คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบ ร่าง ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ.๒๕๖๑–๒๕๗๐ มุ่งเน้นบริการแบบปฐมภูมิที่เข้มแข็งให้เข้าถึงประชาชนทุกตรอกซอกซอย หลังพบโรคคนเมืองพุ่งพรวด ทั้งโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน ซึมเศร้า และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม ด้าน กขป. เขต ๑๓ (กทม.) นำร่องนโยบายหมอครอบครัวและเชื่อมสถานพยาบาลทุกระดับ ผนึกทุกเครือข่ายหวังเป็นที่พึ่งชุมชนทั้ง ๕๐ เขต
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ได้มีมติเห็นชอบ “ร่างยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๗๐” ที่มุ่งเน้นบริการสุขภาพแบบปฐมภูมิที่ทำงานโดยหลักเวชศาสตร์ครอบครัว ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และครอบคลุมทุกกลุ่มคนอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากพบว่าแนวโน้มประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในปี ๒๕๕๙ มีอัตราส่วนผู้คนที่อาศัยในเขตเมืองถึงร้อยละ ๔๘.๔ ของประชากรทั้งประเทศ
ซึ่งสภาพสังคมเมืองที่แออัด มีค่าใช้จ่ายสูง วิถีชีวิตที่ต้องแข่งขันกับเวลา เผชิญกับมลภาวะทุกวัน บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย ส่งผลอัตราป่วยของคนเมืองด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีมากขึ้น เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ยังมีปัญหาสืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม เช่น ยาเสพติด ความรุนแรงทางสังคม และความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เช่น แรงงานย้ายถิ่นจากชนบท แรงงานต่างด้าวในชุมชนเมืองทั่วประเทศด้วย
“ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๗๐ จะเป็นแผนแม่บทที่บูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการอยู่แล้ว ให้มาร่วมกันขับเคลื่อนโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อรับมือสถานการณ์โรคคนเมือง เน้นการสร้างนำซ่อม มีวิสัยทัศน์ เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในเขตเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์นี้จะเสริมหนุนกับการทำงานของร่างพระราชบัญญัติการแพทย์ปฐมภูมิและบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่เป็นการทำงานร่วมกันของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สปสช. และ สสส. ด้วย”
ร่างยุทธศาสตร์ฯ นี้จัดทำขึ้นตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ เรื่อง “ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” โดยคณะกรรมการระดับชาติจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มุ่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่หมายถึง เขตเทศบาลที่มีประชากรตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ คนขึ้นไปและพื้นที่มีลักษณะความเป็นเมือง มีประชากรอยู่กันหนาแน่น ประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่
๑.พัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นการให้บริการแบบเวชศาสตร์ครอบครัว ๒.พัฒนากำลังคนสุขภาพเขตเมือง มีการทำงานเป็นทีมและบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ๓.การจัดการด้านการเงินการคลัง ๔.การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ ๕.การวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนระบบบริการเขตเมืองที่มีคุณภาพ และ ๖.การอภิบาลระบบบริการแบบมีส่วนร่วม
พล.อ.ฉัตรชัย ได้ยกตัวอย่างการดำเนินงานของ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ ๑๓ กรุงเทพมหานคร ที่ได้รายงานผลการดำเนินงานในที่ประชุมครั้งนี้ด้วยว่า เป็นตัวอย่างของการทำงานที่มุ่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เป็นรูปธรรม โดย กขป. เขตพื้นที่ ๑๓ ได้กำหนดเป้าหมายพัฒนาระบบเครือข่ายการให้บริการในพื้นที่ โดยให้ “ศูนย์บริการสาธารณสุข” ทำหน้าที่เป็นหน่วยจัดการระดับพื้นที่หรือ Area Manager ทำหน้าที่เชื่อมโยง ส่งต่อ และติดตาม บนความร่วมมือของหน่วยบริการสุขภาพอื่นๆ เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิต มีทีมหมอครอบครัว การส่งเสริมสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งยกระดับการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมทุกคน ดูแลส่งต่อผู้ป่วยให้ต่อเนื่องตั้งแต่ระดับปฐมภูมิจนถึงระดับตติยภูมิ เชื่อมโยงจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน ให้ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตนเองที่บ้านได้จนมีสุขภาพดี
ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินงานในพื้นที่ทดลองแล้ว ๔ เขต ได้แก่ เขตลาดพร้าว เขตดอนเมือง เขตจอมทอง และเขตบางกอกน้อย และจะสรุปบทเรียนก่อนขยายให้ครอบคลุมทั้ง ๕๐ เขต พร้อมร่วมกับหน่วยร่วมบริการอื่นๆ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม สถานบริการสร้างเสริมสุขภาพ ร้านยาคุณภาพ คลินิกกายภาพบำบัด ซึ่งมีข้อมูลว่าปัจจุบัน กทม. มีโรงพยาบาลทั้งหมด ๑๔๒ แห่ง ระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิโดยศูนย์บริการสาธารณสุขและสาขา ๑๒๘ แห่ง คลินิกเอกชนกว่า ๔,๔๐๐ แห่ง ร้านขายยา ๕,๐๐๐ แห่ง และมีอาสาสมัครสาธารณสุขกว่า ๑๐,๐๐๐ คนกระจายอยู่ทั้ง ๕๐ เขต
หลังจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้เห็นชอบยุทธศาสตร์ฯแล้ว ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาตินำข้อเสนอแนะของกรรมการฯ ไปปรับปรุงในรายละเอียด และมอบหมายกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองระดับชาติให้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ที่ระบุแนวทางการขับเคลื่อนและผู้รับผิดชอบ การติดตามผลแต่ละยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน พร้อมทั้งแจ้งยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๗๐ ให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องรับทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
- 216 views