ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงศึกษาธิการ ขานรับนโยบายต่อต้านโรคไม่ติดต่อ NCDs จ่อรับภูมิรู้จาก สธ. ปรับแปลงเป็นกิจกรรม-หลักสูตร เพื่อให้ผู้บริหาร บุคลากร ครู นักเรียน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่สุขอนามัยที่ดี

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2561 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมสุขภาพต้านโรคไม่ติดต่อ “NCD Forum 2018” ภายใต้กรอบคิด (ธีม) “Together, Let’s beat NCDs: ประชารัฐร่วมใจ ลดภัยNCDs” ขึ้น ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 ราย

นายโอฬาร เก่งรักษ์สัตว์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ภาคการศึกษานับเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนป้องกันโรค NCDs โดยภารกิจของ ศธ.ที่ได้ดำเนินการในเรื่องของ NCDs ในปัจจุบันนั้น มักอยู่ในรูปแบบของการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการรับองค์ความรู้จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาแปลงให้เป็นกิจกรรม

นายโอฬาร กล่าวว่า ศธ.มองว่าผู้ที่มีความเสี่ยงของ NCDs มักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ดังนั้นวิธีที่จะแก้ปัญหาให้ได้ผลส่วนหนึ่งคือการออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดย ศธ.จะให้ความสำคัญกับการให้องค์ความรู้แก่ผู้บริหาร ครูอาจารย์ รวมถึงนักเรียนนักศึกษา เน้นย้ำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านการออกแบบหลักสูตร

ตัวอย่างหนึ่ง คือวิชาลูกเสือ ซึ่ง ศธ.ได้จัดทำหลักสูตร “ลูกเสือทักษะชีวิต” ที่เน้นถึงสุขภาพอนามัยในชีวิตประจำวัน ว่าอะไรคือสิ่งที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงของ NCDs เช่น การรับประทานของหวาน โดยหลักสูตรนี้ก็จะสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงโทษทัณฑ์ของขนมหรือของหวานที่สามารถพบเจอและรับประทานในชีวิตประจำวัน

“ในส่วนของปัญหายาเสพติด นอกจากจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของ NCDs แล้ว ยังเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมอื่นๆ ด้วย ศธ.จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อจูงใจให้สถาบันการศึกษาต่อต้านยาเสพติด ภายใต้ชื่อโครงการ “สถานศึกษาสีขาว” โดยเริ่มต้นจากห้องเรียนสีขาว คือสร้างภูมิรู้ด้านการบริโภคให้นักเรียนมีสุขภาพอนามัยที่ดี ปลอดจากโรค และมีภูมิรู้ที่จะปลอดสารเสพติดจากในห้องเรียน จากนั้นก็ขยายผลจากห้องเรียนต่างๆ ไปทั่วทั้งโรงเรียน” นายโอฬาร กล่าว

นายโอฬาร ย้ำว่า ศธ.เป็นฟันเฟืองตัวหนึ่ง ดังนั้นการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทาง ศธ.จะนำภูมิรู้จาก สธ.มาปรับเปลี่ยนเป็นกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้บุคลากร ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู มีภูมิรู้ในเรื่อง NCDs แต่ต้องยอมรับว่า ศธ.มีภูมิรู้ไม่เท่ากับ สธ. ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับ สธ.เพื่อสร้างกิจกรรมสนับสนุนให้ครูและนักเรียนมีสุขอนามัยที่ดี

“ศธ.เป็นฟันเฟืองที่จะช่วยสนับสนุนไม่ให้ NCDs แพร่กระจาย ซึ่งการยับยั้งคือการสร้างความรู้ให้นักเรียนนักศึกษา ต้องสร้างวินัยให้เกิดขึ้น ถ้าเขามีวินัยในการเรียนรู้และปฏิบัติ เขาก็จะไม่เข้ามาสัมผัสหรือเข้ามาสู่ต้นเหตุของความเสี่ยงของ NCDs” นายโอฬาร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง