เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขเรียกร้องการปฏิรูปฯที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์ฉบับ 3 เนื่องในวันข้าราชการพลเรือนไทย เสนอ 5 แนวทางแก้ปัญหากำลังคนสุขภาพ สธ. เช่น ห้ามยุบเลิกบรรจุข้าราชการสายงานสนับสนุนและสายงานรองทุกสายงาน ไม่นำตำแหน่งว่างของ จพ.เภสัช, จพ.สธ., นวก.สธ.ไปปรับบรรจุในตำแหน่งเภสัชกรหรือสายงานอื่นๆ อีกต่อไป พร้อมคืนตำแหน่งว่างที่เคยนำไปปรับไปให้สายงานอื่นๆ ปีละหลายร้อยตำแหน่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาให้สายงานเดิม
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปฯที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เนื่องในวันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นวันข้าราชการพลเรือนไทย เสนอ 5 แนวทางการแก้ปัญหากำลังคนสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีความเป็นธรรม สร้างแรงจูงใจในการทำงานของบุคลากรทุกวิชาชีพทุกสายงานในกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้
1.กรณีการเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ และความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการตำแหน่งว่าง ควรมีมาตรการ
1.1 ห้ามมีการยุบเลิกการบรรจุข้าราชการของสายงานสนับสนุนและสายงานรองทุกสายงาน และพิจารณาจัดสรรตำแหน่งว่างที่เหลืออีก 10,830 ตำแหน่ง มาใช้ในการบรรจุ ปรับตำแหน่ง แต่ละสายงาน แต่ละวิชาชีพในสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข อย่างเป็นธรรม
1.2 ห้ามมิให้กระทรวงสาธารณสุขนำตำแหน่งว่างของเจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข นำไปปรับตำแหน่งในตำแหน่งเภสัชกร หรือสายงานอื่นๆอีกต่อไป เว้นแต่นำมาบรรจุ ปรับตำแหน่งในสายงานตนเองเท่านั้น
1.3 ควรมีการคืนตำแหน่งว่าง ที่เคยนำไปปรับไปให้สายงานอื่นๆ ปีละหลายร้อยตำแหน่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาให้สายงานเดิม เพื่อนำมาใช้ในกรณี
-การบรรจุผู้ที่รอบรรจุมานานนับสิบปีในแต่ละสายงาน
-การเรียกบรรจุผู้ที่สอบขึ้นบัญชี (ว.80)สำนักปลัดกระทรวง อีกสามร้อยกว่าตำแหน่งในทุกเขต ก่อนจะหมดบัญชีในเดือนกันยายน 2562 รวมถึงเรียกบรรจุผู้ที่สอบขึ้นบัญชี (ว.80) ในกรมกองต่างๆด้วย
-การปรับตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ ว.16 ชายแดนใต้ ควรดำเนินการตามหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่องทุกปี ควรดำเนินการปรับตำแหน่งให้ได้ ปีละ 2 ครั้ง (ตามมติคณะทำงาน ว.16)โดยในปี 2562 ยังไม่มีความคืบหน้าในการปรับตำแหน่งแม้สักครั้งเดีย
1.4 ห้ามมีการเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ
ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการบรรจุข้าราชการทุกวิชาชีพทุกสายงานอย่างเป็นธรรมทุกๆปี ในกลุ่มที่เป็นลูกจ้าง พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะคนที่ทำงานมานานเกิน 5-10 ปี และจัดสรรบุคลากรให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานในส่วนภูมิภาค (รพ.สต. รพศ. รพท. รพช. สสอ.และ สสจ) ให้มีอัตรากำลังครบถ้วนตามโครงสร้างใหม่ (อย่าเลือกปฏิบัติบรรจุแค่บางสายงาน ซึ่งไม่ได้มีปัญหาความขาดแคลนแต่มีปัญหาการกระจายตัว กระจุกในตัวเมือง และไหลออกไปเอกชนต่างหาก)
2.ประเด็นปัญหาความเป็นธรรมในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทน
2.1 กรณีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืน ห้ามมิให้หน่วยงานมีการเรียกคืนเงินเดือนเกินสิทธิ์ในระยะเวลาจำกัด และให้กระทรวงสาธารณสุขควร
ชี้แจงมาตรการที่ได้หารือกับกระทรวงการคลังกรณีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืนให้ชัดเจนว่าผลออกมาเป็นอย่างไร พร้อมทั้งสั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามมาตรการดังดังกล่าว และดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรที่ต้องคืนเงิน ที่มาจากการทำงานไม่รอบคอบของผู้เกี่ยวข้องด้วย
2.2 กรณีการเรียกคืนเงินค่าตอบแทน ห้ามมิให้มีการเรียกคืนค่าตอบแทนฉบับ 11 หากมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ กรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจ แล้วตีความการจ่ายค่าตอบแทนไม่เป็นคุณ ทั้งนี้ให้กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงระเบียบหลักเกณฑ์ของค่าตอบแทนให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าใจ และตีความระเบียบให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการจ่ายค่าตอบแทนฉบับดังกล่าวด้วย
2.3 กรณีจ้างลูกจ้างในอัตราต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน (เฉลี่ย 4,500-6,000 บาท) ห้ามมิให้หน่วยงานในหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับจ้างลูกจ้างในอัตราต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน ซึ่งถือว่าส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกจ้างในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าขั้นต่ำของกฎหมายแรงงาน และควรมีการดูแลสิทธิ สวัสดิการ ลูกจ้าง พนักงานกระทรวงพนักงานราชการด้วย
3.กรณีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่10 ชายแดนใต้ ให้รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกค่าตอบแทน ฉบับ10 ชายแดนใต้ทันที เนื่องจากมีความซ้ำซ้อน ไม่เป็นธรรม ใช้งบประมาณเงินบำรุงที่ทุกวิชาชีพช่วยกันทำงาน แต่เบิกจ่ายได้แค่ 4 วิชาชีพ แล้วนำมาเพิ่มในเงินเสี่ยงภัยหรือค่าตอบแทนสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ(สปพ)ให้ไม่น้อยกว่าข้าราชการอื่นแทน(3,500-5,000 บาท) รวมทั้งควรปรับปรุงระเบียบเพิ่มในค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ให้ครอบคลุมในกลุ่มลูกจ้างประเภทต่างๆ ด้วย(1,000-2,000 บาท) จะเหมาะสมกว่า
4.กรณีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 และ 12 ให้กระทรวงสาธารณสุขยกร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 11 และ 12 ขึ้นมาใหม่ ให้ชัดเจน เป็นธรรม อธิบายได้ ไม่ต้องตีความมาก ไม่เหลื่อมล้ำสูงมากอย่างในปัจจุบัน เพราะบางสายงาน ได้ 0 บาทในขณะที่บางวิชาชีพ ได้ค่าตอบแทนสูงถึง 60,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้หลักเกณฑ์ใหม่ทียกร่าง ควรพิจารณาให้ครอบคลุมทุกสายงาน(รวม back office) ทุกวิชาชีพ (รวมเวชสถิติ และโสตทัศนศึกษา : เวชสาธิต) ทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข (รวม สสอ. สสจ.)
