังต่อยอดสู่ “สมาร์ทซิตี้” ลดความสูญเสีย ลดระยะเวลาในการขนย้ายผู้ป่วย และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของรถฉุกเฉินให้มากยิ่งขึ้น

ค่าเฉลี่ยวินาทีชีวิตของผู้ประสบเหตุฉุกเฉินโดยทั่วไปจะต้องอยู่ที่ 8 นาที แต่สำหรับประเทศไทยแล้วค่าเฉลี่ย อยู่ที่ 14 นาที และมีเพียง 19 จังหวัดเท่านั้น ที่สามารถให้บริการขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านเกณฑ์ภายใน 8 นาที!!

จากงานวิจัยพบว่า ทุกๆ นาทีที่ล่าช้า จะทำให้อัตราการสูญเสียร่างกายจนถึงชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้นกว่า ร้อยละ 7-10 ซึ่งปัญหาในประเทศไทยที่ทำให้รถพยาบาลฉุกเฉินไม่สามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุได้เนื่องจากสภาพการจราจรที่ติดขัด หรือแม้กระทั่งผู้ขับขี่รถยนต์ยังขาดจิตสำนึกที่หลบหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉิน

นั่นจึงเป็นที่มาที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) คิดค้นนวัตกรรมรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ “บิ๊กเดต้า” ชุดใหม่ของประเทศรายงานหลุมบ่อ ถนนพัง พร้อม “iAmbulance” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน หวังต่อยอดสู่ “สมาร์ทซิตี้” ลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกาย ทรัพย์สิน ชีวิตของประชาชน และนักปฏิบัติงานทางการแพทย์

ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา

ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา ทีมพัฒนาร่วม iAmbulance และนวัตกรรมระบบไฟจราจรอัจฉริยะ สำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล.ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้พัฒนาระบบจัดการไฟจราจรอัจฉริยะ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด และอุบัติเหตุจากการที่รถพยาบาล ฉุกเฉินต้องวิ่งฝ่าไฟแดง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และชีวิต ทั้งของผู้ป่วย และนักปฏิบัติการณ์ทางการแพทย์

การใช้งานแอปพลิเคชันบนรถพยาบาลฉุกเฉิน

ปัจจุบัน ระบบปฏิบัติงานที่พร้อมใช้งานสูงสุด ได้แก่ iAmbulance แอปพลิเคชันแจ้งเตือนตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน ทำงานด้วยระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS : Global Positioning System) โดยทำการเทียบตำแหน่งระหว่างรถพยาบาลฉุกเฉินกับรถยนต์คันอื่นๆ ส่งข้อมูลขึ้นสู่ระบบคลาวด์ ซึ่งจะทำการประเมินผลว่า รถฉุกเฉินอยู่ตรงไหน และวัดหาปริมาณรถใกล้เคียง แล้วส่งสัญญาณภาพ หรือสัญญาเสียง พร้อมทั้งสามารถส่งคำร้องขอทางให้หลบซ้ายหรือขวา ไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ขับขี่ รายอื่นบนท้องถนน ในเส้นทางที่รถพยาบาลคันดังกล่าวจะต้องเคลื่อนที่ผ่าน

โดยแอปพลิเคชันดังกล่าว จะถูกติดตั้งเข้ากับรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ควบคุมรถสามารถใช้สื่อสารกับผู้ใช้รถใช้ถนนได้โดยตรง และเพื่อเป็นตัวสัญญาณระบุ ตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยประชาชนทั่วไปเอง ก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันติดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของตนได้ เพื่อใช้แจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินได้ ผ่านฟังก์ชัน SOS และเพื่อใช้รับสัญญาณจากรถพยาบาลฉุกเฉินที่จะต้องขับผ่านเส้นทางที่ตนเองอยู่ได้อีกด้วย

“ค่าเฉลี่ยวินาทีชีวิตของผู้ประสบเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องได้รับการขนย้ายจากจุดเกิดเหตุ ไปยังสถานพยาบาลอยู่ที่ 8 นาที แต่ปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยเวลาการให้บริการดังกล่าวของประเทศไทยอยู่ที่ 14 นาที จากข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติพบว่า มีเพียง 19 จังหวัดทั่วประเทศ หรือเพียงร้อยละ 24.68 เท่านั้น ที่ให้บริการขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านเกณฑ์ภายใน 8 นาที ซึ่งงานวิจัยพบว่า ทุกๆ นาทีที่ล่าช้า จะทำให้อัตราการสูญเสียร่างกายจนถึงชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้นกว่า ร้อยละ 7 - 10”

นอกจากนี้นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถเชื่อมโยงกับ “ระบบการจัดการสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติที่แยกไฟแดง” ที่จะสามารถเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรได้ เมื่อมีรถพยาบาลฉุกเฉินที่ขนย้ายผู้ป่วยภาวะเร่งด่วนเคลื่อนที่ เข้าใกล้เสาไฟจราจร ผ่านระบบคลาวด์ และอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) และ “ระบบการจัดการสัญญาณไฟจราจรแบบ กึ่งอัตโนมัติ” ซึ่งจะติดตั้งอยู่ที่ป้อมตำรวจบริเวณแยก เพื่อใช้ส่งสัญญาณแจ้งเตือนแก่ ตำรวจในบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟแก่ รถพยาบาลฉุกเฉิน แก้ไขความล่าช้า ลดปัญหาสภาพการจราจร ที่สัญญาณไฟจราจรไม่เอื้ออำนวยต่อเส้นทางการเดินรถ

โมเดลจำลองระบบไฟจราจรอัจฉริยะ

ดร.วิบูลย์ กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยมีแผนต่อยอดนวัตกรรมเพื่อทำโครงการนำร่องการใช้งานระบบไฟจราจรอัจฉริยะในกรุงเทพมหานคร โดยจะเริ่มต้นนำร่องทำในพื้นที่เขตลาดกระบัง เพื่อเชื่อมโยงสนามบินสุวรรณภูมิ และโรงพยาบาลในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลสิรินธร และมีแผนดำเนินการที่จะขยายพื้นที่ให้บริการไฟจราจรอัจฉริยะไปยังพื้นที่อื่นๆ ในลำดับต่อไป เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการขนย้ายผู้ป่วย และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของรถฉุกเฉินให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอันดับ 1 ของโลก มีจำนวนแยกไฟจราจรมากกว่า 456 แยก ดังนั้นระบบไฟจราจรอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นมาจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการแก้ไข ปัญหาจราจรที่คับคั่งต่อไปได้

ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม

ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม หัวหน้าทีมวิจัยระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้พัฒนาออกแบบ ระบบรายงานพื้นผิวถนนอัจฉริยะ ผ่านแอปพลิเคชัน “Road Surface” โดยเก็บข้อมูลการสั่นสะเทือน ตำแหน่งของหลุมบ่อของถนน ผ่านแอคเซเลอโรมิเตอร์ (Accelerometer) หรือเซนเซอร์ตรวจจับการสั่นไหวในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และรวบรวมผลความถี่การเกิดข้อมูลดังกล่าว เพื่อประมวลผลแจ้งกลับไปยังแอปพ ลิเคชัน เพื่อใช้เตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้า เกี่ยวกับตำแหน่งพื้นผิวถนนที่ มีปัญหาแบบเรียลไทม์ ซึ่งอาจเกิดจากทัศนวิสัยที่บดบังพื้นผิวจราจร น้ำท่วมขังบนถนน ตลอดจนใช้ประกอบการวางแผนการเดินทาง

ซึ่งการแสดงผลแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ หลุมบ่อระดับเบา (สีเขียว) หลุมบ่อระดับปานกลาง (สีส้ม) หลุมบ่อระดับร้ายแรง (สีแดง) โดยแทนระดับการสั่นไหวด้วยข้อมูลตัวเลข เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจได้ ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องคำนึงอันตราย และแรงกระแทกบนท้องถนน อาทิ สภาพถนนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการ หลุมบ่อ และทางหลังเต่า เป็นต้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดผลกระทบแก่ผู้ป่วยที่ อยู่ในระหว่างการขนย้ายแล้ว ในอนาคตยังสามารถต่อยอดข้อมูลดังกล่าวเป็น “Big Data” ในการวางแผนการบำรุงรักษาถนนของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการใช้ชีวิตของผู้คนที่สัญจรบนท้องถนน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อีกด้วย ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวสรุป

“ทีมวิจัยได้ดำเนินการเตรียมระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชันดังกล่าว ให้มีความพร้อมสำหรับเปิดให้หน่วยงานรัฐใช้งานข้อมูลเรื่องหลุม บ่อ เพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมพื้นผิวถนน โดยแอปพลิเคชัน Road Surface สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้แล้วผ่าน Google Play โดยในอนาคต เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น จะทำให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อความแม่นยำของข้อมูลสูงสุด ทางทีมวิจัยจำเป็นต้องอาศัยความ ร่วมมือของทั้ง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการช่วยกันเก็บข้อมูลสภาพพื้น ผิวถนนระหว่างการขับขี่ เพื่อต่อยอดสู่การนำไปใช้งานด้านต่างๆ ในอนาคต” ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว

แอปพลิเคชันเชื่อมโยงไฟจราจรอัจฉริยะ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง