ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ เปิดเวทีขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ที่ มจร.ขอนแก่น สุดคึกคัก ทุกหน่วยงานขานรับการขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์สู่รูปธรรม ประสานพลัง “๑ วัด ๑ โรงพยาบาล/รพ.สต.” และ “พลังบวร บ้าน วัด โรงเรียน” นำสถาบันสงฆ์กลับมาเป็นเสาหลักของสังคมไทย ตั้งเป้าในปีนี้พื้นที่อีสานก่อนขยายสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ หน่วยงานภาคีขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส ร่วมกันจัดเวที “เปิดตัวการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่พื้นที่” ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตขอนแก่น

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์เป็นอย่างมาก โดยเร่งรัดการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐” ซึ่งเป็นกรอบและแนวทางสร้างสุขภาวะให้กับพระสงฆ์ทั่วประเทศกว่า ๓ แสนรูปในทุกด้าน เพื่อฟื้นคืนบทบาทสถาบันทางศาสนาให้เป็นเสาหลักในการดูแลสุขภาพสงฆ์ด้วยกันเอง ประชาชน ชุมชน และสังคมไทย

ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ ให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นแกนประสานนำนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์สู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยให้นำ ๒ โครงการสำคัญ ได้แก่ “๑ วัด ๑ โรงพยาบาล/รพ.สต.” ซึ่งเป็นการจับคู่การดูแลสุขภาพพระสงฆ์กับสถานบริการสุขภาพ อย่างน้อยโรงพยาบาล/รพ.สต. ละหนึ่งวัด ที่กระทรวงสาธารณสุขเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันวิสาขบูชาที่ผ่านมา และ “โครงการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมพลัง บวร (บ้าน วัด โรงเรียน)” ที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับนโยบายของรัฐบาล โดยกำหนดให้วัด/ศาสนสถาน บ้าน (ชุมชน) และโรงเรียน พลังประชารัฐ เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานจากการมีส่วนร่วม ความเสียสละของคนในชุมชน และการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “วันนี้ผมได้มอบให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เร่งนำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับแรกไปขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมความสำเร็จ โดยมุ่งขยายสู่ทั่วประเทศ เริ่มจากเป้าหมายการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงห์แห่งชาติสู่พื้นที่ในระยะสั้น ๒ เดือนนี้ คือ ภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๑ เราจะมีวัดต้นแบบ ๑ วัด ๑ รพ./รพ.สต. ที่ดำเนินการให้ได้ผลรูปธรรม ๒๐ วัดโดยเริ่มจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ก่อน จากนั้นเป้าหมายระยะสั้น ๕ เดือน คือถึงธันวาคม ๒๕๖๑ จะเริ่มขยายไปในภาคอื่นๆ โดยจะเพิ่มวัดต้นแบบ ๑ วัด ๑ รพ./รพ.สต. ให้ได้อย่างน้อย ๕๐ วัด และปี ๒๕๖๒ ตั้งเป้าหมายขยายผลให้ได้วัดต้นแบบทั่วประเทศไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ วัด ซึ่งต้องอาศัยความเมตตาของคณะสงฆ์ในการมอบหมายงานผ่านกลไกปกครองสงฆ์ทุกระดับด้วย”

พระพรหมวชิรญาณ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) ประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์ ของคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระสงฆ์แห่งชาติ กล่าวว่า มหาเถรสมาคมได้รับทราบและสนับสนุนการดำเนินงานของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติที่ประกาศใช้ไปเมื่อ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ ผ่านคณะกรรมการฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์ โดยการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์นั้นจะยึดหลัก “ธรรมนำโลก” เพื่อมุ่งสู่ ๓ เป้าหมายสำคัญคือ ๑.พระสงฆ์ต้องดูแลสุขภาพกันเองได้ ๒.ชุมชนและสังคมร่วมกันดูแลสุขภาพพระสงฆ์ และ ๓. พระสงฆ์มีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนได้เช่นที่เคยเป็นมา

พร้อมกันนี้ พระพรหมวชิรญาณ ได้กล่าวสัมโมทนียกถา ขอบคุณรัฐบาล และ พล.อ.ฉัตรชัย ในนามคณะสงฆ์ ที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องนี้รวมถึงทุกภาคส่วน ซึ่งเสียสละแรงกายแรงใจทำงานเพื่อสุขภาวะที่ดีแก่คณะสงฆ์

“การถวายการพยาบาลเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บแก่พระภิกษุสงฆ์ เท่ากับการได้อุปัฏฐาก บำรุงพระพุทธองค์นั่นเอง”

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการฝ่ายฆราวาส ของคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ กล่าวว่า นับว่าธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสอดคล้องอย่างยิ่งกับนโยบายของรัฐบาลซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งพระพุทธศาสนา นับเป็นส่วนหนึ่งการปฏิรูปสังคมและยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี อีกทั้งยังเป็นแนวทางและมาตรการที่มุ่งส่งเสริมดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือและการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งคณะสงฆ์และฆราวาส ขณะนี้ทุกภาคส่วนตื่นตัวมากที่จะขับเคลื่อนธรรมนูญฯ เกิดผลในทางปฏิบัติ แต่สิ่งสำคัญคือการดำเนินงานตามโดยใช้การบูรณาการของหลายฝ่าย ซึ่งเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ที่มีพระพรหมวชิรญาน เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ประธานฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เป็นประธาน ได้มีมติให้ทำแผนปฏิบัติการและแนวทางขับเคลื่อนในประเด็นหลัก ได้แก่ การจัดการระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์ การจัดให้มีพระคิลานุปัฎฐากประจำวัด การดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพ การถวายความรู้พระสงฆ์และการสื่อสารสาธารณะ และการขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์ในระดับพื้นที่

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ เกิดขึ้นจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “พระสงฆ์กับสุขภาวะ” เมื่อปี ๒๕๕๕ และขับเคลื่อนจนเกิดผลสำเร็จเป็นธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สช. เป็นหน่วยงานกลางประสานการทำงาน โดยนำเอาโครงการ ๑ วัด ๑ โรงพยาบาล/ ๑ รพ.สต. และโครงการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมโดยพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) บูรณาการเข้ากับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ โดยใช้พื้นที่เป้าหมายการจับคู่ ๑ วัด ๑ โรงพยาบาล/ ๑ รพ.สต. เป็นพื้นที่ร่วม ดำเนินกิจกรรม ๕ ประการสำคัญ ได้แก่ ๑.การจัดทำระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์และวัด ๒.การอบรมพระคิลานุปัฏฐากประจำวัด ๓.วัดส่งเสริมสุขภาพ ๔.การถวายชุดความรู้แก่พระสงฆ์และเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป ๕.การสนับสนุนบทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาชุมชนคุณธรรมโดยพลังบวร สำหรับ สช. จะหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานสู่พื้นที่ผ่านกลไกที่มีอยู่อันได้แก่ ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดทุกพื้นที่ และคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) จำนวน ๑๓ เขตทั่วประเทศ รวมถึงคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอด้วย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานพยาบาลสังกัด สธ. และ รพ.สต. ที่มีกว่า ๑ หมื่นแห่ง พร้อมแล้วสำหรับโครงการ “๑ วัด ๑ โรงพยาบาล/รพ.สต.” ที่จะหนุนเสริมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี โดยบุคลากรด้านสุขภาพจะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและดูแลวัดที่จับคู่ในพื้นที่ ให้พระสงฆ์มีสุขภาพดี ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ถวายความรู้การฉันภัตตาหาร การออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับพระ การจัดชุดความรู้แสดงธรรมเทศนาแนะนำชาวบ้าน การดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมในวัด การรณรงค์ลดการถวายอาหารหวาน มัน เค็ม การพัฒนาบริการผู้ป่วยนอก (OPD) ในโรงพยาบาลให้แก่พระสงฆ์ และการพัฒนาวัดส่งเสริมสุขภาพสู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple) รวมถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพพระ การดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมภายในวัด และสนับสนุนการอบรมพระคิลานุปัฏฐากด้วย

นางสาวฐิติมา สุภภัค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมชุมชนคุณธรรม กรมการศาสนา กล่าวว่า โครงการ “การขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมโดยพลัง บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) สู่สังคมคุณธรรมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จะช่วยสนับสนุนบทบาทพระสงฆ์ในการพัฒนาชุมชน ผ่านศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ศอพ.) ช่วยให้วัดกลับมาเป็นเสาหลักของสังคม สร้าง “ชุมชนคุณธรรม” และมีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์สู่การปฏิบัติในพื้นที่เป้าหมายเชื่อมโยงร่วมกับโครงการ ๑ วัด ๑ โรงพยาบาล/รพ.สต.

นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ที่เข้าร่วมเวทีเปิดตัวครั้งนี้ ยังได้เติมเต็มข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า สุขภาวะของพระสงฆ์ถือว่ามีความสำคัญต่อสถาบันพระพุทธศาสนา พศ. จึงมีนโยบายดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และหลังจากที่ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ ประกาศใช้แล้ว ขณะนี้ ๓ หน่วยงานหลัก ได้แก่ พศ., สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมการปกครอง ได้เร่งดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูล จัดทำบัตรประจำตัวพระสงฆ์ และทะเบียนวัดทั่วประเทศร่วมกัน เชื่อว่าจะช่วยให้พระสงฆ์ทุกรูปจะเข้าถึงสิทธิและบริการทางสุขภาพ ได้รับการดูแลยามอาพาธ และมีการส่งเสริมสุขภาพอย่างทั่วถึง

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า พระสงฆ์เป็นประชาชนคนไทยที่มีสิทธิตามที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่ออาพาธก็สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพฯ ได้เหมือนประชาชนทั่วไป แต่ปัญหาคือเมื่อพระสงฆ์ออกบวชนานๆ ไม่ได้ไปทำบัตรประชาชน หรือบัตรหมดอายุและไม่ได้ต่ออายุ ใบสุทธิที่ใช้รับรองสถานภาพพระสงฆ์ก็ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ดังนั้น การทำบัตรประจำตัวพระในลักษณะเดียวกับบัตรประชาชนจะช่วยให้พระสงฆ์เข้าถึงสิทธิการรักษา ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูต่างๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงสิทธิการย้ายโรงพยาบาลได้ปีละ ๔ ครั้ง กรณีมีการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ รวมทั้งเดินธุดงค์ไปตามจังหวัดต่างๆ เป็นเวลานานด้วย

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. พร้อมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยปัจจุบันได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬากรณราชวิทยาลัย (มจร.) เคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ในระดับพื้นที่แล้ว ๒๐ จังหวัด นอกจากนั้นได้ร่วมกับ พศ., มจร. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน จับคู่พัฒนาสภาพแวดล้อมของวัดตามแนวทาง ๕ ส ภายใต้โครงการ วัด ประชา รัฐสร้างสุข ซึ่งมีวัดเข้าร่วมแล้วกว่า ๒,๙๐๐ วัด ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมการสื่อสารเพื่อให้ความรู้พระสงฆ์ในการดูแลสุขภาพตนเอง และให้ญาติโยมที่มาถวายอาหารพระมีความรู้เรื่องอาหารพระสงฆ์ โดยหลังจากเวทีคิกออฟในครั้งนี้ จะสนับสนุนการกระจายชุดความรู้ให้กับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศต่อไป