ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : "คลัง" เผยมีผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ 1.3 ล้านราย จากยอดลงทะเบียนทั้งหมด 8.27 ล้านราย แต่สามารถชี้แจงข้อมูลใหม่เพื่อแก้ไขได้ที่ กรมการปกครอง-สรรพากร เพื่อขอ รบสิทธิ์เงินช่วยเหลือภายใน 15 ธ.ค.นี้  ขณะที่ "กรุงไทย"โอนเงินแล้ววานนี้ 3 แสนราย "ธ.ก.ส.-ออมสิน" พร้อมโอนวันนี้

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังทำการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่ วันที่ 15 ก.ค.-15 ส.ค.ที่ผานมา โดยมีธนาคารทั้ง 3 แห่ง ที่เป็นผู้รับลงทะเบียน ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย โดยพบว่า มีผู้มาลงทะเบียน 8.27 ล้านราย เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติถูกต้อง 6.98 ล้านราย ขณะที่เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องจำนวน 1.3 ล้านราย

ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้ธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่งดังกล่าว ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ไปก่อน เนื่องจากเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 ก.ย.และ 22 พ.ย.2559 ที่เห็นชอบในหลักการมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและนอกภาคเกษตรผู้มีรายได้น้อยวงเงิน 6.54 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน และอนุมัติอีก 1.27 หมื่นล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ออมสิน และกรุงไทย โอนเงินเข้าบัญชีแก่ผู้มีรายได้น้อยรายละ 3,000 บาท สำหรับ ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และรายละ 1,500 บาท สำหรับผู้ที่มีรายได้ ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยที่มีข้อมูลและคุณสมบัติครบถ้วน แยกตามธนาคารที่ลงทะเบียนไว้ ดังนี้ ธ.ก.ส.รวมผู้ลงทะเบียน 3.84 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท 2.15 ล้านราย มีรายได้เกินกว่า 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท 1.69  ล้านราย

ออมสิน มีผู้ลงทะเบียนรวม 2.16  ล้านราย แบ่งเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท 1.13 ล้านราย  มีรายได้มากกว่า 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท 1.03 ล้านราย

และกรุงไทย มีผู้ลงทะเบียนรวม 9.81 แสนราย แบ่งเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท 5.40 แสนราย มีรายได้เกินกว่า 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท  4.41 แสนราย

ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนแต่มีข้อมูลไม่ถูกต้องหรือขาดคุณสมบัติเกือบ 1.3 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกรที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์  หรือกรมประมง  5.9 แสนราย และผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกร แต่มีข้อมูลไม่ถูกต้อง หรือขาดคุณสมบัติ 7.01 แสนราย เบื้องต้นต้องนำหลักฐานไปยืนยันกับธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ลงทะเบียน

หากการตรวจสอบพบว่า เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ เช่น ชื่อ-สกุล ไม่ตรงกับฐานข้อมูลของกรมการปกครอง รายได้เกิน 1 แสนบาทต่อปี เป็นต้น  ผู้ที่ลงทะเบียน ต้องตรวจสอบข้อมูลกับกรมการปกครอง หรือกรมสรรพากรอีกครั้งหนึ่ง หากมีการแก้ไขข้อมูล ผู้ลงทะเบียนต้องนำหลักฐานไปแจ้งต่อธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้เพื่อการแก้ไขข้อมูลภายในวันที่  15 ธ.ค.นี้

ด้านนางสาวอาริศรา ธรมธัช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า วานนี้ (9 ธ.ค.) ธนาคารโอนเงินให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 300,000 ราย ผ่านบริการกรุงไทยพร้อมเพย์ จากผู้ลงทะเบียนผ่านธนาคารกว่า 1.03 ล้านราย และจะทยอยโอนเงินให้กับผู้ที่มีบัญชีธนาคา และบัตรอีมันนี่ ภายในวันนี้ (10 ธ.ค.) ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนแต่ยัง ไม่ได้เปิดบัญชี สามารถเปิดบัญชีกับธนาคารภายในวันที่ 27 ธ.ค.นี้ โดยไม่ต้องมีเงินฝาก และจะโอนเงินให้ภายในวันที่ 30 ธ.ค.นี้

ส่วนออมสิน และ ธ.ก.ส. พร้อมทยอยโอนเงินไปยังผู้ลงทะเบียนวันนี้ (10 ธ.ค.) แม้จะเป็นวันหยุด ส่วนผู้ที่ไม่มีบัญชี สามารถเปิดบัญชีกับสาขาของธนาคารที่ลงทะเบียนไว้ เพราะการโอนเงินมีกำหนดถึงวันที่ 30 ธ.ค. โดยล็อตแรกที่จะโอนของทั้ง 2 ธนาคารมี 1.1-1.3 ล้านราย เป็นของออมสิน 8 แสนราย ส่วน ธ.ก.ส.โอนได้วันละ 3-5 แสนราย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับระบบ เพราะ ธ.ก.ส. มีเงินที่ต้องโอนไปถึงเกษตรกรหลายส่วน ทั้งจ่ายเงินยุ้งฉางไร่ละ 1 พันบาท คาดในจำนวน 3.85 ล้านราย ส่วนที่มีบัญชีกับ ธ.ก.ส.โอนได้หมดภายใน 7 วัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 ธันวาคม 2559