นอกจากนี้หากยกเลิกค่าตอบแทนฉบับ 10 และยกร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่11และ 12 ขึ้นมาใหม่แล้ว ควรหันมาปรับเพิ่มค่าตอบแทนในส่วนค่าเวร ค่าหัตถการ ค่า พตส.ต่างๆ ให้ครอบคลุมเหมาะสมแทน เพราะเป็นค่าตอบแทนจากภาระงานจริงๆ ซึ่งอธิบายได้ง่ายกว่า ค่าตอบแทนฉบับ 10-11-12
5.กรณีความเหลื่อมล้ำเงินเดือนและอายุราชการ ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีการพิจารณาเยียวยากรณีความเหลื่อมล้ำเงินเดือนและอายุราชการ ของทุกกลุ่มที่ถูกลดเงินเดือน หรืออายุราชการหายให้รอบด้าน และดำเนินการเยียวยาให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2562 และถึงแม้การเรียกร้องของทุกชมรมองค์กรต่างๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารกระทรวงหลายครั้ง แต่ก็เป็นบทบาทของงานบุคลากร งานอัตรากำลัง กองกฎหมาย และกองนโยบายและแผน ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ควรจะมีความพร้อมในการนำทุกข้อเสนอ ทุกข้อร้องเรียนในหลายปีที่ผ่านมาให้ผู้บริหารทุกท่านทราบเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป เพื่อเป็นการดูแลบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ เพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจในการทำงานและดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ทั้งนี้การลดความเหลื่อมล้ำ มิได้หมายถึงการเรียกร้องให้ทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ให้ได้รับสิทธิ์ที่เท่ากัน แต่คือการให้สิทธิ์ในอัตราและสัดส่วนที่ลดหลั่นกันอย่างเหมาะสม อธิบายได้ จูงใจบุคลากรทุกคน
และเนื่องในวันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นวันข้าราชการพลเรือนไทย จึงอยากให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นข้าราชการ และอยากเป็นข้าราชการ ได้รับการบรรจุเป็นของขวัญ และทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ได้รับความเป็นธรรมตามที่เสนอ เพื่อส่งเสริมความรัก ความปรองดอง ร่วมกันทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกันต่อไป
ทั้งนี้ เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปฯที่เป็นธรรม ก่อตั้งขึ้นมาเนื่องจากต้องการดูแลพิทักษ์สิทธิ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ให้มีความเป็นธรรมต่อทุกวิชาชีพทุกสายงานในกระทรวงสาธารณสุข และเห็นพ้องต้องกันว่า ควรมีการลดความเหลื่อมล้ำ และลดชนชั้นภายในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และมีความคาดหวังให้ทุกข้อเสนอที่ทุกองค์กรเคยแยกกันยื่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะถูกนำมายื่นติดตาม ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาและแก้ไขปัยหาได้อย่างทันท่วงที โดยในปัจจุบัน เครือข่ายฯ ประกอบด้วย๒๒ องค์กร ดังนี้
1.สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย
2.ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย)
3.สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้
4.สหพันธ์แบคออฟฟิศกระทรวงสาธารณสุข
5.ชมรมว.16 ชายแดนใต้ตอบแทนคุณแผ่นดิน
6.ชมรมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ รพศ./รพท./รพช.
7.ชมรมทันตาภิบาล 77 จังหวัด
8.ชมรมลูกจ้างแพทย์แผนไทย(ประเทศไทย)
9.ชมรม ผอ.รพ.สต.ชำนาญงาน (แห่งประเทศไทย)
10.ชมรมแลป-รังสีสามัคคี เพื่อความเป็นธรรม
11.สหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (ภาคเหนือเขต 1)
12.ชมรมกายภาพบำบัดชุมชน
13.ชมรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แห่งประเทศไทย
14.ชมรมเจ้าพนักงานเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย
15.สมาคมเวชสถิติแห่งประเทศไทย
16.ชมรมนายช่างสาธารณสุข
17.ชมรมโสตทัศนศึกษาทางการแพทย์(เวชสาธิต)
18.เครือข่ายพยาบาลอนามัย
19.เครือข่ายสหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบต้องการบรรจุ
20.ชมรมพนักงานราชการ กระทรวงสาธารณสุข
21.ชมรมลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข
22.ชมรมสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ รพศ. รพท.
โดยเครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปฯที่เป็นธรรม ได้ระบุว่า สมาชิกของเครือข่ายฯ จากทุกองค์กร ถือว่าเป็นกลุ่ม “มดงานกระทรวงสาธารณสุข" ในการดำเนินการตามตัวชี้วัดและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขตลอดมา และเป็นฟันเฟืองในการให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่ว่า “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน”
แต่จากการที่กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรจากจาก 8 วิชาชีพ 20 กว่าสายงาน จึงพบว่ายังมีปัญหาในเรื่องการดูแลสิทธิ ขวัญกำลังใจ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทนต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพ และทุกสายงาน เช่น การเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ ความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการตำแหน่งว่าง และความเหลื่อมล้ำในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทน
ขอบคุณภาพจากเพจ เครือข่ายบุคลากร ก.สธ. เรียกร้องการปฏิรูปฯ ที่เป็นธรรม
- 407 views