ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาพันธ์เครือข่าย NCDs ประเทศไทย ตื่นตัวหาแนวร่วมแก้ไขปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ จับมือพรรคการเมือง ขับเคลื่อนนโยบายลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรค NCDs

เนื่องด้วยสถานการณ์การเสียชีวิตในประเทศไทย ปี 2560 พบว่ากว่า 75% หรือประมาณ 320,000 คนต่อปี เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (หรือ Non-Communicable Diseases - NCDs) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มโรค 4 กลุ่มสำคัญ คือ 1. โรคหัวใจและหลอดเลือด เสียชีวิตถึง 48% 2. โรคมะเร็ง เสียชีวิตถึง 21% 3. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เสียชีวิต 12% และ 4. โรคเบาหวาน เสียชีวิต 3%

ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ยังระบุว่าสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก เกิดจากโรค NCDs ด้วยเช่นกัน ด้วยสถิติสูงถึง 70% ของประชากรทั่วโลก หรือกว่า 40 ล้านคนทั่วโลก

ซึ่งเกิดจากปัจจัยด้านพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษในชีวิตประจำวัน 4 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ 1. การสูบบุหรี่ ซึ่งรวมถึงการสูดดมเขม่าควัน เช่น PM 2.5 ด้วย 2. การบริโภคแอลกอฮอล์ 3. การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และ 4. การบริโภคอาหารที่หวาน มัน เค็ม เกิน แต่ขาดผักผลไม้ นำไปสู่การเกิดภาวะอ้วน และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

สมาพันธ์เครือข่าย NCDs ประเทศไทย นำโดย ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานสมาพันธ์เครือข่าย NCDs ประเทศไทย และ รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่าย NCDs ประเทศไทย รวมถึงองค์กรหน่วยงานต่างๆ ในเครือข่ายสมาพันธ์กว่า 30 แห่ง ได้ร่วมนำเสนอนโยบายจำเป็นต่อพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลเพื่อนำไปพิจารณาขับเคลื่อนสำหรับการป้องกันและควบคุมกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยได้นำเสนอมาตรการที่จำเป็น 6 ประการ ประกอบด้วย

1.เพิ่มการเข้าถึงขนส่งมวลชนสาธารณะที่ปลอดภัยและประหยัด เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายผ่านการเดน และสามารถลดมลภาวะจากการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยขอเสนอให้ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน รถโดยสารสาธารณะเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และปรับเปลี่ยนรถประจำทางเป็นการใช้ไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงภายใน 5 ปี เป็นต้น

2.เพื่อส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสุขภาพในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีนโยบายด้านการเสริมสุขภาพ อาทิ การออกกฎหมาย การใช้มาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี และการปรับเปลี่ยนในองค์กร เพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาวะสร้างรายได้ และเกิดนโยบายทางสังคม เช่น การใช้กลไกในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อส่งเสริมสินค้าเป็นเป็นมิตรต่อสุขภาพ

3.สวัสดิการ การดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์และเด็กแรกเกิดจนถึงเตรียมอนุบาล เนื่องจากสุขภาพและพัฒนาการของทารกเริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดา เนื่องด้วยสุขภาพของแม่และน้ำหนักตัวทารกตั้งแต่ในครรภ์จนถึงคลอดส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กในอนาคต ซึ่งมีโอกาสในการเกิดโรค NCDs ได้ในอนาคต

4.นโยบายที่สนับสนุนให้คนไทยสูงวัยอย่างมีคุณภาพ เนื่องด้วยประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ จึงเสนอให้ภาครัฐมีนโยบายประกาศที่ชัดเจนให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีภาระและหน้าที่ในการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคให้กับกลุ่มปกติ และกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรค ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเวลาทำงาน หรือสร้างแรงจูงใจให้มีการปฏิบัติ โดยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น

5.ขยายโซนสุขภาพ (Heathy Zone) ให้ครอบคลุมทุกชุมชน โดยมีการออกประกาศให้สถานที่นั้นๆ ให้เป็นโซนสุขภาพเพื่อดำเนินกิจกรรมสุขภาพได้ อาทิ สวนสาธารณะ โรงพยาบาล โรงเรียน วัด ชมรม หรือสถานที่เพื่อกิจกรรมทางกาย และมีบริการส่งเสริมให้มีการออกกำลังกาย

6.การเข้าถึงบริการฉุกเฉินมาตรฐานด้วยระบบสายด่วนฉุกเฉิน นำเสนอให้พัฒนาสายด่วนฉุกเฉินแห่งชาติ ให้เป็นวาระสำคัญอย่างเป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เป็น one-stop service และเชื่อมโยงกับระบบบริการฉุกเฉินของสถานพยาบาลทั้งของภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกมิติของการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อลดการเสียชีวิตหรือพิการของผู้ป่วย

โดยการเสวนา “นโยบายด้านสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดี จากมุมมองพรรคการเมือง” ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการตื่นตัวในการจัดการโรค NCDs ผ่านมุมมองของพรรคการเมือง ซึ่งหากได้เป็นพรรครัฐบาลจัดตั้งจะเป็นการนำพาให้นโยบายเกิดขึ้นจริง ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากทุกพรรคการเมืองที่ร่วมเสวนา อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา เป็นต้น โดยตัวแทนจากแต่ละพรรคต่างเห็นตรงกันว่านโยบายทางด้านสุขภาพเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องผลักดัน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของชาวไทย

เริ่มด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคมองปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้ทรัพยากรแก้ไขปัญหาจำนวนมาก ไม่เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกกระทรวง ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมผ่านนโยบายต่างๆ เช่น ให้สิทธิ์ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ปรับการบริหารระบบฉุกเฉิน สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ด้าน นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคมีเป้าหมายให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องวางแผนรองรับไว้ล่วงหน้า ดังนั้นการให้บริการด้านสุขภาพต้องครอบคลุมและทั่วถึงภายใต้หลักประกันสุขภาพ และต้องเฝ้าระวังและติดตามการเกิดโรคและเพิ่มงบประมาณตามความสำคัญ

ในขณะที่ ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคมีนโยบายขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขในเชิงรุก เพื่อที่จะสร้างเสริมสุขภาพในเชิงป้องกันโรค ด้วย ‘นโยบาย 2 สร้าง 2 สนับสนุน’ ก็คือสร้างชุมชนออกกำลังกายทั่วประเทศ และสร้างคลินิกสุขภาพใน 4 มุมเมืองด้วยกัน ส่วนอีก 2 สนับสนุนคือ สนับสนุนให้ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี ปีละ 1 ครั้ง และสนับสนุนทำงานอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อให้ความรู้ในเชิงป้องกันมากที่สุด

และในด้านของพลโท อนุมนตรี วัฒนศิริ ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า พรรคเน้นการขับเคลื่อนด้านสุขภาพที่ครอบคลุมทั่วประเทศที่ต้องดึงทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน อย่างมาตรการลดมลพิษที่ประชาชนจะต้องลดการใช้น้ำมันจากฟอสซิล ในขณะเดียวกัน ภาครัฐเองก็ต้องส่งเสริมในด้านขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานสมาพันธ์เครือข่าย NCDs ประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า “ในฐานะสมาพันธ์เครือข่าย NCDs ประเทศไทย ต้องการสานต่อเจตนารมณ์พันธกิจของสมาพันธ์ฯ เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทุกวันนี้โรค NCDs มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 37 คนต่อชั่วโมง หรือปีละประมาณ 320,000 ราย ซึ่งมากกว่าการสาเหตุการตายอื่นๆ รวมกันถึง 3 เท่า ทำให้ประเทศต้องแบกรับต้นทุนการรักษา กว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี (ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ) จึงต้องการสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชนได้ตระหนักถึงโรคภัย รู้จักป้องกัน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วยตนเอง โดยลดความเสี่ยงของการเกิดโรค อาทิ อาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เป็นต้น โดยโรคนี้ส่วนมากเป็นกลุ่มวัยทำงาน จึงส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ”