ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พนักงาน ธ.ออมสินเกือบ 6 พันคนโล่งอก หลังบอร์ด สปสช.ลงมติรับโอนย้ายสิทธิรักษาพ่อแม่สู่ระบบบัตรทอง ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลังเดือดร้อนหนัก ค่าใช้จ่ายพยาบาลเกินเพดาน 6 หมื่นบาทต่อปีรับภาระไม่ไหว ถึงขั้นขอลาออกเพื่อใช้สิทธิบัตรทอง ที่ประชุมถกหนัก หวั่นขอย้ายเฉพาะกลุ่มเสี่ยงป่วยหนัก ค่ารักษาสูง เผยร้อยละ 37 หรือประมาณ 5,800 คนขอย้ายสิทธิ อีกร้อยละ 63 ใช้สิทธิคงเดิม ด้านผู้แทน ธ.ออมสิน แจงมีแค่ร้อยคนที่เบิกค่ารักษาพ่อแม่เต็มเพดาน แต่ขอย้ายเพราะมองเห็นภาระอนาคต ทั้งเป็นเพียงสิทธิพิเศษเสริมเท่านั้น ขอพ่อแม่พนักงานใช้สิทธิคนไทย

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้บิดามารดาของพนักงานธนาคารออมสินที่พนักงานแสดงเจตนาไม่รับสิทธิการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลสำหรับบิดามารดาจากธนาคาร เป็นบุคคลที่มีสิทธิรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 พร้อมมอบ สปสช.กำกับติดตามประเมินผลการเข้าใช้บริการ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ธนาคารออมสินเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้สิทธิประโยชน์การรักษารวมถึงบิดามารดา วงเงินไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี เกินจากสิทธิสวัสดิการมาตรฐานรัฐวิสาหกิจ ปี 2558 มีหนังสือสอบถาม สปสช.ขอให้พนักงานออมสินเลือกใช้สิทธิรักษาบิดามารดาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้หรือไม่ กรณีที่พนักงานไม่เลือกใช้สิทธิตามที่ธนาคารจัดให้ ต่อมา สปสช.ได้ทำหนังสือสอบถามไปกฤษฎีกาและได้ตอบกลับว่าสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าสิทธิในสภาพการจ้างที่กำหนด และพนักงานต้องแสดงความจำนง รวมถึงต้องให้ข้อมูลครบถ้วนกับพนักงานและทำประชาพิจารณ์

จากการทำประชาพิจารณ์พนักงานที่เข้าร่วม 15,877 คน ส่วนใหญ่ให้บิดามารดาคงใช้สิทธิเดิม 10,063 คน คิดเป็นร้อยละ 63 มี 5,814 คน คิดเป็นร้อยละ 37 ที่ขอเปลี่ยนสิทธิบัตรทอง จากการเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์การรักษาของธนาคารออมสินคล้ายกับสวัสดิการข้าราชการ แต่จำกัดไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี และเข้ารับบริการที่ใดก็ได้รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน และได้ยกร่างระเบียบใหม่เพื่อรองรับพนักงานที่ขอเปลี่ยนสิทธิการรักษาบิดามารดาแล้ว

ทั้งนี้ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้แสดงความเห็นต่อภาระค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้น เพราะเป็นกลุ่มเจ็บป่วยมีค่าใช้จ่ายสูง และอนาคตอาจมีการขอย้ายสิทธิพ่อแม่ที่เจ็บป่วยมาเพิ่มเติม นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการ สปสช. กล่าวว่า เห็นใจพนักงานที่ขอใช้บัตรทอง มองว่าเป็นกลุ่มที่พ่อแม่เจ็บป่วยและต้องใช้เงินรักษามาก 60,000 บาทคงไม่พอ ขณะที่งบบัตรทองเฉลี่ยที่กว่า 3,000 บาทต่อคน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพออยู่แล้ว เท่ากับบัตรทองต้องแบกรับค่ารักษาคนกลุ่มนี้เพิ่มเติม สถานพยาบาลก็จะขาดทุนหนักขึ้น ดังนั้นหากจะย้ายพ่อแม่ของพนักงานออมสินมาก็ควรมาทั้งหมด ไม่ใช่มาเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเจ็บป่วยค่าใช้จ่ายสูง และกังวลว่า การอนุมัติให้กับธนาคารออมสิน รัฐวิสาหกิจอื่นก็จะตามมาด้วย ในที่สุดบัตรทองจะเป็นกองทุนที่มีแต่ผู้เจ็บป่วยค่าใช้จ่ายสูง ระบบคงเจ๊งแน่ บัตรทองจะไปไม่รอด อย่างไรก็ตามหาก สปสช.เปิดให้เลือกใช้สิทธิบัตรทองได้ พนักงานที่จะเข้าใหม่ต้องไม่มีสิทธิประโยชน์รักษาพ่อแม่

ขณะที่ บอร์ด สปสช.ผู้แทนสำนักงบประมาณ ระบุว่า อยากให้บอร์ด สปสช.มองระยะยาว วันนี้เราพูดแต่เฉพาะธนาคารออมสินเท่านั้น แต่ยังมีรัฐวิสาหกิจอีก 56 แห่ง และส่วนราชการอีกจำนวนมาก หากเห็นชอบเปิดให้เลือกย้ายสิทธิได้ หน่วยงานอื่นๆ ก็จะตามมา ดังนั้นเราต้องยึดหลักการว่าระบบสามารถรองรับได้แค่ไหน ไม่เพียงแค่พิจารณาเฉพาะกลุ่ม

ด้าน ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า พ่อแม่พนักงานออมสินคือคนไทย กรณีลูกไม่ได้เป็นพนักงานออมสินก็เป็นผู้มีสิทธิบัตรทองปกติ ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่ลูกเป็นพนักงานออมสิน เพราะนอกจากถูกจำกัดเพดานค่ารักษาแล้ว ยังใช้สิทธิบัตรทองไม่ได้ ตรงนี้จึงเป็นประเด็น และด้วยหลักคิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือสู่ความเป็นระบบเดียวสำหรับทุกคน วันนี้พนักงานออมสินยังมีความสุขกับสิทธิการรักษาพยาบาลที่ไม่จำกัดเพดานเช่นเดียวกับข้าราชการที่ในที่สุดประเทศจะไปไม่ไหว จึงมีคำถามสำคัญว่าทำไมออมสินไม่พาพนักงานทั้งหมดมาอยู่ในระบบบัตรทอง เพื่อร่วมทุกข์เฉลี่ยสุขกัน

“วันนี้เราอยากร่วมทุกข์กับท่านเพราะท่านพาพ่อแม่มาอยู่ในระบบด้วยความเดือดร้อน แต่ตัวเองก็ยังมีความสุขที่ยังอยู่ในระบบของท่าน ซึ่งไม่เป็นไรเพราะหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีหน้าที่ต้องดูแลทุกคนในชาติอยู่แล้ว แต่หวังว่าอนาคตทั้งหมดน่าที่จะได้รวมเป็นระบบเดียวกัน” ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขอสนับสนุนแต่ยังมีคำถามว่าทำไมพ่อแม่พนักงานออมสินไม่ย้ายมาทั้งหมด มาเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น เพราะสิทธิบัตรทองเป็นของคนไทยทุกคน

นางนุชจรินทร์ ศิริจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล ธนาคารออมสิน กล่าวว่า เป็นความเดือดร้อนของพนักงาน เพราะมีพ่อแม่เจ็บป่วยเรื้อรังและต้องรักษา มีค่าใช้จ่ายเกินเพดานสิทธิ 60,000 บาท ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่ได้โอนสิทธิพ่อแม่พนักงานทั้งหมด เพราะเป็นสัญญาสภาพการจ้าง การยกเลิกต้องทำประชามติและเสียงส่วนใหญ่ยังยืนยันใช้สิทธิรักษาของธนาคาร และในจำนวนพนักงาน 5,814 คนที่ขอย้ายสิทธินั้น มีแค่ 100 คนที่เบิกจ่ายเต็ม 60,000 บาท เพียงแต่คนกลุ่มนี้มองเห็นภาระค่ารักษาในอนาคต นอกจากนี้เมื่อดูสวัสดิการรักษาพ่อแม่ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจะเป็นแบ่ง 3 รูปแบบ คือ 1.ให้สิทธิเบิกไม่จำกัดเช่นเดียวกับข้าราชการ 2.ไม่ให้สิทธิ โดยพ่อแม่ใช้สิทธิบัตรทอง และ 3.ให้สิทธิแต่จำกัดเพดานจ่ายเหมือนออมสินซึ่งมีไม่มาก นอกจากนี้ธนาคารยังกำหนดเงื่อนไขว่า ในการเปิดให้พนักงานเลือกสิทธิรักษาให้พ่อแม่ จะปรับเปลี่ยนภายหลังไม่ได้ โดยการเลือกนี้จะอยู่ถึงอายุงานสิ้นสุดลง

“มีน้องคนหนึ่งปกติคุณพ่อสุขภาพแข็งแรง แต่พอไม่สบายไปตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งระยะที่ 4 ก่อนหน้านี้พ่อเคยได้รับสิทธิบัตรทอง แต่พอน้องเข้าออมสินได้เพียง 2 ปี ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบสิทธิ ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ มีวิธีเดียวคือต้องลาออกจากธนาคาร ตรงนี้น้องเขาเลือกไม่ได้เพราะระเบียบธนาคารมีมาก่อน และสิทธิบัตรทองเป็นสิทธิที่ดี เราขอให้พิจารณาให้พ่อแม่พนักงานใช้สิทธิคนไทยคนหนึ่ง วันนี้ในกลุ่มไลน์ 500 คน กำลังรอคำตอบอยู่”

ทั้งนี้หลังจากที่ประชุมได้ถกเถียงหารือ นพ.ปิยะสกล ได้สอบถามความเห็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า สิทธิบัตรทองเป็นสิทธิตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการพิจารณาต้องยึดหลักการตามมาตรา 5 ของกฎหมายเป็นหลัก ส่วนสิทธิการรักษาของออมสินถือเป็นสภาพการจ้างระหว่างพนักงานกับนายจ้าง และเป็นสิทธิเฉพาะพนักงานออมสินเท่านั้น จึงไม่เกี่ยวกับสิทธิตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.ปิยะสกล กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมส่วนใหญ่ต่างเห็นชอบ หากพนักงานลาออกมาก็ต้องใช้สิทธิบัตรทองเช่นกัน และระบบก็ดูแลธนาคารเพื่อการเกษตรและการเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่แล้ว หากเพิ่มผู้มีสิทธิอีก 5,814 คน เมื่อเปรียบกับ 48 ล้านคนในระบบ คงไม่กระทบเท่าไหร่ และหลักการคงปฏิเสธคนไทยด้วยกันไม่ได้ เพราะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพตามกฎหมาย แต่ต้องฝากออมสินด้วยว่า พนักงานที่เข้ามาใหม่จะมีการกำหนดสิทธิสวัสดิการนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง