สปสช.เปิดตัว “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” หน่วยบริการด้านยาในระบบบัตรทอง จัดประชุมผู้ประกอบการร้านยา (ข.ย.1) เข้าร่วมดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่ม ทั้งคัดกรองความเสี่ยงโรคเมตาบอลิก ให้ความรู้สุขภาพ เยี่ยมบ้านผู้ป่วยร่วมกับสหวิชาชีพ/หมอครอบครัว และดูแลใช้ยาอย่างเหมาะสม เชิญชวนร้านยาสนใจเข้าร่วมเพิ่มเติม พร้อมจัดประกวดโลโก้ร้านยาชุมชนอบอุ่น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สปสช.ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ประกอบการร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่สนใจและสมัครขึ้นทะเบียนร่วมเป็นหน่วยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าร่วมประมาณ 30 แห่ง
นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากผลสำรวจความพึงพอใจประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 พบว่าในจำนวนประชาชนที่ไม่ใช้สิทธิกว่าร้อยละ 51 มีสาเหตุจากรอรับบริการนาน สอดคล้องกับข้อมูลสำรวจปี 2560 ที่ระบุว่ามีประชาชนร้อยละ 17.6 ที่เจ็บป่วยในรอบ 1 เดือนและเลือกซื้อยากินเอง ทั้งยังพบปัญหายาเหลือใช้ในบ้านผู้ป่วย โดยรายงานปี 2555 พบผู้ป่วยครอบครองยาเกินจำเป็น มีมูลค่าความสูญเสียทางการคลังถึง 2,350 ล้านบาท ที่เกิดจากการกินยาไม่ครบ ปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสม เหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงบริการและการดูแลสุขภาพของประชาชน การพัฒนา “ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1)” เป็น “หน่วยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง) จึงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งได้มีการนำเสนอผ่านเวทีการรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ปี 2560 และถูกจัดเป็นอันดับที่ 3 ของข้อเสนอที่สำคัญและต้องดำเนินการ โดยคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขฯ ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะอนุกรรมการกำกับคุณภาพฯ ภายใต้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากบอร์ด สปสช.เห็นชอบกำหนดให้ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 และให้นำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ สปสช.เขต 13 กทม.จึงเร่งดำเนินการรับสมัครร้านขายยา (ข.ย.1) เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบบัตรทอง ภายใต้ชื่อ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ผ่านโปรแกรม https://bkk.nhso.go.th/BKKregister/ ของ สปสช.เขต 13 กทม. เฉพาะพื้นที่ดำเนินการคลินิกหมอครอบครัว 11 เขต ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางกอกน้อย เขตลาดพร้าว เขตดอนเมือง เขตคันนายาว เขตบางแค เขตบางคอแหลม เขตบางขุนเทียน เขตจตุจักร เขตดุสิต เขตสวนหลวง และ โอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่จะร่วมเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่นได้ นอกจากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. 2557 และประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง เกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ยังต้องเปิดบริการอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน มีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดบริการ และมีเภสัชกรผู้ให้บริการที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ เพื่อดำเนินกิจกรรมบริการสุขภาพ อาทิ คัดกรองความเสี่ยงในกลุ่มภาวะโรคเมตาบอลิก, ให้สุขศึกษา ความรู้ แนะนำด้านสุขภาพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล, ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอื่นในการบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน โดยทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยบริการประจำในพื้นที่ คลินิกหมอครอบครัว และดำเนินกิจกรรมอื่นที่ อปสข. กำหนด เช่น บริการคลินิกอดบุหรี่ บริการยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น
“ปัจจุบันร้านขายยา (ข.ย.1) ทั่วประเทศมีจำนวน 15,359 แห่ง และ กทม.จำนวน 4,895 แห่ง ที่ผ่านมามีร้านขายยาที่สนใจและสมัครร่วมเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่นแล้วประมาณ 30 แห่ง การประชุมชี้แจงที่ผ่านมาเป็นการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งได้เริ่มจัดบริการในวันที่ 1 เมษายน นี้ นับเป็นการยกระดับบริการร้านขายยาในประเทศ และหลังจากนี้ร้านขายยาใดที่สนใจสามารถสมัครเพิ่มเติมได้ เพื่อร่วมเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่น”
นพ.จเด็จ กล่าวว่า รูปแบบร้านยาชุมชนอบอุ่นนับเป็นช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพเบื้องต้นให้กับประชาชนในด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงติดตามผู้ป่วยที่บ้านที่มีปัญหาการใช้ยา เพราะจากปี 2547-2559 ที่ได้มีการทดลองนำร่องจัดบริการร้านยาคุณภาพ 300 แห่ง ด้วยความร่วมมือของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) สภาเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ที่ได้จัดบริการสุขภาพในร้านยา เช่น คัดกรองความเสี่ยงโรคเรื้อรัง ให้ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นต้น พบว่าร้านยาคุณภาพช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านยาที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าร้านยาชุมชนอบอุ่นจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพประชาชน รวมถึงช่วยสนับสนุนระบบสุขภาพของประเทศให้เข้มแข็งได้
ทั้งนี้ ในการประชาสัมพันธ์ร้านยาชุมชนอบอุ่นให้เป็นที่รู้จักทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการร้านยาและประชาชนทั่วไป และเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับร้านยาชุมชนอบอุ่น สปสช.เขต 13 กทม.ได้จัดกิจกรรม “โครงการประกวดโลโก้ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ขึ้น เปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมส่งประกวดผลงานออกแบบโลโก้ร้านยาชุมชนอบอุ่นระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 17 เมษายน 2561 และประกาศผลในวันที่ 23 เมษายน 2562 ผู้ที่ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลพร้อมใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ ผู้ที่สนใจดูรายละเอียดและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ https://www.nhso.go.th
- 676 views